Nomadland สัญชาตินั้น (ไม่) สำคัญที่ไหน โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Nomadland สัญชาตินั้น (ไม่) สำคัญที่ไหน โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Nomadland สัญชาตินั้น (ไม่) สำคัญที่ไหน โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดราม่าหลังงานแจกรางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globes) เกิดขึ้นในประเทศจีน คาบเกี่ยวพัวพันกับฮอลลีวูด และบ่งชี้ถึงการเมืองแห่งอัตลักษณ์และนิยามของคำว่า “ชาตินิยม” ที่ยังถกเถียงกันไม่จบ

เรื่องเกิดขึ้นหลังจากภาพยนตร์เรื่อง Nomadland ของผู้กำกับ โคลอี เจา (Chloe Zhao) ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์สาขาดราม่า และตัวเธอได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย ชื่อโคลอี เจา ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นคนจีน เธอเกิดที่ปักกิ่ง พออายุ 15 พ่อแม่ส่งเธอไปเรียนที่อังกฤษ และจากนั้นไปเรียนภาพยนตร์ที่นิวยอร์ก และใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาแทบจะตลอดหลังจากนั้น (ตอนนี้เธออายุ 39 ปี) หนังเรื่องก่อนหน้านี้ของเธอคือ The Rider ว่าด้วยคาวบอยบาดเจ็บที่พยายามต่อสู้บาดแผลในใจเพื่อกลับมามีชีวิตใหม่ โด่งดังขึ้นมาหลังจากได้รางวัลในสาขา Directors’ Fortnight ที่เทศกาลเมืองคานส์เมื่อสี่ปีก่อน

 Chloe Zhao Chloe Zhao

ส่วนหนังใหม่ของเธอ Nomadland นำแสดงโดยฟรานเซส แมคดอร์แมนด์ เป็นผู้หญิงที่ทิ้งบ้านและออกเดินทางไปทั่วฝั่งตะวันตกของอเมริกา เป็นบทกวีแห่งคนไร้รากท่ามกลางภูมิประเทศเวิ้งว้างของอเมริกา หนังเปิดตัวที่เทศกาลเวนิสปีที่แล้วและได้รางวัลสิงโตทองคำ พอมาได้ลูกโลกทองคำอีกเท่ากับว่าหนังเป็นเต็งหนึ่งออสการ์ปีนี้ และผู้เขียนฟันธงเลยว่า เธอจะได้รางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมปีนี้อย่างแน่นอน

ทั้ง The Rider และ Nomadland เป็นหนังที่บ่มเพาะจากจิตวิญญาณอเมริกันมาก ๆ ทั้งตัวละครคาวบอยและภาพภูมิทัศน์แห่งการค้นหาและการโหยหาเสรีภาพ น่าสนใจมากว่าโคลอี เจา เป็นคนจีน (โดยกำเนิด) ที่สามารถเข้าถึงพลังของเรื่องเล่าแบบอเมริกันชนเช่นนี้ได้

มาถึงดราม่าที่เปิดหัวไว้ หลังจาก Nomadland ได้รางวัลลูกโลกทองคำ สื่อในจีนต้อง “เล่นกายกรรมทางความคิด” บิดเรื่องเล่าและข่าวพีอาร์ เพื่อตอบสนองสองเป้าหมายอย่างไปพร้อม ๆ กัน คือหนึ่ง ต้องโปรโมทความสำเร็จของจาวในฐานะศิลปินคนทำหนัง “เชื้อชาติจีน” และสอง ต้องทำเป็นมองข้ามความจริงที่ว่า จาวแทบจะกลายเป็นคนอเมริกันไปแล้ว แถมหนังที่เธอสร้างก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจีนแม้แต่น้อย

NomadlandNomadland

หลังจากนั้นเรื่องเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อมีคนไปขุดเอาคำสัมภาษณ์ของจาวเมื่อหลายปีก่อน ที่เธอพูดว่า “ประเทศจีนมีแต่เรื่องโกหก” และ “อเมริกาน่าจะเป็นประเทศของฉันไปแล้ว” ซึ่งจะว่าไป นี่ก็ไม่ได้เป็นความคิดที่แปลกประหลาดหรือรุนแรงอะไรสำหรับคนที่ไปใช้ชีวิตและทำงานในอเมริกามากว่า 20 ปี แต่สำหรับคนจีนสายแข็ง และสำหรับทางการจีนที่จ้องหาโอกาสโฆษณาชวนเชื่อในทุกเรื่อง นี่เท่ากับเป็นการหักหน้าและปฏิเสธ “ความเป็นจีน” ที่จีนพยายามสวมให้จาว

คนจีนรักชาติเรียกร้องให้จาวเปิดเผยว่าตอนนี้เธอถือสัญชาติอะไรกันแน่ และหลายคนก็โกรธว่า จีนจะไปร่วมฉลองความสำเร็จของจาวทำไมหากเธอไม่ใช่คนจีนแล้ว แถมแฮชแท็กและหัวข้อสนทนาเรื่อง Nomadland และโคลเอ จาว ที่ไม่เข้าทาง ก็ถูกไล่ลบในแพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศจีน วุ่นวายกันไปใหญ่ ส่วนโอกาสที่หนังจะได้เข้าฉายในจีน เริ่มริบหรี่ลง ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกเหมือนกับว่าจะได้ฉายแน่เพราะหนังเรื่องนี้มีผู้กำกับเป็นคน “จีน”

เรื่องที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลในยุคใหม่ของอัตลักษณ์แห่งงานศิลปะ และความไม่สมเหตุสมผลที่ต้องแปะป้ายว่างานชิ้นใดชิ้นหนึ่งมีสัญชาติหรือเชื้อชาติอะไร แน่นอนว่าศิลปะไม่ได้ลอยตัวอยู่เหนือทุกสิ่ง ไม่ได้สูงส่งกว่าการโต้เถียง แต่ขณะเดียวกันศิลปะก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือทางความคิดของฝ่ายอำนาจ การต่อรองระหว่างจีนกับอเมริกาในทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า ยังลุกลามมาที่ภาพยนตร์ด้วยในหลายรูปแบบ เช่นการที่จีนกำหนดโควต้าหนังต่างประเทศที่สามารถเข้าฉายได้ ในขณะที่ฮอลลีวูดก็ไม่ได้หยิ่งผยอง และเอาใจจีนด้วยซ้ำในการปรับบทหรือเลือกนักแสดงจีนมาเล่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตีตลาดขนาดมหึมาของจีน แต่ในทางเดียวกัน หนังอย่าง Nomadland และคำสัมภาษณ์ของจาว ก็ยืนหยัดในค่านิยมแบบอเมริกันที่ดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับทัศนคติแบบกำปั้นเหล็กของจีน

ส่วนคนไทยก็เฝ้ามองดราม่านี้ และรอชม Nomadland ที่น่าจะเตรียมเข้าโรงในเร็ววันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook