“คุณหญิงแมงมุม” คืนชีพ “เสียดาย” ก่อนความรักจะหายไปจากครอบครัว
สำหรับผู้ที่เติบโตในยุค 90s คงไม่มีใครไม่รู้จักภาพยนตร์เรื่อง “เสียดาย” โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเป็นภาพยนตร์สะท้อนปัญหาของวัยรุ่นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ การเพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของวัยรุ่น ซึ่งนำไปสู่การใช้ยาเสพติดของตัวละคร ภาพความจริงอันน่าหดหู่นี้ส่งผลให้ “เสียดาย” กลายเป็นภาพยนตร์ที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น และทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งตำนานเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
และในปี 2563 นี้ เรื่องราวของปู แป๋ม เดือน และเงาะ ตัวละครเด็กสาวของเสียดาย ได้กลับมาโลดแล่นบนหน้าจออีกครั้ง ด้วยฝีมือการกำกับของ “หม่อมราชวงศ์ศรีคำรุ้ง ยุคล รัตตกุล” หรือ “คุณหญิงแมงมุม” ทายาทของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ทว่าการฟื้นคืนชีพครั้งนี้ กลับไม่ได้อยู่บนจอภาพยนตร์ แต่ถูกขยายเรื่องราวเป็นซีรีส์ในโลกออนไลน์แทน
ความประทับใจในวัยเด็ก
“มันเป็นช่วงที่เราอยู่ ป.4 เพราะฉะนั้นมันเป็นเหมือนช่วงที่เหลื่อมระหว่างที่เรากำลังจะโตกับเป็นเด็ก เราก็เริ่มเข้าใจภาษาที่ผู้ใหญ่เขาคุยกันแล้ว คนเลี้ยงช้าง สาละวิน อาจจะซับซ้อนไปสำหรับเรา เพราะเรายังเด็ก แต่พอเป็นเสียดาย มันเป็นช่วงที่เราเข้าใจแล้วว่าพ่อเรากำลังพยายามทำอะไรหรือพูดอะไรอยู่ มันก็เลยเป็นเรื่องที่ประทับใจที่สุด เพราะว่าเป็นเรื่องแรกที่ได้พูดภาษาเดียวกัน” คุณหญิงแมงมุมเล่าถึงเหตุผลในการนำภาพยนตร์เรื่องเสียดายกลับมาสร้างใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นความประทับใจในวัยเด็กแล้ว คุณหญิงยังมองเห็นถึงปัญหาสังคมที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งภาพยนตร์ควรทำหน้าที่บอกเล่าและนำไปสู่การแก้ไข
“พอกลับมาดูตอนโตก็แบบ เอ๊ะ... ทำไมมันไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนเลย เหมือนเดิม ตัวชุมชนก็เหมือนเดิม คนที่อยู่ก็คือคนอาชีพเดิมๆ เพราะสังคมไทยไม่ได้พยายามจะปรับหรือเปลี่ยน มันเป็นปัญหาที่มันวนอยู่ในลูป มันแก้ยาก มันต้องมีสักคนหนึ่งที่เอาเรื่องนี้มาทุบให้แตก ก็เลยรู้สึกว่าเราเอากลับมาทำอีกรอบดีกว่า มากระตุ้นอีกที เผื่อจะมีอะไรหรือใครที่มองเห็นปัญหานี้ แล้วอยากทำอะไร”
อีกหนึ่งประเด็นที่คุณหญิงแมงมุมมองเห็นและพยายามถ่ายทอดให้สังคมได้ตระหนัก คือการสร้างตัวตนของวัยรุ่น ที่มักจะถูกขัดขวางจากผู้ใหญ่ และผลักให้เด็กเหล่านี้ต้องหันมาพึ่งพากันและกัน ทว่าด้วยประสบการณ์ชีวิตไม่กี่สิบปี ก็อาจจะทำให้พวกเขาพากันหลงทางได้ในที่สุด
“สิ่งยากๆ บางทีก็เกิดจากอะไรง่ายๆ ที่เรานึกไม่ถึง เราอยากให้คนเห็นว่าเรื่องแค่นี้มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้อย่างไร แค่เด็กมันอยากเต้นน่ะ ไม่ให้เขาไปเต้น ดูสิมันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่แค่ไหน เพื่อน ม.3 กับ เพื่อน ม.3 ใครจะรู้ดีกว่ากันล่ะ มันก็รู้พอๆ กัน ประสบการณ์ชีวิตเขาไม่ได้มีมากกว่าเราเลย ตอนเด็กๆ เราก็ซ่า ก็ฟังแต่เพื่อนเหมือนกัน แต่พอเราผ่านอะไรมาเยอะๆ เราทำผิดบ้างถูกบ้าง เราก็เรียนรู้จากมัน แต่มันไม่ใช่ทุกคนที่จะทำผิดนิดเดียว แล้วถูก บางคนก็อาจจะทำผิดใหญ่ๆ ไปเลย มันก็มี” คุณหญิงแมงมุมอธิบาย
90s ยุคทองของวัยรุ่น
ในขณะที่ละครรีเมคส่วนใหญ่จะพยายามปรับปรุงบทให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน แต่สำหรับเสียดาย เวอร์ชั่น 2563 นี้ คุณหญิงแมงมุมกลับเลือกที่จะใช้ฉากในยุค 90s เหมือนในเวอร์ชั่นแรก เพื่อแสดงถึงช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสดใสของวัยรุ่น และเสน่ห์ของยุคอะนาล็อกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเทียบไม่ได้
“ยุค 90s สำหรับเรามันเป็นยุคแฟชั่น เป็นยุคเพลง เป็นยุคเด็กกำลังแต่งตัว กำลังมีไอดอล กำลังร้องเพลง มันเป็นยุคที่เหมือนวัยรุ่นครอง มันเป็นเสน่ห์ของ 90s ซึ่งสมัยนี้ไม่มีแล้ว ลองกลับมาทำตอนนี้สิ ถ้าเป็น 2020 หลุยส์ต้องไลน์ไปจีบปูเหรอ มันไม่มีเสน่ห์” คุณหญิงกล่าว
และไม่เพียงแต่นำเสนอภาพของยุค 90s เท่านั้น เสียดายยังรวมเอานักแสดงรุ่นใหญ่ที่เคยโด่งดังในยุคนั้นกลับมาโชว์ฝีไม้ลายมือในเวอร์ชั่นใหม่นี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, สุธิตา เกตานนท์, ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี, สุเมธ องอาจ, รชนีกร พันธุ์มณี, ตระการ พันธุมเลิศรุจี, วรเชษฐ์ นิ่มสุวรรณ, ศุภชัย เกิดสุวรรณ และกัลยา เลิศเกษมทรัพย์ รวมทั้งยังเป็นเวทีแจ้งเกิดนักแสดงรุ่นใหม่ที่ฝีมือใหญ่เกินชั่วโมงบิน ซึ่งคุณหญิงแมงมุมเปิดเผยว่า เธอเหมือนได้เจอขุมทรัพย์เลยทีเดียว
“การที่เราเลือกนักแสดง เราไม่ได้ดูแอคติ้ง แต่ดูหน้าตาว่าเราอยากทำงานกับคนนี้ไหม คนที่ดังแล้วก็มีคิตตี้ ชิน เจสซี่ น้องแพรวนี่ใหม่กิ๊กเลย แล้วเป็นไง ดูบนจอ ร้องไห้สวยที่สุด เราถึงบอกว่า เราไม่ได้เก่ง เราแค่โชคดีที่พวกเขาเชื่อและไว้ใจเรา อย่างคิตตี้มีฉากต่อยกระจก เราบอกว่า ‘คิต ไม่ต้องกลัวนะ พี่จะไม่ทำให้คิตตี้เจ็บ พี่สัญญา คิตตี้จะต้องไม่เจ็บ’ เขาต่อยเต็มที่เลย เพราะเขารู้ว่าแมงมุมจะไม่ทำให้เขาเจ็บ น้องก็อยากให้มันออกมาดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่อิดออด” คุณหญิงเล่าถึงนักแสดงหลัก โดยเฉพาะคิตตี้ ชิชา อมาตยกุล ผู้รับบทปู เด็กสาวที่ถูกพ่อเลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศ
“ตอนฉากข่มขืน พลังมันมา เรารู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดว่าเฮ้ย อีกแป๊บหนึ่งมันจะสว่างแล้ว แล้วคุณต้องลงไปกินข้าวข้างล่าง และเจอผู้ชายคนนี้ ซึ่งเป็นสามีแม่ มันไม่ต้องโชว์ให้ดูก็ได้ มันกระอักกระอ่วน มันทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ เราไม่รู้ต้องพูดกี่ครั้งว่าทำไมเราโชคดีจังเลยวะ ถ้าเราไม่เจอพวกนี้ แล้วเราจะกำกับได้ไหม เคยคิดตลอดเลยนะ ถ้าไม่ใช่คิตตี้ แต่เป็นเด็กคนอื่น มันจะเป็นแบบนี้ไหม แต่สรุปสุดท้ายมันคือแก๊งนี้ไง มันก็เลยฉลุย” คุณหญิงแมงมุมกล่าว
ก่อนความรักจะหายไป
แม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะถูกจับตามองและมีผู้ชมรอคอยเป็นจำนวนมาก ทว่ากลับต้องถูก “ดอง” เป็นเวลานานถึง 5 ปี ก่อนที่จะได้เผยแพร่บนแอปพลิเคชัน ซึ่งอุปสรรคครั้งนี้ถือว่ากระทบจิตใจทั้งผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานอย่างรุนแรง คุณหญิงแมงมุมเปิดใจต่อกรณีนี้ว่า
“ตอนที่รู้ว่าละครของเราจะไม่ได้ฉายคือผิดหวังมาก แมงมุมไม่แคร์ตัวเองหรอก มันสนองตัณหาของเราไปแล้ว แต่แมงมุมคิดว่า เฮ้ย! เด็กพวกนี้มันไม่ได้หลับไม่ได้นอน มันร้องไห้ มันไปอยู่ในชุมชนแออัด การที่ไม่ได้ฉายมันทำลายพวกเขา แล้วเหมือนเราโดนทำร้ายไปด้วย แต่ก็รู้สึกดีนะที่ได้ไปฉายบนแอปพลิเคชัน เพราะถ้าเขาเอาซีรีส์ออนไลน์ของเราไปเผยแพร่ แปลว่าเขาเข้าใจ ก็เป็นผู้ใหญ่อีกคนที่เข้าใจเรา แล้วเราก็หวังว่ามันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้วงการหนังไทยเทียบเท่าประเทศอื่นได้บ้าง”
และนอกเหนือจากการตีแผ่ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยแล้ว สิ่งที่คุณหญิงแมงมุมต้องการสื่อสารผ่านซีรีส์เสียดายไปยังผู้ชม คือเรื่องความรักและการสื่อสารกันภายในครอบครัว ซึ่งดูเหมือนจะเลือนหายไป ด้วยภาระหน้าที่ของพ่อแม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่เข้าใจและกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาอย่างไม่จบสิ้น
“เราอยากให้ทุกคนเห็นว่าการกอดกัน การคุยกัน การให้กำลังใจกัน การมีคนปรึกษาสำคัญ อยากให้ถ้าจะทำโอที กลับมาสอนการบ้านลูกดีกว่าไหม ลองชั่งน้ำหนักดูสิว่าอย่างไหนมันดีกับครอบครัวเรามากกว่า หรือกับลูกเรามากกว่า ถ้าคิดว่าลูกสำคัญกว่า ก็บอกให้เขารู้ว่าเขาสำคัญ” คุณหญิงทิ้งท้าย