ทำไม Emily in Paris คือซีรีส์พาฝันที่ควรหยิบมาดูซ้ำเวลานี้
5 เหตุผลที่เราจะกลับมาสตรีมมิ่ง Emily in Paris ซ้ำ
1.เราต้องการคอนเทนท์เบาสมอง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวละครเอมิลี่ (ลิลี่ คอลลินส์) แม้เธอจะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด ซึ่งคนทำงานในสายอาชีพนี้ย่อมรู้ดีว่า ความหัวหมุนของงานนี้มีเยอะไม่น้อย ไหนจะต้องคิดแคมเปญ ไหนจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องสังคม ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การตลาด ฯลฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอมิลี่คือทุกอย่างง่ายดายไปหมด ราวกับว่ามันเป็นอาชีพในฝันที่ไม่มีอะไรยากและหนักสมองนัก (ตามที่บทภาพยนตร์เขียน)
อย่างที่บอกไปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน Emily in Paris คือการลดความเคร่งเครียดและสมจริงลง ดังนั้นเมื่อซีรีส์เน้นความเบาบางและพาฝัน มันจึงเป็นซีรีส์เบาๆที่พาคนดูไปเพลิดเพลินกับชีวิตประจำวันของเอมิลี่ที่ดู “รักท่าจะยุ่ง ส่วนงานไม่ต้องมุ่งมั่นมากก็ได้” และเมื่อเราเปิดซ้ำในรอบที่สอง เราก็สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นไปพร้อมๆกับการดูซีรีส์อาทิ เล่นแชทโทรศัพท์กับเพื่อน จัดห้องทำความสะอาด หรือกระทั่งเคลียร์งานไปให้ห้องไม่เงียบจนเกินไป
2.วิวสวยๆ
ปารีส ฉากหลังของเรื่องราว คือเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวของหลายต่อหลายคน ซีรีส์จึงเปิดโอกาสให้คนดูได้เดินทางไปยังสถานที่สวยๆมากมายในเมืองแห่งนี้ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นวิวทิวทัศน์ที่โปร่งโล่งสบายตาประกอบกับการกำกับภาพให้สอดรับกับเรื่องราว ยิ่งทำให้มหานครแห่งนี้มีเสน่ห์มากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว จนเรารู้สึกว่าจบวิกฤติไวรัสระบาดครั้งนี้ต้องไปเยี่ยมเยือนสักครั้ง
3.สำรวจมุมมองการปรับตัวคือสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา
ตัวละครอย่างเอมิลี่ทำให้เราได้เห็นว่า การเป็นคนแปลกหน้าในสภาพแวดล้อมใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคยนั้น เป็นได้ทั้งวิกฤตอันยิ่งใหญ่ของชีวิต หรือเป็นโอกาสที่ท้าทาย โชคดีที่ตัวละครอย่างเอมิลี่ซึ่งจัดเป็นมนุษย์ที่มองโลกในแง่บวกมากถึงมากที่สุด ไม่ว่าจะเจอเจ้านายใหม่ที่พร้อมขัดขาให้หน้าที่การงานเธอหน้าทิ่มล้มคะมำตลอดเวลา แต่เธอก็ยิ้มสู้ (ใช่เอมิลี่ ยิ้มเก่งมากเหลือเกิน) อยู่เสมอ
สิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้พยายามจะบอกคนดูเหลือเกิน คือการปรับตัวให้ชีวิตสามารถเอาตัวรอดไปกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม การเรียนรู้ย่อมเกิดขึ้นเสมอ ภาษาที่เราไม่คุ้นเคย วิถีชีวิตของคนในสังคมใหม่เป็นอย่างไร หรือวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร เป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มนุษย์ควรเรียนรู้อยู่เสมอ
อย่างที่บอกว่าอุปสรรคของตัวละครเอมิลี่อาจจะคลี่คลายและผ่านพ้นไปได้อย่างง่ายดาย แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยจรรโลงใจเราว่า บางครั้งการมีทัศนคติในแง่บวกนั้น ก็ช่วยให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้นได้เช่นกัน
4.หนุ่มแซ่บๆ ที่เราหิว!
ใครจะปฏิเสธว่าหนุ่มๆที่ปรากฏตัวในซีรีส์นี้ แซ่บเอามากๆ อาทิแกเบรียล (ลูคัส บราโว) เชฟหนุ่มสุดหล่อที่อาศัยอยู่ห้องชั้นล่าง ซึ่งรู้หรือเปล่าว่าก่อนที่เขาจะผันตัวมาเป็นนักแสดง ลูคัสเคยทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟจริงๆ ในร้านอาหารฝรั่งเศสฟิวชั่น-ญี่ปุ่นมาก่อน ทำให้ลีลาของเขาในมาดเชฟในเรื่องนี้ดูคล่องแคล่ว มือโปร แน่นอนเมื่อหน้าตาหล่อขนาดนี้เอเจนซี่โมเดลลิ่งจึงจีบเขาไปเป็นนายแบบ ประกอบกับส่วนสูง 185 เซนติเมตร ทำให้เขาเคยได้งานโฆษณาของแบรนด์อย่าง Chanel มาแล้ว!
อองตวน (วิลเลียม อบาดี้) ตัวละครเจ้าของแบรนด์น้ำหอมชาวฝรั่งเศสที่กำลังจะผลิตโฆษณาตัวใหม่ออกมา ซึ่งเขาก็มีรสนิยมเรื่องเซ็กส์อย่างเถรตรงและชัดเจนแบบออกหน้าออกตา ด้วยมาดแบบแดดี้ (ที่ไม่ได้แปลว่าพ่อ) ยิ่งทำให้ตัวละครนี้ทรงเสน่ห์และน่าหลงใหล นอกจากนี้ยังมีหนุ่มๆอีกหลายคนที่แซ่บมาก อาทิน้องชายของคามิลล์ หรือกระทั่งดั๊ก แฟนหนุ่มคนเก่าของเอมิลี่เอง
5.สำรวจมุมมองโซเชียลมีเดีย ใช้ให้ถูกทางก็รุ่งได้
จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางสถานการณ์บ้าๆบอๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของเอมิลี่นั้น สิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้เธอมีความสุขได้คือการถ่ายทอดไลฟ์สไตล์วิถีบล็อกเกอร์ในการโพสต์รูปและเรื่องราวในชีวิตแต่ละวันที่ปารีสผ่านทวิตเตอร์ แม้ช่วงแรกคนจะติดตามเธอไม่ได้มากนัก แต่เมื่อเธอทำคอนเทนท์อย่างสม่ำเสมอจำนวนผู้ติดตามของเธอก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยเหตุนี้เองเอมิลี่จึงกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไปแบบไม่ทันตั้งตัว สิ่งนี้นำมาซึ่งโอกาสบางอย่างและช่วงทำให้งานของเธอสามารถดำเนินต่อไปในมุมที่เธอเองก็คาดไม่ถึงเช่นกัน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้อง Work From Home แบบนี้เชื่อว่าหลายต่อหลายคนก็คงต้องจับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนถี่มากกว่าปกติ การเสพย์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์มากๆก็อาจจะทำให้เราเครียดโดยไม่รู้ตัว บางทีเราก็อาจจะมองอะไรในมุมที่แตกต่าง (อย่างสร้างสรรค์) และสร้างคอนเทนท์แบบเอมิลี่ออกมาบ้างก็ได้นะ
อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่รอ Emily in Paris ซีซั่นที่ 2 อยู่นั้นคงต้องอดใจรอกันอีกสักระยะ เพราะจะเปิดกล้องในปี 2021 นี่แหละ