#แบนข่มขืน วังวนขมขื่นของละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

#แบนข่มขืน วังวนขมขื่นของละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

#แบนข่มขืน วังวนขมขื่นของละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาอีกแล้วแม่เอ๊ย กระแสความแบนละคร ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในทวิตเตอร์ เมื่อฉากข่มขืนในละคร ทำให้คนเสพย์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถึงขั้นแบนกันเป็นประเด็นใหญ่โตทีเดียวเชียว กะเทยนิวส์เลยต้องขอคาบข่าว มาบอกเล่าเมาท์มอยกันซะหน่อยนะเธอ ว่ามันเกิดอะไรอย่างไรแล้วซิ

ไปค่ะ กับแฮชแท็กร้อน #แบนเมียจำเป็น

เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ละคร เมียจำเป็น ที่ออกอากาศทางช่อง 3 เป็น EP ที่ 9 แล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เนื้อเรื่องที่ผ่านเรื่องราวมาประมาณหนึ่ง ทางตัวร้าย ไอ้บัติ (เอกซ์ ธิตินันท์) ที่แค้นเคืองพระเอก โตมร (ไม้ วฤษฎิ์) ได้จับตัวนางเอก ตะวัน (พาย รินรดา) ไปเพื่อทำร้ายและอัดคลิป โดยในคลิปพยายามจะหลอกพระเอกว่าตัวเองนั้นได้ข่มขืนนางเอกไปแล้ว ก่อนจะมีการช่วยเหลือกันออกมาได้

ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็คงจะไม่มีดราม่าอะไร แต่ทว่าซีนหลังจากนั้น เมื่อพระเอกได้มาพบนางเอกที่ห้องพักคนไข้ แทนที่คุณพระคุณเจ้าจะเข้าไปดูแลด้วยความห่วงใย ดันยืนอยู่หน้าประตู แสดงท่าทางขบคิด ทบทวน แสดงออกทางสีหน้าประหนึ่งว่าตัวเองกำลังชั่งใจว่าจะอย่างไรดี เหมือนรังเกียจที่นางเอกถูกข่มขืนมาก็ไม่ปาน

ยังค่ะคุณกิตติขา ไม่เพียงเท่านั้น หากคุณเห็นความบอบช้ำภายในนาทีนี้ เหล่านางร้ายยังพร้อมใจกันซ้ำเติมนางเอกอีก ถึงขั้นบุกมาถึงห้องพักคนป่วยพูดจากถากถาง ถามย้ำลงไปอีกว่า “โดนไปกี่ดอกล่ะ” 

 

เห้ย เป็นพี่ พี่ไม่ถามนะคะ มารยาทนิดนึงค่ะ

แน่นอน ความอลังการงานหยาบเบอร์นี้ ชาวเน็ตย่อมไปปล่อยผ่าน ละครออนแอร์ไปยังไม่ทันจะข้ามวัน ดราม่าก็เกิดขึ้นหนึ่งยก เมื่อพระเอกของเรา คุณไม้ วฤษฎิ์ เปิดประเดิมด่าตัวละครตัวเองไปก่อนเลยหนึ่งยก แถมยังซัดกลับชาวเน็ตที่ไปทวงถามสติกับเจ้าตัวระหว่างถ่ายทำไปอีกดอกว่า ให้ไปถามพิง ลำพระเพลิง ผู้กำกับเรื่องนี้เอาเอง ว่าทำอะไรแบบนี้ออกมาได้อย่างไร

เมื่อนักแสดงเป็นตัวเปิดเบอร์นี้ แน่นอนว่าหลังจากนั้นก็คือยับมากแม่ จนกลายเป็นแฮชแท็ก #แบนเมียจำเป็น และไปถึงจขั้น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ซึ่งเป็นการสะท้อนการตื่นตัวถือการเฝ้าระวังสื่อไม่ให้นำเสนอสิ่งที่ไม่ถูกต้องบนหน้าจอนั่นเอง

ท่ามกลางดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ กะเทยก็ขอพาแวะพาเอี่ยวกับประเด็นที่ถูกหยิบมาเกี่ยวข้องกับดราม่านี้ ว่าเราควรที่จะระวังอะไรกันบ้าง และศัพท์แสงที่เขาพูดถึงกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสื่อ มันมีอะไรกันบ้างหนอ

  • Rape Culture

แน่นอนว่าสิ่งนี้เทยเคยพูดไปแล้วในบทความก่อนๆ แต่ก็กลับกลายเป็นว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงลงเหลืออยู่เป็นวัฒนธรรมในคอนเทนต์บ้านเราอย่างไม่น่าเชื่อ กับความคิดที่ว่า พระเอกจะทำอะไรกับนางเอกก็ได้ เพราะงั้น “ข่มขืน” เสียเลยให้จบจบไป ซึ่งนั่นถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศอย่างนึงเลยค่ะ

เดิมทีพล็อตประเภท ฉุดกระชากลากถูกตัวนางเอกผู้แสนบอบบาง ดูแลตัวเองไม่ได้นั้น เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากมาตั้งแต่วรรณคดีไทยแล้ว ตัวละครนางเอกทุกตัว มักจะเป็นวัตถุอะไรสักอย่างให้ตัวละครชายลากพาไปอย่างไรก็ได้ ประหนึ่งไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไล่มาตั้งแต่นางสีดารามเกียรติ์ มาจนกากี วันทองเองก็ตามแต่ ซึ่งเมื่อผู้ชายมีอำนาจ การจะไขว่คว้าเอานางในดวงใจมาเป็นของตัวเองได้นั้น ก็มีเพียงแต่ต้องฉุดเท่านั้น

ใครฉุดเธอให้อยู่กับที่ ลงหลักฐานได้กับตัวแล้ว ก็เป็นอันว่าเธอจะตกเป็นสมบัติของคนคนนั้นไป ซึ่งดูเป็นความสวยงามทางวัฒนธรรม แต่หารู้ไม่ค่ะ นี่มันการละเมิดทางเพศชัดๆ

  • Victim Blaming

มากกว่ากรณี Rape Culture ที่ปรากฏแล้วปรากฏอีก จนชาวเน็ตทนไม่ไหวกันอีกต่อไป ขอให้มันจบที่ละครเมียจำเป็นในช่วงนี้ คือนอกจากข่มขืนแล้ว คือการที่คนไปโทษเหยื่ออีก ซึ่งนั่นเป็นการกระทำที่ร้ายกาจเอามากๆ ซึ่งไม่แค่ปรากฏผ่านตัวละครนางร้ายเท่านั้น แต่ในกรณีเมียจำเป็น ตัวนายหัวโตมร ก็ออกอากาศเหมือนจะรังเกียจอยู่ในทีมากขึ้นไปอีก

การโทษเหยื่อ และผลักภาระไปให้เป็นความรับผิดชอบต่อเหยื่อ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อาชญากรรมเกี่ยวกับการข่มขืนในบ้านเราไม่ไปถึงไหนเลยนะแม่นะ เพราะลำพังการที่เหยื่อถูกข่มขืนนั้น ก็เป็นเรื่องที่เหยื่อต้องรับสภาพที่ยากลำบากพออยู่แล้ว แต่หากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ไม่ช่วยสนับสนุน เป็นแรงเป็นกำลังให้เหยื่อต่อสู้เพื่อให้มีสภาพจิตใจที่ดีต่อไปได้ การเอาผิด หรือการปรับเปลี่ยนสังคมก็จะยากลำบากตาม

เพราะตามสถิติแล้ว สิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยเกี่ยวกับกรณีข่มขืนก็คือ “แต่งตัวโป๊เองหรือเปล่า” หรือ “ไปยั่วเขาเองหรือเปล่า” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นความผิดปกติอยู่มาก เพราะในละครเมียจำเป็นก็ทำให้เห็นแล้วว่า ตัว “ตะวัน” ไม่ได้แต่งตัวดู “ยั่วเพศ” เลยตะเธอ กลับกัน นางร้ายที่มากล่าวโทษนาง ดันแต่งตัวจัดกว่าเสียอีก ซึ่งในโลกจริง เหยื่อที่ถูกข่มขืน ล้วนไม่ใช่คนที่แต่งตัวจัดจ้าน หากแต่เป็นการแต่งตัวที่ฉุดกระชากง่ายมากกว่านั่นเอง 

 

  • Soft Power

คำนี้ เป็นสิ่งที่อาจจะต้องแยกออกมาจากกรณีดราม่าข่มขืนในจอกันเสียหน่อย คำว่า Soft Power ก็คือสื่อในจอทั้งหลายทุกรายการ ต่างก็มีพลังอันเบาบาง ในการขับเคลื่อนทัศนคติของคนเราไปข้างหน้าไม่ว่าจะแง่หนึ่งแง่ใดก็ตาม สื่อจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของคนในสังคมได้มากกว่าการศึกษาเสียอีก สื่อที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ดี ก็จะระมัดระวังในเรื่องเนื้อหา ที่จะส่งต่อไปถึงสังคมได้เช่นกัน

การมีฉากอาชญากรรมทางเพศในซีรีส์นั้น มีทั่วไปในทุกชาติ แต่มันหักลบกับกลไกทางสังคมนั้นๆอีกที ในประเทศที่อาชญากรรมทางเพศพุ่งสูง แต่สื่อในจอดันไม่ได้ช่วยรณรงค์ให้เกิดการตระหนักรู้ มิหนำซ้ำ ยังผลิตซ้ำภาพจำของการข่มขืน และความรุนแรงที่ไม่ได้ทำให้เหยื่อเกิดความปลอดภัยขึ้นได้อีก มันก็ยิ่งสะท้อนความล้มเหลวของสื่อในบ้านเมืองนั้นอ่ะเธอ

แน่นอนมาตรฐานเหล่านี้ต้องใช้ได้กับทุกเพศด้วยนะคะเธอ ไม่ใช่ว่าการเห็นการข่มขืนในเมียจำเป็นเป็นเรื่องรับไม่ได้ แต่พอเป็นซีรีส์วายที่พระเอกปล้ำนายเอก ชาวทวิตเตี้ยนดันปั่นกระแสจิกหมอน นี่ก็ไม่ได้นะคะ ก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะมันก็คือ Sofe Power ในรูปแบบหนึ่งเหมือนกันเธอ

 

อีกประเด็นที่มีการหยิบยกมาเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆจากดราม่านี้ก็คือ หากตัดเรื่องหลักการความถูกต้องในสื่อไป ซีรีส์บ้านเรา เมื่อเทียบกับตลาดโลก ก็เป็นอะไรที่ชวนขมวดคิ้วเหลือเกิน ในขณะที่เกาหลี นางมีคอนเทนต์ไปอวกาศลง Netflix ไปแล้ว แต่เมียจำเป็นบ้านเรายังหนีไม่พ้นเรื่องข่มขืน หรือร้ายที่สุด ก็ยังหนีไม่พ้นคอนเทนต์ผัวเมีย นี่ก็เป็นอะไรที่บ่าไหวเลยแม่

แต่ในแง่หนึ่ง ก็นับว่ากระแสดราม่า เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าคนดูตื่นตัว และไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ฉายบนจอ แต่หลายคนกำลังเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และพร้อมจะแบนทุกคอนเทนต์ ที่ไม่ช่วยผลักดันให้สังคมเป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้อ่ะค่ะ

อย่านะคะ อย่านะคะ คนดูเห็นนะคะ

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ #แบนข่มขืน วังวนขมขื่นของละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook