ผิดที่ ผิดเวลา Mortal Kombat หนังเกมที่น่าสนใจ แต่อะไรๆ ก็ไม่เอื้อ
ในยุคที่หนังฟอร์มยักษ์แทบทุกเรื่องพยายามพยายามสร้างจักรวาลเป็นของตัวเอง Mortal Kombat พร้อมที่จะเดินตามรอยเท้าของแฟรนชายส์เรื่องอื่นๆ เพราะนั่นหมายความว่าถ้าหากหนังปฐมบทประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ภาคต่อและภาคแยกก็พร้อมที่จะตามออกมา เพราะมันหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลและโอกาสที่สตูดิโอจะต่อยอดหากินไปกับของที่ระลึก งานอีเวนท์ หรือกระทั่งดัดแปลงให้มันกลายเป็นเครื่องเล่นในสวนสนุกเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของ Godzilla vs. Kong ในตลาดโลกที่ตอนนี้ทำรายได้รวมไปแล้วทั้งสิ้น เกือบ 300 ล้านเหรียญ (หรือราว ๆ 9.4 พันล้านบาท) และยังเดินหน้าทำเงินต่อไป จนเราอาจจะกล่าวได้ว่านี่น่าจะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ (และสตรีมมิ่ง) ซึ่งทำเงินมหาศาลหลังจากวิกฤติโควิด ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณในเชิงบวกที่ทำให้หนังฟอร์มยักษ์อีกหลายเรื่องวางคิวเตรียมเข้าฉาย
แฟรนชายส์ที่หวังสร้างจักรวาลใหม่
น่าเสียดายที่ Mortal Kombat เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากวิดีโอเกมชื่อดัง เคยถูกทำเป็นหนังมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1995 ผลงานการกำกับของพอล ดับเบิ้ลยูเอส แอนเดอร์สัน (Resident Evil) ก่อนที่จะมีภาคต่อตามออกมาในปี 1997 กับ Mortal Kombat: Annihilation โดยภาคนี้ถ่ายทำในประเทศไทยทั้งเรื่อง แต่คำวิจารณ์จัดได้ว่าล้มเหลว ส่วนรายได้ก็ทำเงินไปทั่วโลกแบบพอหอมปากหอมคอ
มีความพยายามหลายต่อหลายครั้งที่สตูดิโอหลายเจ้าพยายามจะนำ Mortal Kombat กลับมาทำใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วโปรเจ็คนี้ได้มาตกมาอยู่ภายใต้การดูแลของสตูดิโออย่างวอร์เนอร์ บราเธอร์และได้เจมส์ วาน มานั่งแท่นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าของสตูดิโอก็เลือกคนไม่ผิด เพราะตัวเจมส์เองก็เข้าใจว่า Mortal Kombat นั้นมีจุดเด่นในแง่การเป็นเกมต่อสู้ที่เน้นความโหดเลือดสาดและตัวละครแต่ละตัวมีท่าไม้ตายในการเอาชนะศัตรูด้วยวิธีการสุดคลั่ง ซึ่งเป็นจุดบกพร่องในหนังเวอร์ชั่นปี 1995 และ 1997 ที่ทำออกมาเป็นแค่หนังเรท PG-13 เท่านั้น
ที่สำคัญในเวอร์ชั่นปี 2021 ยังเน้นในส่วนของการให้ความสำคัญของตัวละครแต่ละตัว ให้พวกเขามีมิติและผู้ชมได้มีโอกาสทำความรู้จักพวกเขามากยิ่งขึ้นถึงแรงจูงใจและจุดขับเคลื่อนชีวิต ซึ่งแน่นอนตัวละครบางตัวแฟนเกมอาจจะรู้จักที่มาที่ไปของพวกเขาดีอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนดูที่ไม่เคยเล่นเกมสามารถทำความรู้จักตัวละครเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน
ทีมงานเองรู้ดีว่าแฟนเกมนั้นรักตัวละครอย่างซอนย่า เบลด แจ็กซ์ และไรเด็น มากแค่ไหน ทีมผู้สร้างจึงไม่อยากจะปรับเปลี่ยนบทรายละเอียดหลักของตัวละครเพื่อให้เหมาะกับการถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาอยากเล่า แต่พวกเขาเลือกโคลเป็นตัวกลางนำไปสู่การเปิดเผยโลกของมอร์ทอล คอมแบท ดังนั้นตัวละครอย่างโคลเองก็เป็นเหมือนตัวแทนสายตาของผู้ชมด้วยเช่นกัน
เป้าประสงค์หลักๆคือทีมงานไม่ได้อยากรีเมคหนังในปี 1995 และไม่ได้อยากทำภาคต่อของปี 1997 ด้วยเช่นกัน แต่พวกเขาอยากจะสร้างโลกและจักรวาลใหม่ขึ้นมา เจมส์ วานผู้อำนวยการสร้างจึงเป็นคนดูภาพรวมของหนัง ส่วนไซมอน แม็คคอยด์ ผู้กำกับของเรื่อง ซึ่งเพิ่งจับงานกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก แต่ด้วยการที่เขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการกำกับโฆษณามาอย่างยาวนาน ประกอบกับการที่ตัวเขาเองก็เป็นแฟนเกมของ Mortal Kombat มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เขาจึงได้รับโอกาสในการเขียนบทร่วมกับทีมเขียนบทเพื่อออกแบบจักรวาลใบใหม่นี้ขึ้นมา
แน่นอนว่าเมื่อเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากเกมต่อสู้ชื่อดัง ฉากหลังของเรื่องราวก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่แฟนเกมคาดหวัง โดยกองถ่ายหนังเรื่องนี้ปักหลักถ่ายทำอยู่ที่ทั้งภายในและโดยรอบแอดิเลด เมืองใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของออสเตรเลีย
โชคดีที่ว่าตัวไซมอน แม็คคอยด์เอง มองว่าสเปเชียล เอฟเฟ็คนั้นไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง“ผมพบว่าหนังหลายเรื่องที่ใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์เยอะๆ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสื่อสารกับผู้ชม” เขากล่าว “ตัวสถานที่เองก็สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้ด้วยเช่นกัน “เราพบสถานที่สวยๆ หลายแห่งที่เราไม่สามารถหาได้จากที่ไหน หนังที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ไม่สามารถถ่ายทำที่ทางตอนใต้ของออสเตรเลียช่วงก่อนหน้านี้ได้เลย เราเลยจัดแสดงให้เห็นอย่างเต็มตาว่าที่นั่นมีอะไรน่าสนใจบ้าง มันมีทิวทัศน์ที่น่าสนใจหลากหลายกันไป และมีทัศนียภาพที่เหมาะกับกลิ่นอายการสร้างหนังของเรา” ไซมอนเองยังกล่าวเสริมอีกว่า “มันมีหลายตัวอย่างที่น่าสนใจ แต่สำหรับผมแล้วการที่จะเชื่อได้คือต้องรู้สึกว่าตัวละครมีความสมจริงอยู่ในโลกของพวกเขา ผมอยากให้มันดูมีหลายมิติ มีความแปลกตา แต่ก็ต้องมีความชัดเจนจับต้องได้ด้วย เรากำลังเล่นกับไฟ เล่นกับน้ำแข็ง เราก็ต้องทำให้มันดูเหมือนแบบนั้นจริงๆ แล้วค่อยสร้างความอลังการหรือความน่าสนใจลงไปอีก”