มาร์ติน สกอร์เซซี: เราต้องการ "ภาพยนตร์" ไม่ใช่ "Content" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

มาร์ติน สกอร์เซซี: เราต้องการ "ภาพยนตร์" ไม่ใช่ "Content" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

มาร์ติน สกอร์เซซี: เราต้องการ "ภาพยนตร์" ไม่ใช่ "Content" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ออกมาพูดหรือเขียนเมื่อไหร่ มาร์ติน สกอร์เซซี สร้างเฮดไลน์ข่าวและการถกเถียงในวงกว้างได้เสมอ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน สกอร์เซซี ตีพิมพ์บทความในนิตยสาร Harpers’ เล่าถึงผู้กำกับระดับตำนานชาวอิตาเลียนและเพื่อนเก่าของเขา เฟเดริโก เฟลลินี่ (La Strada, La Dolce Vita, 8 ½) แต่บทความเรียกเสียงฮือฮาเมื่อสกอร์เซซีเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์ความเสื่อมถอยและการถูกทำให้ด้อยค่าของศิลปะภาพยนตร์ ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมาและไม่อ้อมค้อม สกอร์เซซีแสดงความอึดอัดกับการที่ภาพยนตร์ถูกทำให้กลายเป็นเพียง “Content” แทนที่จะเป็น “Cinema” อย่างที่มันควรจะเป็น

ตรงนี้แหละครับที่เปิดประเด็นแห่งยุคสมัย ถ้าจำกันได้ ปีก่อนสกอร์เซซีเคยพูดในการให้สัมภาษณ์ว่า หนังซูเปอร์ฮีโร่ของ Disney และ Marvel ไม่ใช่ “ภาพยนตร์” (“Not Cinema”) คือประมาณว่าหนังแบบนี้อาศัย Special Effect ไม่มีลีลาและศิลปะที่ทำให้ภาพยนตร์กลายเป็นสื่ออันรุ่มรวยทางความคิดมาตลอดศตวรรษที่ 20 คำสัมภาษณ์นี้ทำให้ผู้บริหาร Disney ต้องออกมาปัดป้อง (ด้วยนำเสียงเกรงใจ) ส่วนแฟนๆ หนังซูเปอร์ฮีโร่รุ่นเยาว์ต่างพากันถากถางว่าสกอร์เซซีเป็นพวกคนแก่หัวสูงที่ไม่ปรับตัวไปตามสมัย (เอ่อ ถ้าหนังสกอร์เซซีไม่ “ทันสมัย” นี่ก็ไม่รู้จะเริ่มอธิบายยังไง)
มาคราวนี้ถึงสกอร์เซซีจะไม่ได้เขียนบทความเพื่อวิจารณ์โลกภาพยนตร์ยุคใหม่ตรงๆ เพราะนี่เป็นบทความรำลึกถึงผู้กำกับคนสำคัญของโลกคือเฟลลีนี่ แต่บทความเปิดเรื่องแบบนี้

…the art of cinema is being systematically devalued, sidelined, demeaned, and reduced to its lowest common denominator, “Content.” – ศิลปะภาพยนตร์ถูกลดค่า กีดกัน ดูหมิ่น และลดทอนให้จนมีเพียงคุณค่าต่ำเตี้ย ในนามของ “Content”

สิ่งที่สกอร์เซซีกำลังอธิบายคือ คำว่า Content ที่ถูกใช้กันจนเกร่อในปัจจุบัน คือเอะอะอะไรก็ Content แต่ก่อนคำๆ นี้ในทางภาพยนตร์ ถูกใช้ในอีกความหมายและอีกในบริบท คือ Content แต่เดิมหมายถึงเนื้อหาของหนัง ผู้กำกับหรือนักวิชาการให้คำนี้เพื่ออธิบายความแตกต่างจาก form หรือรูปลักษณ์ สไตล์ องค์ประกอบทางภาพและเทคนิคอื่นๆ สรุปแบบง่ายๆ คือ Content แต่เดิมมีความหมายในการวิเคราะห์เนื้อหาในฐานะที่แตกต่างจากรูปฟอร์มของหนัง แต่ในปัจจุบัน สกอร์เซซีมองว่า การใช้คำว่า Content อย่างพร่ำเพรื่อโดยนักการตลาดภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์จริงๆ ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกระแสธารของสินค้าอื่นๆ เช่นโฆษณา คลิปวีดีโอแมว หรือเอพิโสดหนึ่งในซีรี่ส์ ไม่มีการแยกแยะถึงจุดประสงค์ของเนื้อหาแต่ละประเภท จนทำให้คนทำหนังและศิลปะหนังถูกละลายเข้าไปในระบบและหมดค่าหมดราคา

สกอร์เซซีเป็นผู้กำกับอเมริกันที่มีผลงานขึ้นหิ้งมากมายมากว่า 40 ปี เป็นคนรักหนังและเห็นความเปลี่ยนแปลงของฮอลลีวูดมาหลายยุคสมัย ในบทความเขายังเขียนตรงๆ ว่า “เราไม่ควรปล่อยให้ธุรกิจภาพยนตร์มาดูแลภาพยนตร์” ไม่เหมือนกันนะครับ สองอย่างนี้ “อุตสาหกรรมหรือธุรกิจภาพยนตร์” และ “ภาพยนตร์” ในฐานะศิลปะและงานสร้างสรรค์ สกอร์เซซีไม่ได้จะประกาศสงครามหรือจะเหยียดหยามใคร หรือจะยืนโดดเด่นท้าทายระบบที่เป็นอยู่ เพราะเขาก็เขียนด้วยว่า ระบบใหม่อย่าง Netflix ช่วยให้เขาได้สร้างหนังยุคหลังของเขา ที่เด่นที่สุดคือ The Irishman

ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ค่อยแฮปปี้ที่คนดูหนังถูกสร้างให้กลายเป็นคนเสพ “Content” เป็นผู้บริโภคที่ไม่มีปากเสียง ด้วยการควบคุมของอัลกอริทึมและลงเอยด้วยการจำกัดการรับรู้และรสนิยม
สกอร์เซซียังบอกว่า การ Programming หรือ Curating – คือการที่โรงหนังหรือระบบการจัดจำหน่ายหนัง “เลือก” หนังให้คนดูผ่านทางกรอบความคิดแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงหนังในเมืองนอกทำกันมาแต่ไหนแต่ไร – เป็นสิ่งสำคัญในโลกปัจจุบัน เพราะนี่คือการแบ่งปัน เปิดกว้าง แลกเปลี่ยนความคิด นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายคนดู แทนที่จะเทรวมทุกอย่าง ทั้งภาพยนตร์ ละคร วีดีโอสัตว์โลก โฆษณาจริง โฆษณาแฝง คลิปจากกล้องวงจรปิด ฯลฯ ลงไปในกองเดียวกันจนเขละและกลายเป็นก้อนอะไรสักอย่างที่เรียกรวมๆ อย่างไร้ความหมายว่า “คอนเทนท์”

ฟังดูเผินๆ บางคนอาจจะคิดว่าสกอร์เซซีคิดมากไป หรือ “แก่” เกินไป แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับเขาแทบทุกประเด็น เพราะสกอร์เซซีไม่ได้บอกให้เราเลิกดูวีดีโอแมวแล้วไปดูหนังอาร์ตแทน ไม่เลย เขากำลังบอกว่า เราควรดูหนังหลายๆ ประเภท ควรใจกว้างกับหนังที่เราไม่คุ้นเคย และเห็นว่าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ยิ่งใหญ่พอๆ กับประวัติศาสตร์ศิลปะแขนงอื่นๆ และทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของธุรกิจภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง สตูดิโอหรือสตรีมมิ่ง ที่ควรสร้างความหลากหลาย เพิ่มทางเลือก และให้โอกาสคนดูมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้

อ่านบทความของสกอร์เซซีเต็มๆ ได้ที่นี่ https://harpers.org/archive/2021/03/il-maestro-federico-fellini-martin-scorsese/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook