5 เรื่องน่ารู้ ที่บอกว่า "Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี" คือหนังระดับปรากฏการณ์
หลังจากเปิดตัวครั้งแรกเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ของ GDH ในงาน GDH Xtraordinary 2021 LINEUP เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี ก็เริ่มถูกจับตามองมาตลอด ในฐานะหนังผีเรื่องล่าสุดของค่าย และยิ่งเมื่อตัวหนังกลายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ของ Netflix ด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นที่ฮือฮามากขึ้น จนเราอาจต้องประเมินหนังเรื่องนี้ใหม่ในเชิงปรากฏการณ์หนังไทยที่มากกว่าแค่หนังจาก GDH เท่านั้น และนี่คือ 5 เค้าลางที่ทำให้เราเชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะพาหนังไทยไปไกลกว่าเดิมมาก
1. จุดเริ่มต้นที่ไม่ธรรมดา หนึ่งในมรดกที่เหลือจากยุค GTH
หนังเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีก่อน (ราวช่วงปี 2555) เมื่อทาง GTH ทำการอบรมเชิงปฏิบัติการคนทำหนังรุ่นใหม่ของค่าย โดย พี่เก้ง จิระ มะลิกุล หัวใหญ่ของค่ายได้ให้โจทย์ผู้กำกับคนละแนวจับคู่กันเพื่อทำหนังแนว คู่หู ในเวลาจำกัด
ครั้งนั้นผู้กำกับ กอล์ฟ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ซึ่งมีผลงานมาแล้วจากหนังแนวสยองขวัญทั้ง ‘บอดี้ ศพ19’ (2550) ‘สี่แพร่ง’ (2551) ตอน ‘ยันต์สั่งตาย’ และ ‘ห้าแพร่ง’ (2552) ตอน ‘หลาวชะโอน’ ต้องจับคู่กับ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีหนังเรื่องแรกคือ ’36’ (2555) แต่ก็มีเครดิตในฐานะคนเขียนบทหนังมาแล้วทั้ง ‘รถไฟฟ้า มาหานะเธอ’ (2552) และ ‘Top Secret วัยรุ่นพันล้าน’ (2554)
ทั้งคู่ได้ยินเรื่องลือกันในโรงแรมว่า ห้องนอนของผู้กำกับ โอ๋ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ จากหนัง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ (2547) มีผีอยู่ ทำให้กอล์ฟเสนอไอเดียกับเต๋อว่าเราควรไปนอนห้องนั้น เผื่อได้เจอผีจะได้คุยขอข้อมูลมาทำหนัง
จึงเป็นที่มาของหนังที่ฉีกกฎหนังผี ที่ตัวละครมักต้องวิ่งหนีหรือหลีกเลี่ยงการเจอผี เป็นตัวละครที่พยายามวิ่งเข้าหาผีเพื่อสนองความอยากรู้ และต่อยอดมาเป็นการปะทะกันระหว่างเรื่องไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใน ‘Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี’
และแม้โปรเจกต์นี้ก็ชนะในการอบรมครั้งนั้น ซึ่งตามข้อตกลงของการแข่งขันสามารถเอาโปรเจ็กต์นี้ไปพัฒนาทำหนังจริงได้เลย ทว่าตอนนั้นเต๋อมีหนังที่พร้อมจะไปพัฒนากับค่าย GTH แล้วนั่นคือ ‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ (2558) ทำให้กอล์ฟต้องหันไปพัฒนาหนังต่อเพียงคนเดียว และต้องใช้เวลาเกือบอีก 10 ปีจึงเกิดหนังเรื่องนี้ขึ้นมา
2. การสร้างตัวละครต่างขั้วจากคนเขียนบท ฉลาดเกมส์โกง (หรือ กอล์ฟ คือ กล้า /เต๋อ คือ ต่อ?)
แม้จะไม่ได้ออกมาจากปากผู้สร้าง แต่ก็เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ ว่าการสร้างตัวละครอย่าง หมอกล้า (แสดงโดย ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต) และหมอวี (แสดงโดย ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร) นั้น อาจเป็นกิมมิกที่ดึงมาจากการจับคู่ของผู้กำกับกอล์ฟและเต๋อเมื่อการอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนั้น
หมอกล้า มีบุคลิกที่ดูดุดันลุยๆ และสนใจอย่างรุนแรงในการเผชิญหน้ากับผี เพราะเขาเคยเจอผีคนใกล้ตัวในตอนเด็ก จึงเกิดความสนใจในผี แต่แม้จะมาทำงานเป็นหมอที่ใกล้ชิดคนตายเขาก็ไม่เคยเจอผีอีกเลย จนเกิดเป็นความหมกมุ่นดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้กำกับกอล์ฟ ที่ได้บอกว่าเขาเองเวลาไปยังสถานที่เตรียมการถ่ายทำมักนึกในใจที่ขอให้ผีมาปรากฏตัวให้เห็น จนครั้งหนึ่งถึงกับเจอดีกับตัวเอง เมื่อนั่งรถไปกับเพื่อนที่จังหวัดระยอง ก่อนจะพบก้อนควันทรงกลมปริศนา และเจอผีชุดขาวชายหญิงยืนโน้มตัวผิดธรรมชาติขวางกลางถนนจนรถหวิดหลบไปชนกับรถที่สวนมา
ในขณะที่ หมอวี เป็นพวกวิทยาศาสตร์เต็มขั้น เขาเป็นคนดูซ่อนความคิดไว้ข้างในเยอะและค่อนข้างอินโทรเวิร์ต รูปลักษณ์ของ ต่อ ธนภพ ที่ใส่แว่นดูเนิร์ดเคร่งเครียดก็ดูคล้ายบางมุมของผู้กำกับเต๋อไม่น้อย ซึ่งตัวของเต๋อเองก็เป็นคนที่ค่อนไปทางไม่เชื่อผี และเขามองว่าผีที่มีพลังต่าง ๆ มีความเป็นซูเปอร์ฮีโร่แบบไทย มากกว่าสะท้อนความลึกลับน่ากลัวเพียงอย่างเดียว และผีต้องมีตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ที่รองรับได้
ซึ่งตัว ต่อ เองยังบอกว่าตัวละคร หมอวี เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนสูง มีหลายมิติที่ซ่อนไว้ และเขารู้สึกชอบการเล่นตัวละครนี้มากยกให้เป็นอันดับต้น ๆ ที่เขาเคยแสดงมาเลยด้วย
จะอย่างไรก็ตาม ตัวละครเพื่อนซี้ 2 หมอที่มีแนวทางต่างกันแต่มุ่งไปหาคำตอบเดียวกันในเรื่องนี้ สะท้อนภาพของการปะทะและขัดแย้งตั้งแต่ภายนอกคือรูปลักษณ์ และภายในคือความคิดทัศนคติได้อย่างดี ซึ่งเมื่อกำหนดตัวละครได้สนุกแบบนี้แล้ว การใส่สถานการณ์ต่าง ๆ เข้ามาเพื่อดูการตอบสนองของทั้งคู่ก็ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก
และถ้าใครยังประทับใจกับความเข้มข้นในการปะทะกันและร่วมมือกันระหว่างตัวละครอย่าง ลิน และ แบงค์ ใน ‘ฉลาดเกมส์โกง’ หรือการเชือดเฉือนซ่อนปมปริศนาของหลากตัวละครในซีรีส์ ‘เลือดข้นคนจาง’ ในเรื่องนี้ก็น่าคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรที่เข้มข้นและยากคาดเดาเช่นนั้นได้เหมือนกัน
เพราะนี่เป็นผลงานการเขียนบทของ แฮม วสุธร ปิยารมณ์ 1 ใน 3 มือเขียนบทของหนัง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ กับ มีน ทศพร เหรียญทอง หนึ่งในทีมเขียนบทซีรีส์เลือดข้นคนจางที่มาร่วมมือกันเขียนบทหนังกับผู้กำกับกอล์ฟ ที่เคยร่วมเขียนบทหนังซับซ้อนสยองขวัญจิตวิทยาอย่าง ‘บอดี้ ศพ19’ มาแล้ว
ดูแค่เครดิตงานพรีโปรดักชั่นก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
3. ความเนิร์ดในทุกรายละเอียดงานสร้าง จนเกิด หนัง Genre ใหม่ของ GDH
แต่ความเนิร์ดของกอล์ฟก็ผลักหนังเรื่องนี้ไปไกลขึ้นอีก เพราะการรีเสิร์ชข้อมูลทำหนังเรื่องนี้จริงจังมากที่สุดครั้งหนึ่งทีเดียว แม้แนวหนังจะเป็นแนวแฟนตาซีที่ส่งให้แต่งเสริมจินตนาการเองได้มาก แต่กอล์ฟก็ไปติดต่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของวิทยาศาสตร์ฝั่งตะวันตกเกี่ยวกับโลกหลังความตาย จาก พีพี พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิทยาศาสตร์ชาวไทยที่เป็นนักนวัตกรรมอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ทั้งยังเป็นคนไทยที่เคยขึ้นเวที TED x ASU ที่สหรัฐอเมริกาในหัวข้อ Prototyping the Impossible ด้วย
กอล์ฟ อ้างอิงว่าข้อมูลที่พีพีหามาให้นั้นมีจากทั้งของ MIT ตลอดจนหน่วยงานรัฐบาลกลางอย่าง CIA เอง ก็เคยมีการศึกษาไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เขาเอามาต่อยอดกับการสร้าง โลกของผีที่แตกต่างในแบบฉบับของกอล์ฟเองได้
นอกจากจริงจังเรื่องผีแล้ว ความรู้เรื่องของการแพทย์เองก็ไม่น้อยหน้า เพราะตัวละครหลักมีอาชีพเป็นหมอทั้งคู่ ทำให้กอล์ฟต้องรีเสิร์ชจากหมอชาวไทยด้วย จนนำไปสู่ข้อมูลสำคัญว่า มีหมอที่ศึกษาเรื่องผีแบบตัวละครในหนังของกอล์ฟอยู่จริง ๆ และเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย ทำให้กอล์ฟมีโอกาสได้พา 2 นักแสดงอย่างไอซ์และต่อไปพบกับต้นแบบตัวละครของพวกเขา เพื่อดูการทำงานต่าง ๆ และรู้วิธีคิด ให้สามารถสร้างคาแรกเตอร์ที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือ สมจริงมากขึ้น
และเมื่อผสมหลายองค์ประกอบการเล่าเรื่อง จากทั้งข้อมูล และแนวหนังที่ผสมผสานทั้งแนวคู่หู แนวสยองขวัญ แนวสืบสวน และการตั้งคำถามที่ชวนถกเถียงสุด ๆ กอล์ฟถึงขนาดระบุว่านี่คือ หนังตระกูล (Gerne) ใหม่ที่ GDH ไม่เคยสร้างมาก่อน
โดยจากคำพูดของ แชมป์ ธกฤต สมบัตินันท์ จากยูทูบแชนนอล Just ดู It ซึ่งมีโอกาสได้ชมตัวหนังแล้ว ถึงกับบอกว่าเมื่อหนังดำเนินมาถึงครึ่งเรื่องก็สามารถทำให้คนดูต้องทึ่งหนัก ๆ และเป็นความแสบในการเล่าเรื่องของผู้กำกับกอล์ฟมาก ๆ ซึ่งหากดูจากผลงานที่ผ่านมาก็คงต้องบอกว่าน่าตื่นเต้นทีเดียวว่าแนวหนังจริง ๆ ของเรื่องนี้เป็นอย่างไร แล้วยังเก็บซ่อนอะไรไว้อีกที่ไม่มีในตัวอย่างหนัง คงต้องรอไปพิสูจน์ด้วยตนเอง
4. ข้ามเซ็นเซอร์แบบไทย เพื่อก้าวสู่ระดับโลกที่แท้จริง
นี่คือหนังที่เป็นคอนเทนต์แบบเวิลด์ไวด์เรื่องแรกของไทย ด้วยความร่วมมือของ GDH และ Netflix ที่จะปล่อยหนังเรื่องนี้พร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ โดยมีซับไตเติ้ลครบทุกภาษาที่มีบริการเน็ตฟลิกซ์ รวมถึงยังมีเวอร์ชันพากย์ที่เป็นภาษาท้องถิ่นในหลายภูมิภาคด้วย เรียกว่าเน็ตฟลิกซ์เองก็เชื่อมั่นและมองเห็นศักยภาพของหนังเรื่องนี้ที่จะสร้างความนิยมในระดับสากลได้อย่างแน่นอน
โดยผู้กำกับกอล์ฟมองว่านี่คือโอกาสสำคัญที่หนังไทยจะได้รับผู้ชมวงกว้างมากที่สุด และเขาเองก็ยอมรับว่าตัวหนังมีประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกหั่นของกองเซ็นเซอร์ไทยอยู่หากเข้าฉายโรงตามปกติ ซึ่งเดาจากตัวอย่างหนังได้ว่าน่าจะเป็นเรื่องประเด็นจริยธรรมทางการแพทย์มากกว่าเรื่องศาสนา และนี่ทำให้หนังในฐานะคอนเทนต์เน็ตฟลิกซ์สามารถเล่าตามที่ต้องการได้เต็มที่ น่าสนใจเช่นกันว่าเน็ตฟลิกซ์จะเป็นพรมแดนใหม่ในการเล่าเรื่องของหนังไทยได้จริง ๆ แล้วหรือเปล่า
โดยสำหรับสายตาคนต่างชาตินั้น ในวันที่ตัวอย่างหนังได้ปล่อยลงสู่อินเทอร์เน็ตผ่านชาแนลยูทูบหลักของเน็ตฟลิกซ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะคนที่รู้จักสื่อทางวัฒนธรรมยุคหลังของไทยอย่างดี ทั้งหนังผีไทย และดาราวัยรุ่นคุณภาพจากค่ายนาดาว ก็ออกอาการตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียว
โดยมีความเห็นเช่น “ไทยสร้างผลงานดี ๆ ให้เราได้ดูจริง ๆ ในช่วงการกักตัวแบบนี้” “ดีใจที่ไทยพร้อมจะสั่นสะเทือนเน็ตฟลิกซ์แล้ว” “ดูดีมาก ฉันโดนตกเรียบร้อย” “การแสดงของ ต่อ (ธนภพ) มันว้าวมาก”
5. คุณภาพแบบอินเตอร์ ภาพ/เสียงที่เป็นมากกว่าเดิม
นอกจากนั้นด้านคุณภาพ ผู้กำกับกอล์ฟก็ยืนยันว่าเป็นการใช้โปรดักชั่นคุณภาพเดียวกับที่ทำฉายโรง และทำให้ตัวหนังรองรับคุณภาพของภาพและเสียงระดับสูง ตามที่เทคโนโลยีสตรีมมิ่งยุคนี้รองรับ ทั้งยังเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ผลิตด้วยระบบ Dolby Vision เทคโนโลยีการถ่ายภาพ HDR อันน่าทึ่ง ที่นำสี ความคมชัด และความสว่างที่ไม่ธรรมดามาสู่หน้าจอ และการที่เป็นหนังเน็ตฟลิกซ์ก็ยังเปิดโอกาสให้เล่นขนาดของเฟรมภาพได้หลากหลายมากขึ้นด้วย
และสำหรับด้านเสียงก็ยังเรียกร้องอุปกรณ์ในการรับชมพอสมควร โดยผู้กำกับแนะนำให้ใช้ลำโพงที่รองรับระบบเสียงและให้รายละเอียดเสียงที่ดี เพราะการมิกซ์เสียงเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเล่าเรื่องเลยก็ว่าได้ อย่างน้อยเสียงก็ต้องทำงานแทนตัวผีที่มองไม่เห็นเป็นภาพ แม้แต่ในตัวอย่างก็ยังไม่เห็นภาพผีจริง ๆ เลย ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยว่าจะมีอะไรซ่อนไว้ในการเล่าเรื่องด้วยเสียงบ้าง
และเมื่อให้ความสำคัญกับเสียงเช่นนี้ ผลงานของสกอร์ในหนัง ก็ยังได้คอมโพสเซอร์อย่าง บิว ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์ คนไทยที่ไปทำงานด้านเสียงไกลถึงอเมริกา และมีผลงานสำคัญในเกมเครือเพลย์สเตชั่นมาแล้วมากมายทั้ง คอมโพสเซอร์เต็มตัวใน ‘Ghost of Tsushima: Legends DLC’ (2020) และมิวสิคเอดิเตอร์ในเกมยักษ์อย่าง ‘God of War’ (2018) ‘Days Gone’ (2019) ‘Death Stranding’ (2019) และล่าสุดกับผลงานเรียบเรียงดนตรีใน ‘Demon’s Souls Remake’ (2020) และ ‘Returnal’ (2021) ด้วย ซึ่งที่ว่ามาต้องบอกว่าบรรยากาศของหลายเกมเข้าทางกับหนัง ‘Ghost Lab’ ไม่น้อยทีเดียว
และเป็นบิวนี่เองที่ยังได้แนะนำให้คนที่ทำตัวอย่างหนังดัง อย่าง ‘Star Wars: The Rise of Skywalker’ (2019) และล่าสุดอย่าง ‘Mortal Kombat’ (2021) มาช่วยทำหนังตัวอย่างให้กับ ‘Ghost Lab’ ด้วย ซึ่งผู้กำกับกอล์ฟตื่นเต้นมากด้วยเช่นกัน
นี่เป็นเพียงข้อมูลยั่วน้ำลายที่น่าสนใจที่เราได้รวบรวมมาให้ติดตาม ก่อนที่จะได้ชมหนังจริง ซึ่งอ่านแค่นี้ก็พอคาดหวังได้เหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้ต้องมีของรอปล่อยอยู่ไม่น้อยทีเดียว
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ