พระราชินี กับ ไมเคิล เฟแกน อีกบทเรียนจาก The Crown Season 4 โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ยังคงเป็นซีรีส์เด่นประจำเดือนพฤศจิกายน The Crown Season 4 ละครจักรๆ วงศ์ๆ แบบเน้นเนื้อหาและคุณภาพระดับเพชรยอดมงกุฎของ Netflix ยังสร้างบทสนทนาต่อเนื่องในหมู่ผู้ชมทั้งในประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมชนชั้น รวมทั้งการถกเถียงว่า โชว์นี้ “ตกแต่ง” เรื่องจริงของราชวงศ์วินด์เซอร์และการเมืองอังกฤษให้หวือหวามากน้อยแค่ไหนในแต่ละตอน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตัวละครใหม่สองตัว คือ เจ้าหญิงไดอาน่า และนายกรัฐมนตรี มากาเรต แธทเชอร์
ด้วยรายละเอียดยิบย่อยที่เล่าได้หลายวันก็ไม่จบ วันนี้จึงขอยกเอพิโสดที่ 5 ที่มีชื่อว่า Fagan เพราะเป็นเอพิโสดที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ เล่าคร่าวๆ อย่างไม่สปอยล์ เอพิโสดนี้ว่าด้วยเหตุการณ์จริงในปี 1982 เมื่อนาย ไมเคิล เฟแกน ช่างทาสีตกอับจากชานเมืองลอนดอน แอบปีนกำแพงและลักลอบเข้าไปพระราชวังบัคกิ้งแฮม และดุ่มๆ เข้าไปถึงภายในห้องบรรทมของควีนอลิซาเบ็ธ โดยที่ไม่มียามหรือแม่บ้านสักคนเห็น เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่เกิดขึ้นจริงและเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกว่าพระราชวังของประมุขที่มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้แอบเข้าไปแบบนั้นได้อย่างไร
ใน The Crown เอพิโสดที่ว่าด้วยเรื่องของนายเฟแกน เป็นมากกว่าเพียงเรื่องตื่นเต้นหรือฉาวโฉ่ แต่เป็นตอนที่เชื่อมโยงกับเส้นเรื่องอื่นๆ ของซีซั่นนี้ ที่ว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจอันตกต่ำของอังกฤษในปลายยุค 70 ต่อถึงต้นทศวรรษ 80 และนโยบายการเงินอันเข้มงวด รวมทั้งการตัดสินใจเปิดสงครามเกาะฟอล์คแลนด์ ของนายกรัฐมนตรีแธตเชอร์
จุดเด่นของตอน Fagan ใน The Crown คือการพาคนดูออกจากบรรยากาศอึดอัดในรั้วในวัง ออกจากคฤหาสน์หรูหรา สนามโปโล หรือบ้านตากอากาศของเจ้าชายเจ้าหญิงในท้องเรื่อง และพาเราไปยังแฟลตชานเมืองซอมซ่อของชนชั้นแรงงาน ไปในผับแบบอังกฤษที่มีแต่คนงานเอะอะโวยวายสังสรรค์ ภาพเหล่านี้เตือนให้เราเห็นว่า ความหรูหราเว่อวังและอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงที่เราเห็นมาตลอดใน The Crown ถูกประคับประคองไว้ด้วยชนชั้นล่างที่ทำงานหนักแต่กลับไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นเท่าไหร่เลย ที่สำคัญกว่านั้นคือ นายเฟแกนเป็นหนึ่งในเหยื่อของมาตรการทางเศรษฐกิจอันโหดร้ายของนายกฯ แธตเชอร์ ที่ทำให้อัตราการว่างงานในอังกฤษพุ่งทะยานไปเป็นหลายล้านคนจากนโยบายขึ้นภาษี การแปรรูปสาธารณูปโภค การผลักดันภาคการผลิตให้ลดต้นทุน รวมทั้ง “ยาแรง” ทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีกหลายขนาน ที่เล่นเอาชนชั้นแรงงานสะบักสะบอมไปนานนับสิบปี
[สปอยเลอร์ในย่อหน้านี้] ในเหตุการณ์จริง เฟแกนเป็นคนมีประวัติปัญหาทางจิต เขารู้สึกท้อแท้ อับจนหนทาง มีปัญหาครอบครัว เพราะนั่งรถผ่านวังบัคกิ้งแฮมบ่อยๆ คืนหนึงเขาเลยจัดการปีนเข้าวัง และจับพลัดจับผลูเดินเข้าไปถึงห้องบรรทมของควีนอลิซาเบ็ธ โดยหวังว่าจะไปร้องเรียนถึงความลำบากที่เกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้าจากการที่รัฐบาลเอาเงินไปทำสงครามและบริหารงานล้มเหลว รายงานบอกว่า ควีนอลิซาเบ็ธพูดกับเฟแกนเมื่อตื่นขึ้นมาเจอเขาอยู่ในห้อง แต่ทั้งสองไม่ได้ “สนทนา” กันจริงจังยืดยาวอย่างที่ในซีรี่ส์ทำให้เราเห็น แต่ถึงแม้ The Crown จะจินตนาการการพบกันของทั้งคู่ให้มากกเกินความจริง สิ่งที่บทต้องการทำให้เราเห็น คือการขับเน้นความลำบากและสภาพชีวิตของคนที่ถึงทางตัน ไม่เห็นทางออก
แฟนหนังน่าจะสังเกตได้ไม่ยากว่า เอพิโสดนี้มีความคล้ายคลึงในท่าทีและทัศนคติ กับหนังสะท้อนสังคมอังกฤษในยุค 80 และ 90 โดยเฉพาะหนังของเคน โลช ผู้กำกับที่ทำหนังเรื่องชนชั้นแรงงานของอังกฤษมาหลายสิบเรื่อง และมักมีฉากหลังเป็นซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยมเสรีสุดโต่งที่ทิ้งคนจำนวนมากไว้ข้างหลัง ไม่น่าแปลกใจว่า เคน โลช เป็นปฏิปักษ์ทางความคิดกับนายกฯ แธตเชอร์ และนโยบายการบริหารประเทศของเธอ เรื่องโด่งดังคือเมื่อแธตเชอร์เสียชีวิตในปี 2014 เคน โลช พูดทีเล่นทีจริงว่า งานศพของเธอไม่ควรใช้เงินหลวง แต่ควรใช้วิธี “แปรรูปให้เอกชน” โดยให้บริษัทมาประมูล เสนอราคา แล้วให้รัฐเลือกบริษัทที่เรียกราคาต่ำที่สุดได้สัมปทานงานศพไปโดยไม่ต้องสนใจคุณภาพ ไม่ต้องสนว่าบริษัทนั้นจะไปกดค่าแรงคนงานอีกต่อหรือเลย์ออฟคนงานเพื่อลดต้นทุน เพราะนี่คือสิ่งที่แธตเชอร์เคยทำกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ครั้งเธอยังมีอำนาจ มุกนี้ได้ใจสายแรงงานไม่น้อย (แธตเชอร์เป็นนายกฯ ที่มีคนเกลียดมากที่สุดคนหนึ่ง แต่บุคลิกแข็งกร้าวและนโยบายของเธอ ก็ได้ใจสายอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าเธอทำให้อังกฤษฟื้นได้)
กลับมาที่เรื่องของไมเคิล เฟแกนและควีนอลิซาเบ็ธ เอพิโสดนี้ทำสิ่งที่เหลือเชื่อให้เราเห็น คือการที่บุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดของประเทศต้องเผชิญหน้ากับคนที่ต่ำต้อย ไร้ค่า และไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีปากมีเสียงอะไรในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ตอนนี้ของซีรี่ส์ยังเพิ่มมิติ เพิ่มความลึก ของเรื่องราวทั้งซีซั่น จากการเตือนให้เราจำได้ว่า อังกฤษ (เช่นเดียวกับทุกประเทศ) ไม่ได้มีแต่ความอลังการหรูหราแบบชนชั้นสูงเท่านั้น แต่เต็มไปด้วยคนหาเช้ากินค่ำปากกัดตีนถีบเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น
ตอนนี้เฟแกนยังมีชีวิตอยู่ เช่นเดียวกีบควีนอลิซาเบ็ธ ทั้งสองคงไม่มีโอกาสโคจรมาพบกันอีกแล้วในชาตินี้ – ยกเว้นเสียแต่ในโลกสมมุติของ The Crown
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ