The Serpent ฆาตกรโรคจิตและกรุงเทพในยุค 70 โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
กรุงเทพมหานครในกลางทศวรรษที่ 1970 ฉูดฉาดด้วยสีสัน คุกรุ่นด้วยภัยคอมมิวนิสต์ เมืองแห่งสปายและอาชญากรข้ามชาติ เมืองที่ตำรวจเช้าชามเย็นชาม และเมืองที่ฝรั่งเดินเหงื่อแตกกลางจราจรที่คับคั่ง ทั้งนักท่องเที่ยว ฮิปปี้ และเจ้าหน้าที่สถานทูต – ส่วนหนึ่งที่ว่ามานี้เป็นความจริง อีกส่วนเป็นภาพจำลองของกรุงเทพที่ซีรีส์ The Serpent (สร้างโดย BBC ฉายแล้วใน Netflix) นำเสนอ ความเห็นต่อหนังชุดนี้แตกเป็นสองฝ่าย บ้างว่าสนุกสนานน่าติดตาม บ้างว่าเล่าเรื่องกระโดดไปมาจนงง แต่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า The Serpent เป็นหนังฝรั่งที่สร้างภาพกรุงเทพย้อนยุคได้มีเสน่ห์และชวนมอง มากที่สุดในบรรดาหนังต่างชาติหลัง ๆ ที่เข้ามาถ่ายทำในไทย
คร่าว ๆ The Serpernt เป็นซีรีส์ 8 ตอน ว่าด้วยเรื่องจริงของนายชาร์ล โสปราช เกิดที่ไซง่อน โตที่ฝรั่งเศส และกลายเป็นนักต้มตุ๋นและฆาตกรที่ออกล่าเหยื่อในอินเดีย เนปาล ปากีสถาน และไทย ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ช่วงเวลาของ “Hippie Trail” หรือเส้นทางเดินทางแสวงหาของพวกฮิปปี้ โสปราชใช้กรุงเทพเป็นฐานอยู่พักใหญ่ เช่าอพาร์ทเมนท์ชื่อ บ้านคณิต (แถวซอยศาลาแดง แต่ตอนนี้ถูกรื้อสร้างเป็นคอนโดไปแล้ว) และหลอกลวงนักเดินทางทางจากยุโรปและอเมริกา มอมยา กักขัง และฆ่าตายไปหลายศพอย่างโหดเหี้ยม ก่อนจะหนีออกนอกประเทศและไปจนตรอกที่เนปาล The Serpent ถ่ายทำในไทยแทบทั้งหมด รวมทั้งฉากที่เกิดขึ้นในปากีสถาน และเนปาลด้วย
โสปราชมีปมเรื่องตัวตน ด้วยความที่รู้สึกตัวว่าไม่ใช่ฝรั่ง ไม่ใช่เอเชีย ไม่ใช่อะไรเลย เขาใช้ชื่อปลอม สร้างตัวตนใหม่ตลอดเวลา แถมยังเกลียดพวกฮิปปี้มาก และแสดงอาการของคนเป็น psychoapth หรืออาการทางจิตที่ต่อต้านสังคมและไร้ความรู้สึกผิดชอบ ในซีรีส์ The Serpent นักแสดงฝรั่งเศสเชื่อสายแอลจีเรีย ทาฮาร์ ราฮีม แสดงเป็นโสปราช ด้วยหน้าตาเกลี้ยงเกลาที่บ่งบอกสัญชาติไม่ได้ชัดเจน โสปราชในหนังทั้งมีเสน่ห์และดูโรคจิต ดาราอังกฤษ Jenna Coleman แสดงเป็นเมียของเขาชื่อมารี (หรือโมนิค) หญิงสาวที่ตอนแรก็ดูไร้เดียงสา แต่ถูกโสปราชครอบงำจนกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมทั้งหลาย
ว่ากันตรง ๆ ผู้เขียนอยู่ในกลุ่มที่คิดว่า The Serpent เล่าเรื่องได้ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร ไม่ใช่เพียงเพราะหนังกระโดดข้ามเวลาไปมา (“สามเดือนก่อนหน้า” “เจ็ดปีหลังจากนั้น” หรือแม้แต่ “สามชั่วโมงก่อนหน้า”) เพราะถึงจะซับซ้อนแต่เราก็ยังพอตามเรื่องได้ แต่เพราะหนังไม่มีบทที่แข็งแรงพอจะทำให้เราเห็นภาพตัวโสปราชในทุกมิติ เราไม่เห็นว่าเขามีอำนาจครอบงำและชักจูงคนรอบข้างอย่างโมนิค และอะเจ (เพื่อซี้ชาวอินเดีย) ได้อย่างไร โสปราชเป็นตัวละครแบบ antihero หรือตัวเอกที่เป็นคนไม่ดี (ไม่ใช่ “พระเอก”) แต่เรากลับไม่รู้สึกถึงความขัดแย้งในตัวของเขามากเท่าที่ควร การเล่าเรื่องกระโดดข้ามเวลาไปมายิ่งไปเน้นประเด็นความหละหลวมตรงนี้ นอกจากนี้ ตัวละครฝั่งคนดีก็อ่อนไปหน่อย หนังวางให้นักการทูตชาวฮอลแลนด์ เฮอร์มาน คนิปเปนแบร์ก (บิลลี่ ฮาวล์) เป็นนักสืบจำเป็นที่แกะรอยทั่วกรุงเทพจนเกือบทำให้โสปราชจนมุม แต่ตัวละครนี้ก็ไม่น่าเอาใจช่วย ดูรนราน ไม่มีเสน่ห์เลย
ที่น่าผิดหวังอีกอย่างคือ หนังไม่มีตัวละครคนไทยที่สำคัญกับเนื้อเรื่องเลย มีแต่ตัวประกอบที่แสดงกันดีบ้างไม่ดีบ้าง (ส่วนใหญ่ไม่ดี) ที่ใกล้เคียงที่สุดคือ คิทตี้ ชิชา อมาตยกุล ในบทสาวไทยที่หลงรักโสปราช (ไม่พ้นบทประมาณนี้อีกแล้ว) ซึ่งถึงเธอจะแสดงได้ไม่แย่ แต่บทนี้ปวกเปียกและไม่น่าเชื่อเลย
เล่ามานี่เหมือนกับว่าไม่ชอบหนังเอาเลย จริง ๆ ก็ไม่ขนาดนั้น The Serpent น่าติดตามพอใช้ได้ แต่เหตุผลหลักที่ผู้เขียนดูหนังเรื่องนี้ได้เรื่อย ๆ ก็เพราะฉากกรุงเทพย้อนยุค ทั้งถนนหนทาง บ้าน ตึกอพาร์ทเม้นท์ ร้านก๋วยเตี๋ยว บ้านทูต รวมทั้งฉากชายทะเลหลายฉาก น่าสังเกตุว่า เวลาหนังไทยเล่าเรื่องย้อนยุค งาน production design หรือ art direction ไม่ค่อยทำให้หนังดูน่าเชื่อ น่ามอง หรือย้อนระลึกความหลังได้ (อาจจะบางเรื่องที่งบประมาณพอ ก็ทำได้) The Serpent ซึ่งใช้ทีมอาร์ทไทย กลับทำสิ่งนั้นได้ ฉากบ้านคณิต ที่เป็นแหล่งกบดานของโสปราช เป็นตึกอพาร์เมนท์สไตล์ 70 ที่เราเห็นอยู่ทั่วไปดาดดื่นแถวสีลม สุขุมวิท แต่พออยู่ในหนัง ตึกพื้น ๆ นี้กลับดูสมจริง สร้างบรรยากาศได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ดู “ตบแต่ง” จนเกินเลย มีความเขละ เก่า แต่ไม่ซอมซ่อ กลับสวยมีเสน่ห์ด้วยซ้ำ งานโปรดัคชั่นของ The Serpent (ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้าหน้าผมของตัวแสดง) มีความเป็นหนังโฆษณาอยู่ไม่น้อย จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าหนังไทยให้เวลา ให้เงินกับทีมอาร์ทมากกว่าที่เป็นอยู่ เราคงมีหนังไทยย้อนยุคที่ภาพสวย ๆ อีกมาก
เรื่องของนายโสปราช เป็นข่าวที่คนไทยและฝรั่งในเมืองไทยยุคนั้นให้ความสนใจ เพราะช่วงนั้นคือปลายสงครามเวียดนาม มีฝรั่งเข้าออกเมืองไทยมากมายเต็มไปหมด ทั้งนักเดินทาง ฮิปปี้ ทหาร สายลับ นักข่าว คอมมิวนิสต์ ฯลฯ หลายคนในนั้นตัดสินใจปักหลักอยู่เมืองไทยจนถึงตอนนี้ก็มี (ว่ากันว่า ตัวละครที่ชื่อนาดีน ซึ่งมีส่วนช่วยตามจับโสปราช ตอนนี้ทำธุรกิจอยู่ที่ภาคใต้) หนังทำให้เราเห็นกรุงเทพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เมืองแห่งความสับสน ความมั่วที่ปนไว้ด้วยความน่าหลงใหลที่อธิบายลำบาก – หรือจะว่าไปจริง ๆ แล้ว กรุงเทพ 2021 ก็ไม่ต่างจากกรุงเทพ 1975 สักเท่าไหร่กระมัง
สปอยเลอร์ ตอนนี้โสปราชถูกจำคุกตลอดชีวิตที่เนปาล
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ