Netflix ประกาศสร้าง Alice in Borderland ซีซั่น 2 และ 10 เรื่องน่ารู้ที่แฟนซีรีส์พลาดไม่ได้
Netflix ประกาศว่า Alice in Borderland (อลิซในแดนมรณะ) ออริจินัลซีรีส์จากญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นจากการ์ตูนแนวไซไฟ-ระทึกขวัญ จะได้โลดแล่นบนจอต่อในซีซั่นที่ 2 เร็ว ๆ นี้
Alice in Borderland เป็นผลงานการกำกับของชินซุเกะ ซาโตะ หลังจากที่เขาได้แสดงฝีมือไว้ในผลงานภาพยนตร์สุดฮิตที่สร้างจากมังงะเช่นกันอย่าง Gantz (สาวกกันสึ พันธุ์แสบสังหาร) และ Kingdom (สงครามบัลลังก์ผงาดจิ๋นซี) โดยซีรีส์เรื่องนี้ได้ขึ้นแท่นเป็นผลงานออริจินัลแบบไลฟ์แอ็กชั่นจากญี่ปุ่นที่มีผู้ชมสูงสุดบนเน็ตฟลิกซ์ไปเป็นที่เรียบร้อย ครองใจผู้ชมได้ทั้งในเอเชียและทั่วโลก แต่ในระหว่างที่เรารอลุ้นกันว่าซีซั่น 2 จะมีเกมแห่งความเป็นความตายแบบไหนมาให้ได้ตื่นเต้นกันอีก เราขอหยิบเรื่องน่าสนใจจากเบื้องหลังการสร้างซีซั่นแรกมาเล่าให้ฟังกันพลาง ๆ
1. หลังจากเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา Alice in Borderland ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมในเอเชียอย่างรวดเร็ว จนติดท็อปชาร์ต 10 อันดับคอนเทนต์ยอดนิยมทั้งในไทย มาเลเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม พ่วงด้วยสถิตินอกเอเชีย ขึ้นแท่นท็อป 10 ในเยอรมนี ฝรั่งเศส โปรตุเกส ออสเตรีย และกรีซด้วยเช่นกัน โดยรวมแล้ว ซีรีส์ฮิตเรื่องนี้ขึ้นมาติดอันดับท็อป 10 ในเกือบ 40 ประเทศทีเดียว
2. ซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากการ์ตูนสุดฮิตชื่อเดียวกันของ ฮาโระ อาโสะ โดยก่อนหน้านี้ เคยตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสาร Weekly Shonen Sunday S และ Weekly Shonen Sunday ในญี่ปุ่น ตลอดช่วงปี 2010-2016
3. สถิติการเสิร์ชชื่อของซีรีส์ Alice in Borderland พุ่งกระฉูดทั่วโลกในช่วงที่การเปิดสตรีมซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์ โดยนอกจากความสนใจในตัวซีรีส์เองแล้ว ผู้ชมทั่วโลกยังเสิร์ชหาชื่อนักแสดงนำอย่าง เคนโตะ ยามาซากิ และ ทาโอะ ทสึจิยะ ซี่งเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในญี่ปุ่นอีกด้วย โดยพระเอกหนุ่มยามาซากิและผู้กำกับซาโตะนั้น เคยทำงานด้วยกันมาก่อนในโปรเจ็คภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Kingdom (สงครามบัลลังก์ผงาดจิ๋นซี) ที่ออกฉายไปเมื่อปี 2019 และดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนเช่นกัน
4. ฮาโระ อาโสะ ผู้เขียน Alice in Borderland ฉบับการ์ตูน เขียนคาแรกเตอร์ตัวเอกของเรื่อง “อะริสุ” โดยอ้างอิงมาจากชีวิตตัวเองล้วน ๆ โดยเขาบอกกับเราว่า “ผมยังจำตัวเองตอนอายุ 20 ได้ ก็เลยวางตัวละครของอะริสุขึ้นมาตามนิสัยของผมสมัยนั้น ที่เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจเอาซะเลย”
5. สำหรับฉากห้าแยกชิบุยะแบบไร้ผู้คนในตอนแรกของซีรีส์ (ซึ่งรู้กันอยู่ว่าชิบุยะเป็นแยกที่พลุกพล่านที่สุดในโตเกียว) ทีมงานไม่ได้ไปถ่ายทำที่ชิบุยะจริง ๆ แต่ไปถ่ายในฉากกลางแจ้งขนาดยักษ์ในเมืองอาชิคางะ จังหวัดโทะชิงิ อยู่ห่างจากชิบุยะของจริงไปกว่าร้อยกิโลเมตร
6. เดิมทีแล้ว จุดนัดพบของอะริสุและเพื่อน ๆ จะอยู่ที่หน้าร้านสตาร์บัคส์ในชิบุยะ แต่เพราะความซับซ้อนในการถ่ายทำในโลเคชั่นที่มีกระจกรายล้อม จึงต้องเปลี่ยนสถานที่นัดพบเป็นหน้าป้ายหน้าสถานีรถไฟแทน
7. สำหรับฉากที่อะริสุและเพื่อน ๆ ต้องวิ่งหนีออกจากถนนที่คนพลุกพล่าน เข้าไปหลบในห้องน้ำที่สถานีชิบุยะ จนกลับออกมาและพบว่าชิบุยะนั้นไร้ผู้คนไปเสียแล้วนั้น ทีมงานได้ถ่ายฉากนี้ทั้งหมดในภายในเทคเดียว ซึ่งเป็นเทคที่ยาวถึง 4 นาที ดังนั้น ทุกองค์ประกอบที่เห็นในฉากจึงต้องสร้างขึ้นมาจริง ๆ ทั้งหมด
8. ในการถ่ายทำฉากที่ชิบุยะนั้น มีเพียงแค่ประตูสถานีรถไฟ ห้องน้ำสาธารณะ และถนนเท่านั้นที่สร้างขึ้นจริง ส่วนทุกอย่างที่เหลือเป็นการใช้เทคนิค CGI ทั้งสิ้น โดยเพื่อความสมจริงทุกรายละเอียด ผู้กำกับฝ่ายวิชวลเอฟเฟคยังได้วาดเงาของตึกโตคิวที่ปกติจะทอดลงบนถนนในชิบุยะอีกด้วย
9. แอนิเมชั่นของเสือที่ออกมาในตอนที่ 5 ของซีรีส์ เป็นผลงานที่สร้างขึ้นโดยทีมงานจากทั่วโลก โดยเสือตัวนี้ควบคุมการผลิตโดยผู้กำกับแอนิเมชั่นชาวดัทช์ เอริค-ยาน เดอ บัวร์ ผู้เคยได้รับรางวัลออสการ์จากงานแอนิเมชันเสือในภาพยนตร์ Life of Pi (ชีวิตอัศจรรย์ของพาย) (2021) มาแล้ว ส่วนงานโปรดักชั่น มาจากสตูดิโอแอนิเมชั่นและวิชวลเอฟเฟคในอินเดียที่ชื่อ Anibrain โดยรวมแล้ว เสือตัวนี้ต้องใช้ทีมสร้างจากทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา (ลอสแองเจลิส) และอินเดีย
10. ส่วนการสร้างเจ้าเสือดำในตอนที่ 4 นั้น ทีมวิชวลเอฟเฟคก็ลงทุนไปสวนสัตว์ เพื่อศึกษาเสือดำจริงๆในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ภาพรวม การเคลื่อนไหว รวมไปถึงลักษณะของเส้นขนของเสือดำอีกด้วย
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ