"ตำรวจมาตอนจบ" คำคลาสสิคจากละครไทย สะท้อนอะไรเรา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

"ตำรวจมาตอนจบ" คำคลาสสิคจากละครไทย สะท้อนอะไรเรา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

"ตำรวจมาตอนจบ" คำคลาสสิคจากละครไทย สะท้อนอะไรเรา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสการเมืองร้อนฉ่ามากแม่ แห่แหนกันออกมาส่งเสียงกันถึงความไม่ปกติของประเทศ และสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นกระแสติดเทรนด์แซงหน้าละครแทบทุกเรื่องในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมไทย ลามไปจนถึงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่บังคับใช้กฎหมายแล้วก็ชวนวิงเวียน สงสัย ว่าเห้ยตาเถร ยายชี ทำไมหวยมันมาออกอย่างนี้ล่ะแม่!

แต่ว่าบาป เรื่องแบบนี้ในละครไทย เรากล่าวถึงกันมาช้านานแล้วค่ะเธอ

เทยเชื่อว่าหลายคนคงได้ยินเวลาที่เพื่อนๆ เราเม้าท์ละคร เล่าเรื่องย่ออะไรใดใดกัน แล้วเวลาเกิดเหตุการณ์ในตอนท้ายปุ๊บ ก็จะจบลงตรงที่ว่า "เสร็จแล้วตำรวจก็มาตอนจบ แล้วจับตัวคนร้ายไปแก" แน่นอนว่าพล็อตประมาณนี้มันดาษดื่น แต่ด้วยความดาษดื่นนี้ มันสะท้อนอะไรให้เราเห็นบ้าง และมันมีจุดเริ่มต้นมาจากอะไรกันนะ

 

  • ละครไทยหลังยุคสงครามเย็น

เอาอีกละ เทยต้องหมุนเวลากลับไปอีกแล้วค่ะแม่ แน่นอนว่าวงการสื่อละครบ้านเรา มันเพิ่งจะมาเป็นรูปเป็นร่าง มีสถานีโทรทัศน์เอาก็ในช่วงนั้นเช่นกัน ความเติบโตของความบันเทิงในบ้าน เริ่มต้นมาจากค่านิยมที่ส่งผ่านหน้าจอโทรทัศน์ สื่อที่กำกับดูแลโดยรัฐ ก็จะมีความคัดกรองละครที่จะออกฉายอยู่เช่นกันค่ะเธอ เพราะงั้นตัววรรณกรรม นวนิยาย ของบุคคลที่โด่งดังในยุคนั้น ก็จะถูกหยิบมาใช้มาฉายในช่วงนั้นเช่นกัน

เรื่องราวของนวนิยายในยุคนั้น ก็มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องดูแลทรัพย์ของตัวเอง ด้วยตัวของเธอเอง เช่น บ้านทรายทอง ที่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการปกป้องสมบัติอันเกิดจากพินัยกรรม และการเข้ามาตีสาแหรกของผู้ลากมากดีทั้งหลาย แต่กระนั้นความยุติธรรมของบ้านทรายทอง ก็ต้องเกิดจากนางเอกอย่างพจมาน เข้ามาหาทำ หาพูดจนกว่าจะได้ความยุติธรรมคืนมาล่ะเธอ

ซึ่งหากว่ากันตามจริงแล้ว การพิสูจน์พินัยกรรม จดหมาย การแบ่งสมบัติ กรรมสิทธิ์ของบ้าน เป็นหน้าที่ของทนายและตำรวจ พจมานอาจจะไม่ต้องเอาตัวเองเข้ามาสู้ ตราดตรำลำเค็ญในบ้านเลยแม่ แต่ก็นะคะ ในยุคที่ความมั่นคงของรัฐสำคัญกว่าบุคคล ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐก็จางๆไปก่อน ทุกคนดูแลตัวเอง เริ่มที่ตัวเองก่อนหนึ่ง

  • พระเอก และเส้นแบ่งของความดี ความชั่ว

พอก้าวเข้ามาอีกยุค วรรณกรรมและเส้นเรื่องที่ถูกเลือกใช้ มักจะผูกกับตัวเอกของเรื่องเป็นหลัก ตัวเอกผู้ซึ่งจักรวาลทั้งหลายทั้งปวงหมุนรอบเค้า ความถูกผิดขึ้นอยู่กับเค้า ใครดีใครไม่ดีขึ้นอยู่กับมุมมองของเค้า และหากเค้าจะสู้เพื่อความถูกต้อง เค้าเช่นกันค่ะ ที่จะเป็นฝ่ายลุยไปก่อน ออกหน้าไปก่อน ที่เหลือค่อยว่ากัน

จริงๆ พล็อตแนวๆ นี้ มักจะเกิดจากการใช้ตัวละครประเภท แมรี่ ชู หรือตัวละครที่เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนเขียน หรือขึ้นกับเรตติ้งคนดูเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจที่มาที่ไป และความยึดโยงของตัวละครกับสังคมรอบตัว ที่เห็นชัดสุดก็คงเป็น สวรรค์เบี่ยง กับ จำเลยรัก กับพระเอกที่ลุกขึ้นมาทำเพื่อความถูกต้องตามทัศนคติของตัวเขาเอง โดยไม่สนกฎเกณฑ์ของสังคม พี่สาวของเธอ ทำอะไรกับครอบครัวชั้นไว้บ้าง ชิ ชั้นจะต้องเอาเธอมากักขังจนกว่าเธอจะรักชั้นได้ นี่แหนะ 

 

แล้วตำรวจอยู่ตรงไหนของเส้นเรื่อง ก็คือกว่าพระเอกจะหาตัวคนร้ายที่แท้จริงได้ กว่าจะสะสางเรื่องราวอันดำมืด ผู้มีอิธิพล ตัวร้ายที่ครอบงำเรื่องทั้งหมด จนทำให้พระเอกต้องถูกยิงเข้าที่แขนซักหนึ่ง ตำรวจก็ถึงจะเริ่มแห่กันมาในตอนจบ แน่นอนว่าสิ่งที่พระเอกทำไปก่อนหน้านั้น ก็ให้ถือเป็นโมฆะ เพราะทำไปในนามแห่งความถูกต้อง ความดีอันล้นพ้น และทำไมถึงไม่แจ้งตำรวจให้เขาจัดการแต่แรก เอ๊า ก็ถ้าแจ้งแล้วให้ตำรวจลุยซะ ชั้นก็ไม่ใช่พระเอกน่ะสิ 

  • ตำรวจดี ตำรวจเลว และเส้นสายนักการเมืองกับยาเสพติด

พล็อตที่ดาษดื่นในช่วงต้นปี 2000 ซึ่งสะท้อนมาจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดอันเข้มข้นของรัฐบาลในสมัยนั้น นั่นทำให้การเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำรวจเริ่มหลากหลายมากขึ้น จะรอทำไมให้ตำรวจมาตอนจบ ก็เล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำรวจไปเลยแต่แรกสิ และเส้นเรื่องแบบนี้ ก็เพิ่มเติมความบู๊อร่อยเข้าไปด้วย ขายโปรดักชั่นอลังการงานสร้างไปได้อีกนะเธอ

เริ่มต้นด้วย อังกอร์ 2 ภาคต่อที่กระโดข้ามยุคคอมมิวนิสต์เขมรแดงมา แต่ก็ยังมีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับตำรวจอยู่เช่นเคย หยิบยืมว่าตำรวจในเมืองหลวงกับระบบที่ไม่สะอาด ต้องออกไปตามล่าหาความจริง หรือแม้แต่ซีรีส์ จิตสังหาร เดือนเดือด คมคน ที่ก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับวงการตำรวจ ที่พระเอกจะต้องเป็นตำรวจดีแสนดี ที่ทำหน้าที่อยู่ท่ามกลางระบบที่เลวร้าย เส้นสายที่โยงใยกับนักการเมือง และขบวนการยาเสพติด จนทำให้ตัวเอกเกือบจะเอาตัวไม่รอดในหลากหลายสถานการณ์

จึงเป็นช่วงที่ละครกำลังเอาตำรวจเข้าไปพ่วงกับศีลธรรมความดีที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ไม่ได้ยึดโยงกับระบบตรวจสอบใดใด แต่ความดีต้องหาทางเอาชนะความชั่วเอาเอง

  • ยุคสมัยใหม่ เมื่อระบบกลายเป็นช่องโหว่ 

เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิตัลเต็มตัว ละครและซีรีส์เริ่มมีการปรับตัวมากขึ้นหลังจากมีแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงกระแสคอนเทนต์ของโลกที่เริ่มเต็มไปด้วยสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม และขับเคลื่อนสังคม ทางฝั่งละครไทยก็ไม่น้อยหน้า ความตำรวจไทยก็มีความเกี่ยวพันกับเส้นเรื่องในลักษณะที่ลึกขึ้นกว่าเดิม

เริ่มจากเรื่อง ล่า ในเวอร์ชั่นรีเมค ที่แม้ตำรวจจะมาช้าอีกเช่นเคย แต่ก็มาช้าแบบตามได้ไล่ทันกับการฆาตกรรมปริศนา ก่อนจะโยงไปถึงการตัดสินในศาลที่ตั้งคำถามว่า มธุสร นั้น ทำผิดหรือถูก ที่ลุกขึ้นมาฆ่าคนเพื่อแก้แค้นเอง โดยไม่ผ่านกระบวนการของตำรวจ เสียงก็แตกออกเป็นสองฝ่ายว่าผิดหรือไม่ที่เป็นศาลเตี้ย แม้ว่าตำรวจจะทำงานอืดอาดจนเต่าไหว้อันนั้นก็ขอไม่พูด หรือแม้แต่เรื่อง เลือดข้นคนจาง ที่ตำรวจก็แสดงความสามารถในการสอบปากคำคดีได้ดีเยี่ยม แต่กว่าจะเจอฆาตกรตัวจริงว่าใครฆ่าประเสริฐ ก็จับแพะไปก่อนหนึ่ง

 

จึงนับว่ายุคนี้ เป็นยุคที่ตำรวจก็เริ่มไม่ได้มาตอนจบ แถมก็ยังตัดสินไม่ได้เต็มปากว่าดีหรือไม่ดี แต่ที่แน่ๆ ระบบข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น เป็นปัญหาให้เห็นแน่ๆในโลกของละคร

การเดินทางของตัวละครตำรวจในโลกของละครไทย เป็นภาพสะท้อนให้เห็นอะไรๆมาอย่างช้านานมากมากเลยค่ะคุณ และถ้าเราดูดีดีก็จะพบว่า ในโลกของละครนั้น ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากความเป็นจริงเลยนะคะ หรือว่าวงการตำรวจบ้านเรา ก็เป็นอีกสถาบันที่ต้องปฏิรูป เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกันน้า 

 

เพราะบางครั้ง ความยุติธรรมที่ล่าช้า มันก็คือความไม่ยุติธรรมในรูปแบบนึงอ่ะเนอะ

เหยี่ยวเทย รายงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook