Ghost Lab จากงานวิจัยสู่ปรากฏการณ์ชวนเหวอ

Ghost Lab จากงานวิจัยสู่ปรากฏการณ์ชวนเหวอ

Ghost Lab จากงานวิจัยสู่ปรากฏการณ์ชวนเหวอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Ghost Lab บอกเล่าเรื่องราวของนักศึกษาแพทย์สองคนอย่างกล้า (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) และวี (ธนภพ ลีรัตนขจร) ได้ตัดสินใจจะค้นคว้าทำงานวิจัยเกี่ยวกับผี เพื่อตอบคำถามถึงสมมติฐานในการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ หลังจากที่ทั้งสองมองเห็น “ผี” ในโรงพยาบาลยามวิกาล แต่เมื่อเริ่มวางแผนการวิจัยทั้งสองได้เริ่มถลำลึก ในความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองมากขึ้นไปเรื่อยๆจนสู่จุดที่ทั้งสองไม่อาจจะหวนคืนกลับไปได้

จะว่าไปแล้วหนังมีคอนเซ็ปต์น่าสนใจ เพราะเลือกจะหยิบไสยศาสตร์มาหาคำตอบด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นอะไรที่ใหม่หมดจด ถ้าย้อนกลับไปในปี 1990 Flatliners เคยหยิบเอาเรื่องราวชีวิตหลังความตายมาทำการทดลองผ่านกลุ่มนักศึกษาแพทย์มาแล้ว แต่หนังเรื่องดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นจะศึกษาเกี่ยวกับ “ผี” แต่เน้นตั้งคำถามว่าชีวิตหลังความตายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เสี้ยววินาทีนั้น คืออะไร และจะเกิดอะไรกับเจ้าของร่างบ้าง

กลับมาที่ Ghost Lab ที่ในช่วงแรก พยายามจะตั้งสมมติฐานกับคนดูเอาซะเหลือเกินว่า “ผี” คืออะไร และสามารถปรากฏตัวขึ้นได้หรือไม่ ทว่าเมื่อหนังเล่าไปสักระยะ หนังก็เริ่มจะเปลี่ยนประเด็นไปสู่คำถามที่ว่าอะไรคือผี และชีวิตหลังความตายเป็นยังไง ผีสามารถเป็นพลังงานในรูปแบบไหน และสามารถสร้างผลกระทบอะไรได้บ้างกับมนุษย์ ในจุดนี้มีความน่าสนใจในตัวบทภาพยนตร์

ทว่าวิธีการถ่ายทอดผ่านตัวละครอย่างกล้าและวี นั้นกลับไม่สามารถโน้มน้าวให้เราเชื่อได้สักวินาทีเดียวเลยว่าพวกเขาเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่ถูกผ่านการอบรมกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์มากว่าครึ่งค่อนชีวิต แค่ตรรกะเรื่องการแบ่งเวลาในการทำวิจัยกับตารางชีวิตในการทำงาน ก็ดูยิ่งทำให้เราเห็นว่า นักศึกษาแพทย์สองคนนี้ล้มเหลวทางระบบความคิดมากแค่ไหน จึงไม่น่าแปลกใจนักที่สุดท้ายจะมีตัวละครหนึ่งเลือกจะใช้ตัวเองเป็น “ตัวอย่างการทดลอง”

เมื่อเราพยายามปะติดปะต่อความเป็นเหตุเป็นผลของหนังเรื่องนี้ ก็จะพบว่าความพิศวงงงงวยจากตรรกะของตัวละคร จนชวนเกาหัวจนหนังศีรษะแทบถลอก อาทิ การใส่สถานการณ์ระทึกขวัญต่างๆเข้ามาแบบไร้เหตุผลและดูเหมือนตัวผู้กำกับเองจะสนุกกับการหยิบภาพฉากเด่นจากหนังตะวันตกเรื่องนั้นที เรื่องนี้ทีเข้ามาในงานของตัวเองอาทิ Resident Evil 1 (ฉากลิฟต์), Hollow Man (การไล่ล่าไร้เงา) และชวนขำจนตกเก้าอี้มากที่สุดคือฉากคนเหล็กคืนชีพ! จาก Terminator 2

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามแต่ สมมติฐานของหนังเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรตลกไปกว่าการที่ตัวละครพูดภาษาไทย แต่ผีกลับเลือกจะสื่อสารกลับมาจากโลกแห่งความตายด้วยการพิมพ์ “ภาษาอังกฤษ” อันเป็นภาษาสากล ... แล้วทำไมไม่ให้นักแสดงในเรื่องพูดบทเป็นภาษาอังกฤษไปให้มันรู้แล้วรู้รอดเลยก็ไม่ทราบ

อย่างว่า การพยายามทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ ก็พิศวงพอๆกับการตั้งคำถามถึงวัคซีนในประเทศไทย ที่สลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าหนังหักมุม ที่ตอนนี้กลายเป็นทีวีซีรีส์ระทึกขวัญสั่นประสาท จนเราคิดว่าในอนาคตหากมีคอนเทนท์บันเทิงเกี่ยวกับเรื่องราวนี้คงสามารถทำออกมาได้สนุก ชวนลุ้นระทึกได้ไม่หยอก

 

 

มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไปหากยังไม่ชมภาพยนตร์กรุณาปิดหน้าต่างนี้ก่อน

กลับมาที่ Ghost Lab ต่อกันดีกว่า เมื่อเรามองไปถึงเรื่องการแสดงไม่ว่าจะเป็น ไอซ์ พาริส ซึ่งถูกวางคาแรกเตอร์ให้เป็นหมอมาดคูล เท่ๆ ทรงเสน่ห์ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วการวางบทบาทนี้ก็ไม่ได้ไกลคาแรกเตอร์จริงๆของไอซ์ สักเท่าไหร่ เมื่อพิจารณาจากผลงานโดยรวมอาทิ งานเพลงหรือการเพอร์ฟอร์มบนเวทีคอนเสิร์ต แต่ปัญหาอยู่ที่การกำกับการแสดงให้มันพอเหมาะพอดีกับตัวละครกล้า ซึ่งมีวิชาชีพนักศึกษาแพทย์ศัลยกรรมที่ต้องมีเคสผ่าตัดรายวัน ทำงานอยู่บนพื้นฐานความเป็นมืออาชีพ แต่หนังกลับทำให้ตัวละครนี้เหมือนนายแบบหน้าหล่อที่มาสวมเสื้อกาวน์ที่คว้าปืนมากรอกปากตัวเอง ก่อนกะพริบตาทำท่าๆหนึ่งดอกก่อนลั่นไก งงมากพี่!

อีกหนึ่งนักแสดงนำที่ไม่พูดถึงเลยก็คงไม่ได้กับต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร คือรับบทบาทมาหลากหลาย แน่นอนว่าบทดีๆที่เขาเคยเล่นอย่าง ลูกชายคนโตในซีรีส์เลือดข้นคนจาง เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่เขาทำได้ดีเรื่องหนึ่งในวิชาชีพนักแสดง แต่สำหรับ Ghost Lab นั้นคงต้องใช้คำว่า ดีพอสอบผ่านเท่านั้น เนื่องจากตัวบทภาพยนตร์เองก็ไม่ได้เอื้อให้ผู้ชม “ซื้อ” หรือ “เข้าใจ” ในความคิดของตัวละครอย่างวีได้สักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางอารมณ์ของตัวละครที่ดูงุนงง สับสน จากนักศึกษาแพทย์เนิร์ดๆ แอบซึมเศร้าเพราะแม่นอนเป็นผักอยู่บนเตียง ที่โดนเพื่อนสุดคูลชวนทำวิจัยปรากฏการณ์ผี ก่อนที่จะผันตัวเองให้กลายเป็นคนวิกลจริตเพราะงานวิจัยทำให้เขาถลำลึกเข้าสู่ด้านมืด! (ด้านมืดได้ตัวเขาไปเสียแล้ว!) จนท้ายที่สุดแม้หนังพยายามจะให้เหตุผลกับคนดูว่า ตัวละครนี้อาจจะมีภาวะทางจิตใจที่ไม่ปกติก็ตาม แต่เราก็ยังไม่เข้าใจในการกระทำของตัวละครนี้อยู่ดี

ส่วนตัวละครแฟนสาวของกล้า (ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) แม้เธอจะมีโมเมนต์ให้แสดงอารมณ์หลายครั้ง (และแน่นอนเธอดูมีสติมากกว่าใครเพื่อนเมื่อเทียบกับตัวละครทั้งหมด) ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า ทั้งบทภาพยนตร์นั้นไม่ได้ส่งเสริมให้เธอดูเป็น “แฟนสาวผู้ตกเป็นเหยื่อ” ของความวิปลาสทางความคิดของกล้าเอง

ท้ายที่สุดแล้วอย่างที่เราได้กล่าวไป การทำความเข้า Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี นั้นได้ฉีกกฎการดูหนังทางสตรีมมิ่งอีกเช่นกัน เพราะนอกจากจะสามารถดูได้ที่บ้านแล้ว ยังสามารถทำให้ผู้ชมอยากจะกด Pause ได้ทุก 20 นาที เพื่อตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่เรากำลังนั่งดูปรากฏการณ์อะไรกันแน่อยู่นะ?

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook