Raya and the Last Dragon เหตุเกิดจากความไว้ใจ อาเซียนจะรวมกันได้จริงหรือ ?
สิ่งที่จัดได้ว่าน่าตื่นเต้นที่สุดคือการที่สตูดิโอดิสนีย์ได้ประกาศว่าจะมีการสร้างแอนิเมชั่นที่มีตัวละครเป็นชาวอาเซียน จนทำให้คนไทยอย่างเรารอลุ้นว่าจะได้เห็นวัฒนธรรมของชนชาติไหนปรากฏอยู่ใน Raya and the Last Dragon บ้าง ซึ่งหลังจากที่ได้ชมแล้วก็คงต้องบอกว่าไม่ผิดหวังเลย เพราะหลากวัฒนธรรมในหนังเรื่องนี้มีความหลากหลาย และหยิบเอาจุดเด่นของวัฒนธรรมแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานำเสนอผ่านองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม (บ้านเรือน พระราชวัง ตลาดน้ำ) ยวดยานพาหนะ (เรือ เกวียน) เครื่องแต่งกายของตัวละคร สภาพพืชพรรณไม้ที่เป็นสิ่งมีชีวิตในเขตร้อนชื้น เป็นต้น
ส่วนเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Raya ว่าด้วยตำนานอาณาจักรคูมันดราดินแดนอันยิ่งใหญ่ที่มีแม้น้ำสายใหญ่ไหลผ่านเมืองทั้ง 5 อันประกอบไปด้วย หัวใจ กรงเล็บ เขี้ยว สันหลัง และหาง ซึ่งก่อนหน้านี้มังกรเป็นผู้ดูแลความสงบสุขของอาณาจักรไว้ จนกระทั่งอสูรร้ายดรูนบุกโลก ทำให้เหล่ามังกรต้องสละชีวิต เหลือไว้แค่เพียงอัญมณีมังกรที่เก็บไว้ในเมืองหัวใจเพื่อรอวันจะมีคนกอบกู้และรวมเมืองทั้งห้าให้กลับมาเป็นอาณาจักรคูมันดรากลับมาอีกครั้ง
หลังจากกาลเวลาได้ผ่านพ้นไปนับ 500 ปี เบญจา ผู้ครองเมืองหัวใจ อยากจะให้ทั้ง 5 เมืองกลับมาเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง เขาจึงจัดงานฉลองและเชิญเจ้าเมืองทั้ง 4 มาร่วมงาน รายา เจ้าหญิงแห่งเผ่าหัวใจได้พบกับนัมมาอารี เจ้าหญิงจากเผ่าเขี้ยว ทั้งสองดูจะเข้าขาและเป็นเพื่อนกันได้ดี จนกระทั่งนัมมาอารีได้เผยธาตุแท้ออกมาว่าเธอต้องการจะชิงอัญมณีมังกรไปให้เมืองของตัวเอง ส่งผลให้เกิดความโกลาหลจนอัญมณีมังกรแตกออกเป็น 5 ส่วนและดรูนก็หลุดออกมาอีกครั้ง ส่งผลให้ผู้คนที่โดนดรูนเข้าสิงกลายร่างเป็นหิน ส่วนคนที่เหลือรอดก็พยายามหนีตายเพื่อกลับไปยังเมืองของตัวเอง อีกหลายปีผันผ่านรายาได้เติบใหญ่เป็นหญิงสาวนักผจญภัย เธอและเพื่อนสัตว์เลี้ยงคู่ใจอย่างตุ๊กตุ๊ก จึงต้องออกเดินทางไปยังเมืองต่างๆเพื่อรวบรวมอัญมณีมังกรให้กลับคืนมาและทำความฝันของพ่อเธอในการรวบรวมอาณาจักรคูมันดราให้กลับมาอีกครั้ง
ท่ามกลางความแฟนตาซีสุดบรรเจิดที่เกิดขึ้นใน Raya and the Last Dragon เผยให้ผู้ชมเห็นว่าต้นเหตุแห่งความวุ่นวายทั้งหมดนั้นเริ่มต้นขึ้นมาจากมนุษย์เองที่ต้องการจะชิงดีชิงเด่นและแย่งชิงความเป็นหนึ่งในการปกครองอาณาจักร แน่นอนว่าถึงรายาจะเป็นแอนิเมชั่น แต่หนังก็สะท้อนภาพจริงของหลากหลายประเทศในโลกปัจจุบันที่ต้องการจะครอบครองทรัพยากรของประเทศอื่นๆ
มังกรซิซูที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากคำอธิษฐานของรายาจึงเปรียบเสมือนผู้พิทักษ์และความหวังในการที่เธอจะออกเดินทางไปยังเมืองต่างๆเพื่อรวบรวมชิ้นส่วนของอัญมณีมังกรกลับมาอีกครั้งเพื่อกำจัดดรูนให้หายไป
อย่างไรก็ตามเมื่อเราลองวิเคราะห์กลับไปยังจุดเริ่มต้นแห่งความวุ่นวายตลอดทั้งเรื่องใน Raya เราจะพบว่า เพราะความไร้เดียงสาของรายาเองที่สนิทสนมกับนัมมาอารีเพียงไม่กี่ชั่วโมง แม้ว่าทั้งสองคุยกันอย่างถูกปากถูกคอ การที่รายาเองยอมเผยความลับของเมืองหัวใจว่าอัญมณีมังกรถูกเก็บไว้ตรงตำแหน่งไหนของเมือง ทำให้นัมมาอารีเผยธาตุแท้ออกมาว่า เธอเลือกจะตีซี้รายาเพียงแค่หวังผลประโยชน์นั่นเอง สิ่งที่ทำให้รายาเจ็บปวดมากกว่าสิ่งใดคือการที่เธอต้องสูญเสียพ่อไปจากผลของความไว้ใจ “คนแปลกหน้า” สิ่งนี้เองที่ทำให้มันกลายเป็นปมในจิตใจของตัวเองในเวลาต่อมา และหนทางเดียวที่เธอจะได้พ่อกลับคืนมาคือต้องทำภารกิจรวบรวมอัญมณีมังกรให้ครบนั่นเอง
ระหว่างที่รายาเดินทางท่องไปในเมืองต่างๆเราจะได้เห็นว่า จริงๆแล้วบรรดาผู้คนในเมืองต่างๆก็ล้วนแล้วแต่ไม่มีความไว้ใจกันเท่าไหร่นัก และเรื่องผลประโยชน์มักจะมาก่อนมิตรภาพเสมอไม่ว่าจะเป็นบุญ เด็กชายเจ้าของเรือ น้อยและผองเพื่อนลิงจอมฉก ทอง ซึ่งพวกเขาทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สูญเสียครอบครัวของตัวเองให้กับดรูน และก่อนที่พวกเขาจะกลายมาเป็นมิตรกับรายา ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่คาดหวังผลประโยชน์จากฝ่ายตรงข้ามก่อนเช่นกัน
ดูเหมือนว่าเมืองอย่างเขี้ยวที่ปกครองโดยราชินีไวรานา มารดาของเจ้าหญิงนัมมาอารี เสื้อผ้าอาภรณ์ของเธอที่ดูเนี้ยบและสง่าผ่าเผย แต่ลึกเข้าไปในจิตใจของเธอนั้นแท้ที่จริงเต็มไปด้วยแผนการที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องเมืองของตัวเองให้อยู่รอด โดยไม่สนใจเลยว่าเมืองอื่นๆจะมีสภาพเป็นตายร้ายดีอย่างไร ความเห็นแก่ตัวดังกล่าวนี้เองที่เธอบ่มเพาะให้ลูกสาวต้องพยายามข่มคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ลึกๆในใจของนัมมาอารีนั้นเนื้อแท้แล้วเธอก็คาดหวังอยากจะให้ทุกๆเมืองกลับมารวมตัวกันเป็นอาณาจักรคูมันดราเช่นเดียวกับรายา
ถึงแม้ว่าปลายทางของ Raya and the Last Dragon จะไม่มีอะไรยากเกินคาดเดา แต่สุดท้ายแล้วอุดมคติของหนังก็ช่วยเพิ่มความหวังให้กับผู้ชมว่าถ้าหากวันหนึ่งเหล่าหลากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถรวมกันมาเป็นปึกแผ่นกันได้สักวันก็คงจะดี (ดีจริงไหมนะ)