ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ "ถ้าเราไม่โกง ชีวิตแม่งก็โกงเราอยู่ดี" ย้อนรอยซีรีส์ที่สะท้อนการเมืองไทย

ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ "ถ้าเราไม่โกง ชีวิตแม่งก็โกงเราอยู่ดี" ย้อนรอยซีรีส์ที่สะท้อนการเมืองไทย

ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ "ถ้าเราไม่โกง ชีวิตแม่งก็โกงเราอยู่ดี" ย้อนรอยซีรีส์ที่สะท้อนการเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ถ้าเราไม่โกง ชีวิตแม่งก็โกงเราอยู่ดี” คือประโยคของตัวละครอย่างแบงค์ (เจ้านาย – จินเจษฎ์ วรรธนะสิน) ระบายความน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะของคนจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำหรือมองเป็นคนหาเช้ากินค่ำก็คงไม่ผิดนัก เขาเป็นนักเรียนทุนของโรงเรียน ที่วันหนึ่งเงินในค่าเทอมจากทุนก้อนใหญ่ของเขาต้องหลุดลอยไปเพราะปัจจัยหลายประการ มิหนำซ้ำความซวยจะยังมาเยือนกิจการที่บ้านเมื่อ ร้านรับซักผ้าของเขาและแม่ถูกโจรขโมยและพังร้านจนยับเยิน มิหนำซ้ำอาการปวดหลังเรื้อรั้งของแม่ ยังส่งผลให้เขาต้องหาเงินค่ารักษามาให้แม่ให้ไวที่สุด จนกระทั่ง 1 ฉากที่สะท้อนให้เห็นความหวังเดียวของครอบครัวนี้ในการกลายเป็นคนมีเงินก้อนใหญ่ คือฉากที่สองแม่ลูกกำลังลุ้นหวยรางวัลที่หนึ่งอย่างสุดตัว!

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความฟอนเฟะของการเมืองในประเทศไทยที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นว่า ในทุกระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้ เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมและการเข้าไม่ถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขที่ใช้เงินเพื่อต่อลมหายใจหรือเข้าถึงการรักษาที่ดีกว่า ระบบการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้เยาวชนเกิดการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Critical Thinking) และท้ายสุดมันได้สะท้อนภาพการเมืองอันล้มเหลวของประเทศไทยมาตลอดหลายปีมานี้

หลายคนอาจจะพอทราบดีแล้วว่า “ฉลาดเกมส์โกง” เป็นเรื่องราวที่เด็กกลุ่มหนึ่งเกิดขบวนการโกงข้อสอบ เพื่อเงินค่าจ้าง เมื่อลิน (จูเน่-เพลินพิชญา โกมลารชุน – จูเน่ BNK48) อยากจะหาเงินมาช่วยพ่อของเธอ (แท่ง – ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) เมื่อเธอค้นพบว่าการที่ตัวเองได้ย้ายมาเรียนยังโรงเรียนแห่งใหม่นั้น พ่อต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือเงินค่าสนับสนุนการศึกษาด้วยตัวเลขในระดับแสนให้กับผู้อำนวยการโรงเรียน (อุ๋ม – อาภาศิริ จันทรัศมี) ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองกำลังโดน “โรงเรียนโกง” เธอเลยอยากเอาคืนกับระบบด้วยการโกงสถาบันคืน

โดยในครึ่งแรกของซีรีส์นั้น เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้รั้วโรงเรียนไทย เราจะได้เห็นการเมืองขนาดย่อมภายในสถานศึกษา ทำให้เห็นได้เลยว่าเชิงโครงสร้างบุคลากรตั้งแต่นักเรียน ครู ผู้อำนวยการ นั้นมีการ “หาช่องโหว่ทางการศึกษา” เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าของตัวเอง เพียงแต่ใครจะทำสิ่งเหล่านี้ได้แนบเนียนกว่ากันและสุดท้ายอย่าให้คนจับได้ ไม่อย่างนั้นตัวเองจะกลายเป็นคนผิดทันที ท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบของตัวละครทั้งหมด สะท้อนให้คนดูเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วบุคคลที่ยังคงลอยตัวเหนือปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้คือคนที่ใช้เงินแก้ไขปัญหาและทำให้เรื่องราวทั้งหมดจบไป ส่วนคนที่ไม่มีเงินหรือมีปากมีเสียงพอ ก็จะต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมไปอย่างเงียบๆ โดยไม่สนใจหลักการบ้านเมืองที่เรียกว่า กฎหมายเลยแม้แต่น้อย

ความเทาของเหล่าตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ได้ทำให้พวกเราเกลียดพวกเขา เปล่าเลยเรากลับรู้สึกเห็นอกเห็นใจและอยากเอาใจช่วยให้พวกเขา “โกง” ในตอนละตอนสำเร็จ ไม่ใช่เพราะเราเห็นดีเห็นงามกับการทุจริต แต่เพราะเราเห็นแล้วว่าทางออกเดียวของพวกเขาที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่านั้นคือหนทางใด มาตรวัดจริยธรรมกับซีรีส์เรื่องนี้จึงพาคนดูหลุดออกจากความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายที่เยาวชนและคนไทยกว่า 90% ของประเทศกำลังต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกวี่วัน

 แน่นอนเมื่อซีรีส์เดินทางมาสู่ครึ่งทางหลัง จึงเริ่มพาคนดูไปสู่การโกงในระดับที่ใหญ่กว่า กว้างกว่า นั่นคือระดับประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาสำหรับคนรวยบางคนนั้นเป็นแค่ “ใบเบิกทาง” หรือเพื่อการยอมรับในเชิงสังคมภายนอก แต่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถและชีวิตของพวกเขาเอง เพราะตัวละครเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบากบั่นกระเสือกกระสนให้เหนื่อย เพราะชีวิตของพวกสุขสบายและมีอนาคตที่ดีรอพวกเขาอยู่แล้ว

ภาพตัวแทนของการโกงในระดับประเทศจึงเกิดขึ้นกับตัวละครอย่างลินและแบงค์ที่ต้องดั้นด้นไปสอบถึงประเทศออสเตรเลีย วางแผนจะนำข้อสอบออกมาขายให้ทันเวลา เพื่อแลกกับเงินในระดับล้าน จำนวนเงินที่พวกเขาอาจจะต้องใช้เวลาหาเกือบครึ่งชีวิต

ตัวละครทุกตัวรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาทำกันอยู่นั้นเป็นเรื่องผิด แต่ดูเหมือนว่าปมในจิตใจของลิน แบงค์ เกรซ(นาน่า – ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์) และพัฒน์ (ไอซ์ – พาริส อินทรโกมาลย์สุต) จะทำให้แต่ละคนตระหนักได้แตกต่างกันออกไปตามบรรทัดฐานและแน่นอนว่าพื้นฐานทางฐานะของแต่ละครอบครัวอีกด้วย จุดพลิกผันตอนท้ายที่เราได้เห็นการถลำลึกแบบกู่ไมกลับของแบงค์สะท้อนภาพที่ว่า “บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าเรากลายเป็นคนประเภทที่เราเกลียดไปตั้งแต่เมื่อไหร่” เพราะความบีบบังคับทางสังคมและหนทางในการนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทำให้คนหนึ่งคนที่เคยยึดมั่นถือมั่นกับความถูกต้องมาโดยตลอดเปลี่ยนแปลงไปแบบจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“ถ้าการเมืองดี ชีวิตของแบงค์ก็คงไม่เป็นแบบในซีรีส์นี้” น่าจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดนัก เพราะตัวละครทุกคนในซีรีส์นี้คือภาพสะท้อนความล้มเหลวในตลอดหลายสิบปีของการเมืองไทยที่ถูกสะท้อนออกมาภายในซีรีส์สุดตื่นเต้น เข้มข้น และสนุกไม่แพ้เวอร์ชั่นภาพยนตร์ แต่เจาะลึกลงไปสู่รายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจและเหมาะแก่การเปิดดูซ้ำ หรือ เริ่มต้นดูในห้วงเวลานี้อย่างมีนัยยะสำคัญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook