1980s ยุคสุดปัง ที่เป็นฉากหลังของ Wonder Woman 1984
ย้อนกลับไปราว 36 ปีก่อน คือช่วงเวลาที่โลกของเราเต็มไปด้วยสีสัน เทคโนโลยี กำลังเบ่งบานและเติบโตอย่างรวดเร็ว ยุคสมัยดังกล่าวกลายเป็นฉากหลังสำคัญของ Wonder Woman 1984 จะพิเศษอย่างไรนั้นลองตามไปดูกันดีกว่า
ทวนประวัติศาสตร์ฉบับกะทัดรัด
ค.ศ.1980 คือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและสังคมเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจเสรีมีการพัฒนาไปแบบแพร่หลายทั่วโลก เป็นรอยต่อระหว่างสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความลำบากในการเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู้ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยปัญหาหลักๆคือเรื่องความยากจนภายในประเทศ ความรุนแรงในตะวันออกกลางอย่างสงครามอิรักและอิหร่าน และความขัดแย้งในเลบานอนช่วงปี 1982 ถึง 1983 และกองทัพอเมริกันเข้าบุกลิเบียในปี 1985
ในเชิงวัฒนธรรมยุค 1980 ถือได้ว่าเต็มไปด้วยความฉูดฉาด มันคือขาลงของดนตรีดิสโก้และเพลงในยุคนี้มีการใช้เสียงดนตรีสังเคราะห์และคีย์บอร์ดเข้ามา มีศิลปินป๊อปมากมายที่โด่งดังและกลายเป็นตำนานในยุคนี้อาทิ ไมเคิล แจ็คสัน มาดดอนน่า และดูแรนดูแรน การพัฒนาขึ้นของดนตรีฮิปฮอปและวัฒนธรรมการแต่งการที่มีความเฉพาะตัว
เสื้อผ้าหน้าผมและการแต่งตัวก็ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเพราะคำจำกัดความของการแต่งตัวในยุคนี้คือยิ่งเยอะยิ่งดี เสื้อผ้าฝั่งฝ่ายชายมีทั้งเสื้อแจ็คเก็ต สเวตเตอร์ เสื้อยีนส์ ชุดซัมเมอร์ก็เต็มไปด้วยสีสัน แฟชั่นพังก์ก็มาแรงมากด้วยการที่เสื้อหนังตอกหมุด ฝั่งฝ่ายหญิงชุดเสื้อผ้าออกกำลังกายเต็มไปด้วยความเปรี้ยวปรี๊ดเมื่อผ้าแบบสแปนเด็กซ์รัดรูปคือภาพจำของยุค หมวกปีกกว้างและชุดผ้าคาดเอวที่ทำมาจากผ้าไหมซาตินก็ได้รับความนิยม เหล่านี้เป็นแค่เพียงตัวอย่างเท่านั้น เราลองไปดูกันดีกว่าในวันเดอร์วูแมนภาคนี้มีอะไรที่สะท้อนบรรยากาศเหล่านี้บ้าง
ห้างสรรพสินค้าคือภาพสะท้อนวัฒนธรรมที่ชัดเจนของยุค 80
ทีมงานต้องอาศัยฝ่ายออกแบบที่สร้างสรรค์โดยมีแมทธิว เจนเซน ผู้ออกแบบฉาก อาไลน์ โบเน็ตโต ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ลินดี้ เฮมมิง ซึ่งทีมงานต้องอาศัยการรวบรวมรูปภาพเก่าๆจากยุคสมัยนั้นมาเป็นภาพในการอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นสำหรับการออกแบบฉากต่างๆ รวมไปถึงเสื้อผ้า หน้าผม วิถีชีวิตของผู้คนว่ากำลังทำอะไร กินยังไง นั่งแบบไหน คุยโทรศัพท์กันยังไง เพื่อให้ตัวละครที่โลดแล่นอยู่ข้างหลังฉากนั้นทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงช่วงเวลานั้น
สิ่งที่จะทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ชัดเจนที่สุดคือห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นฉากเหตุการณ์ปล้นร้านเพชร กองถ่ายได้เช่าห้างกึ่งร้าง Landmark Mall ในอเล็กซานเพรีย รัฐเวอร์จิเนีย ที่นี่สร้างขึ้นเมื่อปี 1965 เปิดให้บริการจนกระทั่งถึงปี 2017 ผู้ออกแบบและทีมงานต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่ลักษณะของไฟไปจนถึงสัญลักษณ์ทางเดินในห้าง
“ตอนเราสำรวจสถานที่ Landmark Mall” โรเวนเล่าให้ฟังว่า “เราตื่นเต้นที่พบห้างร้างที่ยังใช้งานได้ บันไดเลื่อน ลิฟต์ ห้องน้ำ ท่อประปา ทุกอย่างยังใช้งานได้ เรารู้สึกตื่นเต้นมากกับสิ่งนั้น”
แต่การดึงธีมต่างๆ ในเรื่องออกมาก็มีสิ่งที่เราต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน โรเวนกล่าวต่อว่า “หลังจากได้คุยกับทีมออกแบบ เราพบว่าความโชคดีแบบนี้ก็มีความโชคร้ายซ่อนอยู่ เพราะฉากแอ็คชั่นต้องใช้ความสูงของสถานที่มากกว่า 3 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีร้านค้าต่างๆ ที่เราจัดเอาไว้ มีชื่อของหลายยี่ห้อที่อาจไม่มีแล้วในวันนี้ ถือว่าเป็นงานใหญ่กว่าที่ใครเคยคาดคิดเอาไว้
ในที่สุดทีมออกแบบฉากได้จัดร้านค้าทั้ง 65 ร้านพร้อมด้วยข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ แนวพีเรียดเข้าไป โดยเฉพาะตรงจุดจ่ายเงินและคอมพิวเตอร์ของคนขายบนเคาน์เตอร์
ฉากในห้างกลายเป็นฉากที่ผู้ออกแบบชื่นชอบเป็นการส่วนตัว “เวลานักแสดงและทีมงานของเราอยู่ในห้างที่เราปรับโฉมขึ้นมาใหม่ ทุกคนพากันพูดถึงแต่เรื่องฉาก” โบเน็ตโตกล่าว “บางคนนึกถึงของเล่นได้ บางคนก็นึกถึงโทรศัพท์หรือพวกเสื้อผ้าได้ ทุกคนล้วนหาสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของตัวเอง มันสนุกดีครับที่เอาของพวกนั้นกลับมาหาทุกคนได้”
แม้ว่าจะกินขาดเรื่องความงดงาม แต่ฉากของห้างก็สร้างความท้าทายให้กับฝ่ายการแสดงผาดโผน เพราะต้องวางแผนให้วันเดอร์วูแมนพุ่งชนผ่านห้องโถงใหญ่ ลอยลงมาช่วยเด็กผู้หญิง จากนั้นเหวี่ยงตัวอยู่ด้านล่างสะพาน โดยทั่วไปแล้วอินช์เล่าให้ฟังว่า “การแสดงอะไรแบบนั้นเราจะต้องอาศัยเวทีขนาดใหญ่พร้อมกับเหล็กขนาดยักษ์สำหรับแขวนลวดสลิง แต่ในห้างสรรพสินค้าเรามีเพียงห้องที่มีบันไดเลื่อน ไม่มีอะไรให้แขวนลวดสลิงได้เลย พวกเราเลยต้องสร้างมันขึ้นมา” ขั้นตอนการแขวนลวดสลิงสำหรับฉากสำคัญต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์และอาศัยทีมงานที่แข็งแรง 15 คน “ฉันคิดว่ามันมีขนาดราว 6 กิโลเมตร [3.7 ไมล์] จากตรงนั้นมาถึงจุดที่จะซ่อนมันได้ แน่นอนค่ะว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่เลย”