School Town King ฝันใฝ่ในฝันอันเหลือแร๊ป โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

School Town King ฝันใฝ่ในฝันอันเหลือแร๊ป โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

School Town King ฝันใฝ่ในฝันอันเหลือแร๊ป โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นวัยรุ่นมันยาก เป็นวัยรุ่นในประเทศไทยยิ่งยากกว่า แต่เป็นวัยรุ่นในสลัมคลองเตยมันยากที่สุด

เช่นกัน เป็นวัยรุ่นมันต้องฝันให้ไกล ถ้าเป็นวัยรุ่นในประเทศไทยไอ้ฝันนั้นมันยิ่งดูไกลกว่า แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นในสลัมคลองเตยที่มีความฝันล่ะ ไอ้ฝันมันนั้นยิ่งไกลออกไปที่สุดจนแทบมองไม่เห็น

School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เป็นหนังสารคดีที่เข้าโรงอยู่ในตอนนี้ (ถึงรอบจะกระเบียดกระเสียรเหลือเกิน) ที่เฝ้าติดตามชีวิตของวัยรุ่นสองคนจากสลัมคลองเตยที่มีความฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์ แน่นอนว่านี่คือหนังที่พูดถึงความฝัน แต่ยิ่งไปกว่านั้น School Town King คือหนังที่พูดถึงราคาของความฝันที่เด็กแต่ละคนต้องจ่ายอย่างไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่ไม่เคยเห็นความเท่าเทียมเป็นเรื่องผิดบาป หนังยังว่าไปถึงระบบการสร้างคนผ่านโรงเรียน ผ่านกรอบแห่งอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูเพื่อหวังผลในการประกอบสร้าง “พลเมือง” ที่ไม่เห็นว่าความฝันมันจะสลักสำคัญเท่ากับหน้าที่และการอยู่รอด

หนังกำกับโดย วรรจธณภูมิ ลายสุวรรณชัย คนทำหนังหนุ่มผู้มีชื่อเสียงก่อนหน้านี้จากงานภาพยนตร์และงานออกแบบแสง-เสียงที่ดูล้ำยุค แต่ใน School Town King วรรจธณภูมิรู้ดีว่า ชีวิตของบุ้ค และ นน สองแร็ปเปอร์รุ่นเยาว์จากสลัมคลองเตย คือเรื่องที่ต้องเล่าอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องลีลาเวิ่นเว้อ แต่ต้องตามหายใจไปพร้อมกับสองตัวละคร ต้องไปกินไปนอน ต้องอดทนเพื่อแสวงหาจังหวะที่ความสุข ความทุกข์ ความหวัง ความผิดหวัง และความฝันของเด็กสองคนนี้จะถูกเปิดเผยออกมาหน้ากล้อง ซึ่งหนังก็อดทนและเฝ้ามองบุ้คกับนนอย่างเพิ่งพินิจและอุทิศตนเพียงพอที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาแชร์กับผู้ชม – และจะน่าเสียดายมากถ้าหนังไม่ได้ถูกดู-ถูกชมมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

School Town King เป็นหนังสลัมที่ไม่ได้ทำให้สลัมคลองเตยดูดิบ แย่ หรือน่าสงสาร อย่างที่ “หนังสลัม” อาจจะทำให้เรารู้สึก (จริงๆ แล้ว หนังสลัมของไทยเหลือน้อยมากๆ เทียบกับเมื่อสัก 20 ปีก่อน ตอนนี้หนังสลัมที่เห็นบ่อยที่สุดมาจากประเทศฟิลิปปินส์) แต่หนังพาเราไปเห็นชุมชนสลัมคลองเตยข้างทางรถไฟอย่างตรงไปตรงมา เป็นความจริงของชีวิตที่กล้องนำพาผ่านสายตาของสองตัวละคร ผ่านเส้นเรื่องอันชวนติดตามเมื่อบุ้ค และนน มีชื่อเสียงขึ้นบน YouTube จากการร้องเพลงแร็ปที่มีเนื้อหาถึงการใช้ชีวิตในสลัมคลองเตย จนกระทั่งทั้งสองคนพบว่า ความสามารถในการร้องเพลงด้นสดของตนไม่ได้เป็นสิ่งที่โรงเรียนและครอบครัวพร้อมจะสนับสนุน – หรือไม่รู้ว่าจะสนับสนุนอย่างไร – เพราะความสามารถนี้มันไม่สำคัญต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่เท่ากับการเรียนให้ดี ให้จบ และรีบไปหางานทำเพื่อรับใช้สังคมและประเทศ

ทั้งบุ้ค และ นน มีบุคลิกที่ทำให้หนังน่าติดตาม ความเป็นวัยรุ่นทำให้พวกเขาไม่มีฟอร์ม ไม่มีแอ๊คท่า ไม่ต้องพยายามทำให้ตัวเองดูดี หนังทำหน้าที่สำคัญในการปล่อยให้พวกเขาพูดและรับฟังพวกเขา พาเราไปเข้าไปในบ้าน ในห้องนอน ในโรงเรียน ในชั้นเรียน อีกทั้งพาเราไปพบเพื่อนๆ ของทั้งสอง สิ่งที่หนังทำได้ดีและแนบเนียนมากๆ คือการที่ทำให้เราเห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กสลัมสองคนที่มีความฝันทะลุฝ้า แต่เป็นเด็กที่ถูกจำกัดกรอบด้วยด้วยโครงสร้างทางสังคมอันไร้หัวใจ ไร้จินตนาการ และไร้ประสิทธิภาพในการอุ้มชูคนเล็กคนน้อยที่ไม่พร้อมจะเดินตามระบบอันแข็งทื่อ หนังยังบอกเป็นนัยว่า โครงสร้างอันบิดเบี้ยวนี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงห้า-หกปีหลัง ทั้งค่านิยม 12 ประการที่ห่อหุ้มโรงเรียน ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เปิดทางเลือก ทั้งระบบให้ทานการกุศลเพื่อกล่อมเกลาชนชั้นล่าง และแน่นอน ตัวร้ายคือระบบการศึกษาที่มีลัทธิอำนาจนิยมถือธงนำ

ถ้าอยากฝันก็ต้องฝันในกรอบ ถ้าฝันนอกกรอบ ความฝันคุณจะถูกทำลาย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นวัยรุ่นในสลัมที่ไม่มีทางเลือกมากนักอยู่แล้ว – นี่คือสิ่งที่การเดินทางของบุ้คและนน (รวมทั้งเพื่อนๆ) บอกกับเราทั้งตรงๆ และอ้อมๆ ทั้งในเนื้อเพลงของพวกเขา และทั้งในรายละเอียดที่หนังบันทึกและส่งผ่าน School Town King ไม่ได้ให้คำตอบกับทุกคำถาม ไม่ได้ขมวดทุกอย่างให้สมบูรณ์ อีกทั้งเรื่องราวของบุ้คและนน ก็ไม่ได้จบไปพร้อมกับตอนจบของหนัง แต่นั่นก็เพราะว่ามันไม่เคยมีคำตอบที่ถูกต้องว่าบุ้คกับนน ควรเลือกอะไรในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จะเลือกเรียนและอยู่ในกรอบโดยต้องจ่ายด้วยราคาของความฝัน หรือจะเลือกออกนอกเส้นที่ผู้ใหญ่ขีดไว้แล้วไปวัดดวงกับความฝันอันไม่แน่นอน  

School Town King หนังดีของปีนี้ครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook