Collective สารคดีร่วมด้วยช่วยกันแฉ ชิงสองออสการ์ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
หนังเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้เข้าฉายในไทยอยู่หลายเรื่อง ถึงแม้สถานการณ์โรคระบาดจะไม่เป็นใจให้คนอยากออกนอกบ้านสักเท่าไหร่ แต่หากจะออกไปดูหนังจริง ๆ หนังชิงออสการ์ที่น่าดูแต่อาจจะถูกมองข้าม คือสารคดีเรื่อง Colectiv (หรือ Collective) จากประเทศโรมาเนีย ที่เข้าชิงทั้งประเภท Best Documentary Film และ Best International Feature หรือรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
น่าสนใจที่โรมาเนียเลือกส่งหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการบริหารของประเทศตัวเองไปชิงออสการ์ (จะว่าไป Colectiv นี่อาจจะเข้าข่าย “หนังชังชาติ” ได้) เพราะหนังพาเราไปชมการเปิดโปงระบบสาธารณสุขของฟอนเฟะ แฉให้เห็นระบบการจัดซื้อที่ผลาญเงินภาษี การติดสินบนมหาศาล มาเฟียสาธารณสุขในหลายรูปแบบ และมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลรัฐอันตกต่ำจนถึงขึ้นทำคนตายไปจำนวนมาก
ชื่อหนัง Colectiv เป็นชื่อของไนท์คลับที่เป็นต้นเรื่อง หกปีที่แล้วขณะมีคอนเสิร์ตที่นั่น มีวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวจำนวนมากเข้าไปฟังดนตรี เกิดไฟไหม้ขึ้นภายใน คนหนีตายกันอลหม่านเพราะ Colectiv ไม่มีทางออกฉุกเฉิน (ตามสูตร อะไรแบบนี้พวกเราคนไทยน่าจะนึกออก) ปรากฏว่ามีคนตายในที่เกิดเหตุ 26 คน นั่นก็เป็นโศกนาฎกรรมที่น่าหดหู่อยู่แล้ว แต่เรื่องบานปลายเพราะคนเจ็บจากแผลไฟไหม้ที่ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลรัฐ เกิดเสียชีวิตตามมาอีก 38 คน ทั้ง ๆ ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลของโรมาเนียมีมาตรฐานสูงเทียบเท่าโรงพยาบาลในยุโรปอื่น ๆ และรับมือกับคนเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมากได้
สารคดี Colectiv เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก ๆ สองคน หนึ่งคือนักข่าวสืบสวน คาตาลิน โตลันตัน ที่สืบ คุ้ย ขุดจนไปเจอว่า โรงพยาบาลรัฐซื้อน้ำยาฆ่าเชื้อเจือจางและไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก อันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไข้ตาย และลามปามไปถึงการบริหารงานอันล้มเหลวอื่น ๆ ตัวละครที่สองคือ วลาด วอยคูเลสคู เป็นหนุ่มไฟแรงอดีตนักเรียกร้องสิทธิผู้ป่วย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ (หลังจากคนเก่าถูกเปิดโปงในความไม่โปร่งใสจนลาออก) และพยายามแก้กฎระเบียบ ต่อกรกับระบบอันเน่าเฟะ เพื่อกอบกู้งานสาธารณสุขของชาติ
Colectiv จึงแสดงภาพคนสองคนที่ต่อสู้กับสัตว์ร้ายที่เรียกว่า “ระบบ” โตลันตัน เป็นคนที่สู้จากภายนอก ด้วยวิชาสื่อสารมวลชนและความเชื่อมั่นในการเปิดเผยความจริง ส่วนวอยคูเลสคู สู้กับระบบจากข้างใน และได้เห็นภาพโคลสอัพว่า ระบบที่ถูกกัดกร่อนมานานจนแทบจะล้มทั้งยืน เป็นอย่างไร
หนังเล่าเรื่องด้วยการติดตามคนทั้งสองในระยะประชิด เราเห็นโตลันตันประชุมข่าว ออกหาหลักฐาน ไปงานแถลงข่าวของรัฐบาล และกระทั่งไปออกทีวีเพื่อดีเบทกับฝ่ายที่พยายามปกป้องรัฐ (บางครั้งก็งงว่าปกป้องอะไร ในเมื่อหลักฐานก็ชัดเจน) ที่สำคัญคือ หนังไม่ได้พยายามทำให้เขาเป็นฮีโร่ หรือเป็นพระเอกสุดเท่ที่ยืนหยัดท้าทายอำนาจมืด อย่างที่เราอาจจะเห็นในหนังแบบอเมริกัน ตรงกันข้าม สารคดีเรื่องนี้จับจ้องโตลันตันในฐานะผู้ที่จริงจังกับงานของตัวเอง และมีความเชื่อในหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะผลักดันให้เกิดการรับรู้ความจริงและการเรียกร้องจากรัฐ โตลันตันไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าที่สื่อทั่วไปควรจะทำอยู่แล้ว – ยกเว้นว่าในหลาย ๆ สังคม งานของสื่อในการเป็นที่พึ่งของประชาชนถูกหลงลืมไปหมดแล้ว – วิธีหนึ่งที่สารคีดเรื่องนี้ใช้ก็คือ เราไม่เห็นโตลันตันในบริบทอื่นเลยนอกจากการเป็นนักข่าว เช่น ไม่เห็นเขาที่บ้าน ไม่เห็นว่ามีลูกมีเมียหรือเปล่า ไม่เห็นไปสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งเหล่านี้มักจะเป็นฉากมักเห็นในหนังอื่น ๆ ที่พยายาม “สร้างตัวละคร” ให้คนเอาใจช่วย แต่ Colectiv ตั้งใจไม่ให้เห็นภาพเหล่านั้นเลย
เช่นกัน รมต. สาธารณสุขคนใหม่ วอยคูเลสคู ก็เป็นคนที่มุ่งทำงานและล้างความโสโครกที่รมต. คนก่อนหน้าทิ้งไว้ หากการต่อสู้จากภายนอกของโตลันตันว่ายากแล้ว งานของวอยคูเลสคูอาจจะยากยิ่งกว่าหลายเท่านัก สิ่งที่ทำให้ Colectiv น่าดู น่าติดตาม ก็เพราะหนังได้โอกาสเข้าไปร่วมในเหตุการณ์การตัดสินใจหลาย ๆ ครั้งของรัฐมนตรีหนุ่ม ที่ไม่เพียงแต่ต้องรบรากับนักข่าวและกระแสสังคม แต่ยังต้องแข็งขืนกับระบบที่ฝังรากลึก และคนมีอิทธิพลทั้งหลายที่คอยจ้องหาเรื่อง
แนะนำว่าเมื่อดู Colectiv (กำกับโดยอเล็กซานเดอร์ นาเนา) แล้ว ควรหาหนังโรมาเนียอีกเรื่องมาดูด้วย The Death of Mr. Lazarescu (ซึ่งมีใน Netflix) นี่เป็นหนังเรื่องแต่ง ไม่ใช่สารคดี ที่ว่าด้วยชายชราที่ล้มป่วยและต้องระเห็จไปกับรถพยาบาลกะดึก เพื่อตระเวนหาโรงพยาบาลที่พร้อมจะรับรักษาเขา แม้ว่าอาการจะแย่ลงทุกขณะ ฟังดูหดหู่ แต่นี่คือหนังตลกร้ายสไตล์โรมาเนีย ที่เสียดสีระบบสาธารณสุขอันพังพินาศ The Death of Mr. Lazarescu ถือเป็นหนังคลาสสิกร่วมสมัยของผู้กำกับคริสตี ปิว หนึ่งในคนทำหนังจากยุโรปที่มีผลงานน่าสนใจมาอย่างต่อเนื่อง ดูหนังสองเรื่องนี้แล้วจะทำให้เห็นว่า ระบบที่เสื่อมอยู่แล้วจะยิ่งเสื่อมไปเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้ เหมือนคนไข้บาดเจ็บที่อาจถึงตายหากได้น้ำยาฆ่าเชื้อเจือจางจนไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้ทุกอย่างสายเกินไป