Girl From Nowhere Season 2 การมาถึงของ "เด็กใหม่ 2" และวิธีเล่าเรื่องแบบใหม่
การกลับมาของ แนนโน๊ะ (คิทตี้ - ชิชา อมาตยกุล) ในครั้งนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ชัดเจนในระดับโลกว่า “ซีรีส์ไทย” ที่มีคอนเทนท์โดนใจผู้ชม อีกทั้งเนื้อหาสาระอันเป็นสากล ทำให้ชิ้นงานนี้ไปไกลและเข้าถึงคนหลากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ยังไม่รวมถึงรางวัล “Gold Awards” ในสาขา “Branded Entertainment: Scripted TV Show” ที่ซีรีส์ได้รับจาก LIA 2018 (London International Awards 2018) โดยมีเกณฑ์การให้รางวัลในแง่มุมความคิดสร้างสรรค์ของชิ้นงาน นอกเหนือไปจากนี้การที่ “เด็กใหม่” ได้ฉายลงทาง Netflix ยิ่งเป็นช่องทางที่ ผู้ชมจากต่างประเทศมีโอกาสที่จะได้เห็นซีรีส์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ย้อนกลับไปมอง “ลักษณะ” ของ“เด็กใหม่” ในซีซั่นแรก โครงสร้างของซีรีส์นั้นถูกออกแบบให้แบบเรื่องราวแบบ Anthology (เรื่องราวที่จบในตอน) โดยมีตัวละครแนนโน๊ะ อาจจะเป็นแค่เพียง “สัญลักษณ์” หรือ “ตัวประหลาด” บางอย่างที่นำพาผู้ชมไปสังเกตและเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละตอน ซึ่งความหลายหลากของเรื่องราวที่ถูกปรุงแต่งโดยผู้กำกับมากหน้าหลายตา จึงทำให้กราฟของซีรีส์มีความ ขึ้นลงแล้วแต่วิธีการ มุมมอง รวมไปถึงชั่วโมงบินในการทำงาน ที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างในเชิงของคุณภาพอีกเช่นกัน แต่เหนืออื่นใดคือมันเปิดโอกาสให้ผู้กำกับหน้าใหม่หลายคนได้ “โชว์ของ” ในตัวด้วย
อย่างไรก็ตามภาพสรุปองค์รวมในซีซั่นแรกของตัวละครแนนโน๊ะ คนดูก็พอจะตีความเองได้ว่า เธอไม่ใช่มนุษย์ปกติ แต่เป็นตัวละครที่มีพลังอำนาจบางอย่างในการดึงเอาด้านมืดของมนุษย์แต่ละคนออกมา และที่สำคัญคือเธอฆ่าไม่ตายและพร้อมจะชุบชีวิตตัวเองกลับมาได้อยู่เสมอ แม้เราจะได้เห็นในด้านดาร์คๆบ้าคลั่งของตัวละครนี้ แต่ตอนหนึ่งในซีซั่นแรกที่เผยให้เราเห็นมุมที่แตกต่างออกไปก็คือ Lost & Found ที่ทำให้เราเห็นว่าแนนโน๊ะเองก็มีความรู้สึก “รัก” ใครสักคนขึ้นมาได้อยู่เหมือนกัน และทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครนี้ก็มีเลือดเนื้อเฉกเช่นมนุษย์บ้าง
มีการเปิดเผยเนื้อสำคัญในซีซั่นที่ 2 หากยังไม่ได้รับชมกรุณาข้ามเนื้อหาต่อจากนี้ไป
การกลับมาของแนนโน๊ะในซีซั่นที่ 2 นี้ตัวละครจึงถูกสำรวจในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการโยนตัวละครใหม่อย่าง “ยูริ” (ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ ) เข้ามาเพื่อสั่นคลอนความคิด รวมไปถึงตั้งคำถามถึงวิธีการที่แนนโน๊ะจัดการกับเหยื่อแต่ละคน ว่าการใช้วิธีการแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือการให้เหยื่อเลือกจะหาทางออกให้กับชีวิตที่ผลกรรมของตัวเองได้ทำไปนั้นจะจบลงที่ตรงไหนดี
น่าเสียดายที่ 3 ตอนแรกของซีซั่น 2 หยิบยกประเด็นสังคมอาทิ ท้องในวัยเรียนใครควรเป็นคนรับผิดชอบ รักต่างเพศในวัยแสวงหาความรู้ และการลบล้างความผิดของคนรวยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นแก่นของเรื่องที่น่าสนใจ แต่เมื่อขุดลึกเข้าไปถึงตัวบทและวิธีการนำเสนอแล้ว อุดมไปด้วยความน่าผิดหวังและความตื้นเขินในการมองเชิงโครงสร้าง อีกทั้งยังผลักไส “การมีอยู่” ของตัวละครแนนโน๊ะออกมาเป็นแค่เพียงผู้สังเกตการณ์แบบเดียวกับผู้ชม จนตัวละครเอกนี้ไร้ความจำเป็นไปเลย
กราฟที่ดูเหมือนจะชวนให้คนดูเลิกดูซีรีส์ก็เริ่มกระเตื้องขึ้นในตอนที่ 4 เมื่อ คนดูจะได้รู้จักกับยูริมากขึ้น ว่าเธอเป็นใคร มาจากไหนและทำไมเด็กสาวโบว์แดงถึงต้องตามติดแนนโน๊ะราวกับเป็นกุมารทอง โดยธีมหลักของตอนนี้ก็ยังเป็นเหมือนการหยิบประเด็นการแก้ปัญหาของคนรวยด้วยการใช้ “เงินโปรยทาน” เพื่อแก้ปัญหาจากผิดให้เป็นชอบได้ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่ตอนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือตอนที่ 6 อย่าง Liberation ซึ่งหยิบเอาประเด็นทางการเมืองของ “บางประเทศ” มาเล่าผ่านประเด็นที่เกิดขึ้นในโรงเรียนด้วยสไตล์และเทคนิคด้านภาพ โดยสอดประสานรับกับสิ่งตอนนี้กำลังจะพูด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “สี” เพื่อเน้นย้ำ “สัญลักษณ์” อันนำไปสู่การแกะรอยว่าตัวละครแต่ละตัวเป็นภาพแทนของใครในโลกแห่งความเป็นจริง อีกทั้งยังวิพากย์ว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อทุกอย่างคลี่คลายและนักเรียนได้ถูกปลดปล่อยจากพันธนาการที่เรียกว่ากฎของโรงเรียนแล้ว โลกภายนอกนั้นพวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับอะไรที่รอพวกเขาอยู่กันแน่ เป็นความฝันที่พวกเขาต้องการหรือจริงๆคือความว่างเปล่าที่ไม่ได้แตกต่างอะไรจากเดิมเลยก็ได้
น่าเสียดายตรง ในขณะที่กราฟของซีซั่นนี้กำลังพุ่งขึ้นและน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ก็เหลือแค่เพียงอีก 2 ตอนเท่านั้น จะเปิดโอกาสให้คนดูได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของแนนโน๊ะและการทำความเข้าใจการมีอยู่ของตัวละครอย่างยูริ อันเป็นแผลที่ค่อนข้างใหญ่ คือความต่อเนื่องทางอารมณ์ของตัวละครนี้ จนเราอาจจะต้องอนุมานเองว่าบางที ตัวละครนี้อาจจะอยู่ในช่วง “ฝึกงาน” และทำความเข้าใจความชั่วร้ายของมนุษย์อยู่ก็เป็นได้เธอจึงต้องแสดงพฤติกรรมออกมาเช่นนั้น
วิธีการตัดสินใจของยูริเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าหยิบยกมาพูดถึง ตัวละครนี้มักจะคลี่คลายทางออกของเหยื่อด้วยด้วยการมอบความตายทางกายภาพให้กับบุคคลเหล่านั้นด้วยความสะใจ ซึ่งแตกต่างกับตัวแนนโน๊ะที่เลือกจะมอบบทเรียนด้วยความเจ็บปวดทางจิตใจ จนบางครั้งความตายก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าด้วยซ้ำไป สองวิธีการอาจจะให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันก็จริง แต่วิธีการอย่างหลังคือทางเลือก ในขณะที่ยูริเลือกจะมอบคำตัดสินครั้งสุดท้ายอันหมายถึงความตายให้กับเหยื่อไปเลยราวกับว่า เธอเก็บเอาความเจ็บช้ำในขณะยังมีชีวิตอยู่และเอาคืนทุกคนที่เธอสามารถลงมือพิพากษาคนอื่นได้ (เมื่ออำนาจอยู่ในมือ ทุกอย่างก็สมใจ)
มุมมองความคิดที่เติบโตขึ้นของตัวละครแนนโน๊ะในซีซั่นที่ 2 จึงเป็นสิ่งที่นำพาคนดูให้สตรีมมิ่งจนจบซีซั่นได้อย่างน่าฉงน ทั้งที่กราฟและความลุ่มลึกของบทนั้น แทบจะเทียบไม่ติดกับซีซั่นแรก จนเราอยากจะแอบกระซิบยูริว่า “ถ้าซีซั่นหน้าเธอกลับมาอย่าลืมตกผลึกประเด็นทางสังคมที่เผ็ดร้อนให้มากกว่าซีซั่นแรก และแสดงจุดยืนของตัวเองให้ชัดกว่านี้ เข้าใจว่ายากมาก แต่ยูริต้องปะทะกับมุมมองความคิดจากทางฝั่งแนนโน๊ะให้ได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะเป็นแค่เด็กมีพลังอำนาจที่ไล่ฆ่าคนอย่างบ้าคลั่งอย่างเดียวนะ”
แล้วฉันจะรอเธอกลับมานะแนนโน๊ะและยูริ!
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ