Mank: โต้ตำนานประพันธกร โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
หนึ่งในเรื่องเล่าที่เข้าขั้น “ตำนาน” อันเป็นที่ถกเถียงกันมานานหลายทศวรรษในฮอลลีวูด ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Citizen Kane (1941) เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรถ้าหาก Citizen Kane เป็นหนังดังธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง แต่เพราะนี่เป็นหนังที่ได้ชื่อว่า “ดีที่สุดในโลก” หรือถ้าจะเผื่อใจไว้หน่อยก็เป็น “หนังที่ดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง” ที่ถูกยกขึ้นหิ้งเพื่อกราบไหว้บูชา ด้วยเหตุนี้นี่เองที่เรื่องราวของการเขียนบทหนัง Citizen Kane จึงยังเป็นตำนานที่ถูกถกเถียง โต้แย้งไปมา เชื่อมโยงกับความเชื่อและอุดมการณ์ทางศิลปะอันหลากหลาย
ตอนนี้ ตำนานที่ว่ากลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งกับภาพยนตร์เรื่อง Mank ของผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์ ที่เพิ่งลงจอใน Netflix เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
Mank เป็นหนังขาวดำที่เล่าเรื่องของเฮอร์มาน แมนเควิซ (Herman Mankeiwicz) หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า แมงค์ คนเขียนบทคนสำคัญของฮอลลีวูดในยุคทองช่วงทศวรรษ 1940 แมงค์เป็นนักเขียนบทละครจากนิวยอร์คที่ข้ามฝั่งไปขุดทองที่อุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูด เขายังชักชวนนักเขียนบทละครดังๆ จากฝั่งตะวันออกให้ข้ามไปทำงานฝั่งตะวันตก โดยมีประโยคทองที่เขาส่งโทรเลขชวนเพื่อนนักเขียนโดยบอกว่า “เงินเป็นล้านรอให้เรามากอบโกยที่นี่ คู่แข่งเดียวของพวกเราคือคนโง่” อันหมายความว่า แมงค์มองว่าฮอลลีวูดเป็นอุตสาหกรรมหนังที่เต็มไปด้วยแต่นักเขียนบทระดับต่ำ ไร้ศิลปะ ไม่มีคุณภาพ มุ่งเน้นแต่การเล่าเรื่องดาดๆ เพื่อตอบสนองมวลชนที่ต้องการเสพความบันเทิงและไม่ได้ต้องการอะไรลึกซึ้ง ดังนั้นนักเขียนมือทองระดับปัญญาชนจากนิวยอร์คที่พร้อม “ขายวิญญาณ” ควรรีบมาตักตวงผลประโยชน์ให้มากที่สุด
หนังเรื่อง Mank มุ่งไปยังที่ช่วงเวลาที่แมงค์ (แสดงโดยแกรี่ โอลด์แมน ในบทที่เข้าชิงออสการ์แน่นอน) ขาหักจากอุบัติเหตุและต้องนอนพักในบ้านกลางทะเลทรายเพื่อเขียนบทหนังเรื่อง Citizen Kane ให้กับผู้กำกับหนุ่มสมองเพชร ออร์สัน เวลส์ หนังยังพาเราไปชมเบื้องหลังการทำงานของสตูดิโอใหญ่ของฮอลลีวูด โดยเฉพาะ MGM และ Paramount ปะปนไปกับตัวละครจริงในประวัติศาสตร์อันเรืองรองของฮอลลีวูดในยุค 1940 จุดสำคัญอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างแมงค์ กับวิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์ส เจ้าของอาณาจักรสื่อในอเมริกาผู้ทรงอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งชีวิตอันโด่งดังของเฮิร์สนี่เอง ที่แมงค์นำมาดัดแปลง ตีแผ่ และชำแหละไม่เหลือซากในบทหนังเรื่อง Citizen Kane ที่เขากำลังเขียน และที่ต่อมากลายเป็นหนังคลาสสิกตลอดกาลของโลก
ความสนุกและน่าติดตามของ Mank จะเกิดขึ้นได้หากผู้ชมพอรู้เรื่องราวเบื้องหลังมาบ้าง โดยเฉพาะต้องรู้ว่า Citizen Kane เป็นหนังที่กล้าหาญ แหวกกฎเกณฑ์ และโด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และหากพอมีความรู้เรื่องวงการหนังฮอลลีวูดในยุคสตูดิโอมาบ้าง ก็จะยิ่งจับต้นชนปลายหนังทีค่อนข้างซับซ้อนเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น
แต่ประเด็นสำคัญใน Mank และเป็นจุดที่น่าจะถูกนำมาถกเถียงกันต่อ คือคำถามที่ว่าตกลงแล้ว ใครเป็นกำลังสำคัญในการเขียนบทหนังเรื่อง Citizen Kane กันแน่? เป็นตัวแมงค์เองอย่างที่หนังเรื่อง Mank นำเสนอให้เราเห็น หรือเป็นแมงค์ร่วมกับออร์สัน เวลส์ ที่ได้ชื่อว่า “ผู้กำกับอัจฉริยะ” ที่เพิ่งก้าวเข้ามามีบทบาทในฮอลลีวูด จริงอยู่ที่ว่าในหนังเรื่อง Citizen Kane ให้เครดิตทั้งสองคน (ชื่อแมงค์ขึ้นก่อน) และทั้งสองคนก็ได้รับออสการ์สาขาการเขียนบทในปี 1942 แต่เบื้องลึกเบื้องหลัง มีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่?
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 นักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์หนังฮอลลีวูด แบ่งเป็นสองค่ายความคิด ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าแมงค์เป็นคนเขียนบท “ตัวจริง” ที่สมควรได้รับการยกย่อง ดังนั้นตำนานแห่งความเก่งกาจรอบด้านจนเป็นอัจฉริยะของออร์สัน เวลส์ เป็นเรื่องที่พูดกันจนเว่อร์ เป็นการสร้างฮีโร่ของประพันธกร (หรือผู้สร้างงาน) ที่เกินความเป็นจริง ส่วนอีกค่ายความคิดโต้แย้งฝ่ายแรกอย่างหนักแน่นและอ้างอิงหลักฐานมากมายว่า ถึงแมงค์จะเป็นคนเขียนโครงเรื่องและร่างแรก แต่ออร์สัน เวลส์ ต่างหากที่เขียนบทสนทนาหลัก และเป็นผู้ขัดเกลา เสริม และเขียนร่างต่อๆ มาของบทจนสมบูรณ์พร้อมถ่ายเป็นหนัง แถมยังใจกว้างให้ชื่อแมงค์ ขึ้นเป็นชื่อแรกในเครดิตด้วยซ้ำ ดังนั้นความคิดของฝ่ายแรกเป็นความพยายามลดทอน “ทฤษฎีประพันธกร” ที่กำลังเป็นมโนทัศน์หลักของงานวิจารณ์หนังในช่วงดังกล่าว
หนังเรื่อง Mank ของฟินเชอร์นี้ ชัดเจนว่ายึดโยงกับความคิดฝ่ายแรกมากกว่า หนังโฟกัสไปที่แมงค์และความสัมพันธ์ของเขากับเฮิร์ส ซึ่งเป็นโครงเรื่องของ Citizen Kane และหนังแทบจะไม่พูดถึงออร์สัน เวลส์ เลย จนกระทั่งฉากไคลแมกซ์ตอนท้าย
การถกเถียงเรื่องใครเขียนบท Citizen Kane มีรายละเอียดมากมายที่น่าสนุกพอๆ กับหนังเรื่อง Mank สิ่งที่ควรสังเกตคือ ฮอลลีวูดมักมีหนังที่สำรวจตรวจสอบตำนานหรือภาพมายาของตัวเอง รวมทั้งกระทำการวิพากษ์วิจารณ์ แขวะ แซะ ผู้มีอำนาจในวงการบันเทิง และสร้างให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องบันเทิงในตัวมันเองอีกต่อหนึ่ง Mank เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำเช่นนี้ และน่าเสียดายอยู่นิดเดียวที่ว่า หนังที่พูดถึงยุครุ่งเรื่องของภาพยนตร์ฮอลลีวูด กลับต้องมาฉายในจอเล็กเท่านั้นโดยไม่มีออพชั่นแบบฉายในโรง ซึ่งน่าจะทำให้พลังแห่งตำนานที่หนังนำเสนอ สั่นสะเทือนความคิดคนดูได้มากกว่านี้