Sundance Film Festival และหนังไทยในงานตะวันเต้น โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ในปีแห่งไวรัสร้าย ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปแม้แต่งานเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งในอเมริกา
ปีที่แล้วในเดือนมกราคม Sundance เป็นงานใหญ่ที่จัดได้เฉียดฉิวก่อนหายนะโควิด-19 จะลุกลามเข้าไปในอเมริกาในเดือนกว่า ๆ ต่อมา ปีนี้ Sundance Film Festival เปิดงานในวันที่ 28 มกราคมและจะมีไปถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และผู้จัดตัดสินใจแน่วแน่ว่าไม่เลื่อน ไม่เลิก แต่ปรับเป็นงานออนไลน์แทนทั้งหมด ผู้ชมสามารถเข้าไปซื้อตั๋วดูหนังได้โดยต้องดูออนไลน์พร้อม ๆ กัน และสามารถเข้าร่วมการพูดคุยกับผู้กำกับ นักแสดง ในห้องแชทหลังหนังฉาย หรือร่วมการเสวนา งาน Talk และอื่น ๆ โดยผ่านหน้าจอทั้งหมด คือไม่มีการฉายในโรงภาพยนตร์จริง ๆ เลย นี่ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ห้าวหาญมาก เพราะอย่างที่เราทราบกันว่า เทศกาลภาพยนตร์คือการเฉลิมฉลองภาพยนตร์ในรูปแบบ “ดั้งเดิม” อีกทั้งเป็นตลาดหนังให้ผู้ซื้อผู้ขายมาพบเจอ ทำธุรกิจ แบบตัวต่อตัว – คือเป็นทั้งภาคศิลปะและภาคการค้า – การปรับไปจัดออนไลน์ทั้งหมดจึงเท่ากับยอมรับเงื่อนไขของโลกอันยุ่งเหยิงที่บีบให้การดูหนังแบบออริจินัลต้องหลบหลังม่านไปก่อน และยอมรับถึงข้อจำกัดอื่น ๆ เช่นการที่คนดูต้องแยกย้ายกันดูหนังผ่านจอคอม หรือจอทีวีแบบบ้านใครบ้านมัน ส่วนคนสร้างหนังก็ได้เพียงแค่ Zoom ทางไกลเข้ามาทักทายผู้ชมจากอีกโลเคชั่นหนึ่ง (เงื่อนไขการดูหนังจำกัดเฉพาะผู้ชมในอเมริกาเท่านั้น ยกเว้นหากเราขวนขวายมุด VPN กัน)
ในทางกลับกัน การไม่ยอมเลิกหรือเลื่อน แปลว่า Sundance ยังยืนหยัดในตารางชีวิตเดิมของตัวเอง และคงสถานะความสำคัญในการเป็นที่เปิดตัวหนังเป็นงานแรกของปี 2021 ทั้งนี้ เทศกาลหนังอื่น ๆ ที่ปกติจัดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ต่างขยับปรับช่วงเวลาทั้งสิ้น เช่น เทศกาลรอตเตอร์ดามก็เปลี่ยนเป็นแบบ hybrid คือเป็นออนไลน์ในเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเป็นแบบฉายในโรงจริง ๆ ในเดือนมิถุนายน (ถ้าทำได้) ส่วนเทศกาลเบอร์ลิน อีกหนึ่งงานใหญ่ของโลกภาพยนตร์ ก็ปรับไปจัดในลักษณะคล้ายกัน
ส่วนเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประกาศแล้วว่าจะจัดในเดือนกรกฎาคม จากเดิมพฤษภาคม โดยหวังว่าถึงตอนนั้น โลกจะดีขึ้นและหนังจะกลับมาฉายในโรงได้เป็นปกติ (หวังครับหวัง ถ้าไม่หวังก็คงอยู่กันลำบาก)
กลับมาที่ Sundance ถึงงานจะลดสเกลลง วันก็น้อยลง แต่ปีนี้น่าตื่นเต้นเป็นพิเศษสำหรับคนดูหนังไทย เพราะมีหนังไทยถูกคัดเลือกไปร่วมฉาย หนังเรื่อง One For the Road ของ บาส นัฐวฺฒิ พูนพิริยะ (แห่ง ฉลาดเกมส์โกง) เป็นหนังร่วมทุนไทย-จีน ที่มีหว่องกาไว เป็นโปรดิวเซอร์ และรวบรวมเอาดาราดังมากมาย เช่น ธนภพ ลีรัตนขจร (ต่อ), ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ (ไอซ์ซึ), พลอย หอวัง, ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, วิโอเลต วอเทียร์ และ ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง จัดกันมาเต็ม ๆ ทั้งสวยทั้งหล่อ ในเรื่องราวของสองเพื่อนผู้ชายที่คนหนึ่งเป็นมะเร็ง อีกคนจึงกลับจากนิวยอร์คเพื่อพาเพื่อนออกเดินทางขับรถไปหลายจังหวัดในไทยเพื่อสะสางสิ่งติดค้างกับแฟนเก่า หนังยังมีฉากที่ถ่ายในนิวยอร์คอยู่หลายฉากด้วย
One For the Road เป็นหนังไทยเพียงไม่กี่เรื่องในรอบ 20 กว่าปี ที่ได้รับเลือกให้ฉายที่ Sundance แต่อาจจะนับได้ว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้ฉายในสายประกวด (สาย World Dramatic Cinema Competition) ก่อนหน้านี้มีหนังไทยได้ในสายฉายโชว์ (คือไม่ประกวด) เรื่องแรกคือ ฟ้าทะลายโจร (Tears of the Black Tiger) ของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ได้รับเลือกไปฉายในปี 2000 และสร้างความตื่นเต้นไม่น้อยจากสไตล์ retro แสนฉูดฉาดที่ฝรั่งทึ่งและงง ต่อมา ลุงบุญมีระลึกชาติ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ได้ฉายโชว์ในปี 2011 หลังจากหนังโด่งดังจากการได้รางวัลปาล์มทองปีก่อนหน้า จากนั้นมีเรื่อง Pop- Aye หนังสิงคโปร์-ไทย (ถึงเรื่องราวและดาราจะเป็นไทย ผู้กำกับเป็นสิงคโปร์) เรื่องนี้ได้ฉายในสายประกวดในปี 2017 แต่หนังมีสถานะก้ำกึ่ง คือจะว่าเป็นหนังไทยก็ได้ จะว่าเป็นหนังสิงคโปร์ก็ได้ เพราะสิงคโปร์ส่ง Pop-Aye เป็นตัวแทนประเทศไปชิงออสการ์ในปีถัดมา
หากเราพิจารณาหนังไทยสองเรื่องที่ไป Sundance คือเรื่องแรก ฟ้าทะลายโจร ในปี 2000 และเรื่องล่าสุด One For the Road ในปีนี้ จะเห็นได้ถึงความแตกต่างในคอนเซ็ปท์และภาษาภาพยนตร์ ฟ้าทะลายโจร นั้นเป็นการหวนรำลึกถึงหนังไทยโบราณในรูปแบบโพสท์โมเดิร์น ส่วน One For the Road เป็นหนังไทยที่คล้ายกับ American Indie ในลีลาและเรื่องราว หนังสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นการเดินทางของหนังไทยในรอบ 20 ปี ความผกผันของรสนิยมและการตลาด อีกทั้งการเติบโตและความทะเยอทะยานของคนทำหนัง ที่ต่างไปบรรจบพบกันอีกครั้งที่เทศกาลหน้าหนาว (แต่ชื่อร้อน) อย่าง Sundance
ผู้เขียนเชื่อว่า One For the Road หน่วยก้านดูเข้าทางกับ Sundance และมีโอกาสไปได้ไกลหลังจากเปิดตัวที่นี่ (แค่เสียดายว่าปีนี้ไม่ได้ป็นเทศกาลแบบตัวเป็น ๆ ) Sundance Film Festival เป็นเทศกาลหนังที่มีรสนิยมแบบอเมริกัน จัดมาตั้งแต่ปี 1994 ที่เมืองพาร์คซิตี้ รัฐยูท่าห์ มีหนังที่มาเปิดตัวและโด่งดังที่นี่ตลอดมา เช่น Reservoir Dogs ของเควนติน ตารันติดโน่ Sex, Lies and Video Tape ของสตีเว่น โซเดอเบิร์ก สองเรื่องนี้เป็นคลาสสิคของหนังอเมริกันอินดี้ยุค 90 หลัง ๆ มาก็มีหนังดังอย่าง Little Miss Sunshine, Get Out, Whiplash และ Call Me By your Name
เท่าที่ทราบตอนนี้ One For the Road ยังไม่มีชื่อไทย ส่วนชื่ออังกฤษนั้นหมายถึง เหล้าแก้วสุดท้ายที่ดื่มทิ้งทวนก่อนกลับบ้าน รอฟังข่าวกันว่าหนังจะเข้าเมืองไทยเมื่อไหร่
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ