[ขุดหนังเก่ามารีวิว] Anacondas: The Hunt for the Blood Orchid ฝูงงูยักษ์สืบพันธุ์

[ขุดหนังเก่ามารีวิว] Anacondas: The Hunt for the Blood Orchid ฝูงงูยักษ์สืบพันธุ์

[ขุดหนังเก่ามารีวิว] Anacondas: The Hunt for the Blood Orchid ฝูงงูยักษ์สืบพันธุ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนกลับไปในปี 1997 Anaconda เป็นหนังที่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบ แต่ทำรายได้มหาศาลทั่วโลก แถมยังได้ดารานักร้องดาวรุ่งอย่าง เจนิเฟอร์ โลเปซและไอซ์ คิวป์ มารับบทนำ พ่วงด้วยดารารุ่นใหญ่อย่างจอน วอยซ์ มารับบทเป็นกองคาราวานถ่ายทำสารคดีจาก National Geographic ร่วมเดินทางเข้าป่าอเมซอนไปถ่ายทำชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง แต่ระหว่างการเดินทางผ่านลุ่มแม่น้ำ พวกเขาก็พบว่ามีอสูรกายงูยักษ์จ้องเล่นงานพวกเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย พวกเขาจึงต้องหาหนทางเอาตัวรอดก่อนจะลงไปอยู่ในท้องของอนาคอนด้า

Anacondas: The Hunt for the Blood Orchid ถูกสร้างขึ้นมาในปี 2004 โดยไม่มีความเกี่ยวโยงใดๆกับหนังภาคแรก โดยหนังภาคนี้แทบจะหยิบโครงสร้างของหนังภาคแรกมาทั้งยวง เปลี่ยนแค่กลุ่มตัวละครหลักจากทีมถ่ายทำสารคดีให้กลายเป็นเหล่านักวิจัยจากบริษัทยามีแผนการเดินทางไปยังป่าลึกของเกาะบอร์เนียว เพื่อไปนำ “กล้วยไม้สีเลือด” มาทำการสังเคราะห์องค์ประกอบทำยา แน่นอนว่าระหว่างทางพวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับเหล่างูยักษ์อนาคอนด้า

เหล่าตัวละครนักวิจัยและกองคาราวานร่วมเดินทาง เรียกได้ว่าลอกแบบจากหนังภาคแรกมาครบครัน โดยเฉพาะการวางบุคลิกตัวเอก ตัวร้าย ตัวตลก เป็นรูปแบบจำเพาะ (หนังยุคปี 2000 ต้นๆ มักจะมีการกำหนดลักษณะจำเพาะของตัวละครเอาไว้ เด่นชัดที่สุดคือ นักแสดงผิวสี มักจะต้องเล่นบทตลก พูดจาหยาบคาย ขี้โวยวาย เป็นต้น)   

น่าเสียดายที่หนังชื่อ Anacondas แต่กว่าที่ผู้ชมจะได้เห็นการแผลงฤทธิ์ของงูยักษ์แบบคาหูคาตา ก็กินเวลาเล่าเรื่องไปกว่าเกือบหนึ่งชั่วโมง จนเหตุการณ์ในภาคนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการแสดงบทเกาเหลากันระหว่างตัวละครจนน่ารำคาญ มิหนำซ้ำสิ่งที่คนดูต้องการที่สุดก็คือ งูยักษ์ กลับปรากฏตัวบนจอน้อย และไม่ค่อยจะสาแก่ใจนักสำหรับฉากไคลแม็กซ์ที่ดูราบเรียบจนเกินไป

อย่างไรก็ตามถ้าหากวิเคราะห์ลักษณะของงูอนาคอนด้าในหนังภาค Blood Orchid จะพบว่า การใส่อักษรตัว s ท้ายชื่อหนังเพื่อเพิ่มปริมาณของจำนวนงูยักษ์เข้ามา แต่หนังแทบไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากจำนวนงู ในการสร้างความตื่นเต้นระทึกขวัญจากสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เว้นแต่เพียงฉากบ่องู อันปรากฏภาพเหล่าอนาคอนด้ากำลังผสมพันธุ์กันในตอนท้าย ซึ่ง “มาช้า” เกินไปอย่างน่าเสียดาย แถมยังไม่มีการแผลงฤทธิ์แบบหมู่คณะงูใดๆ ให้คนดูสาแก่ใจเลยสักนิด

สุดท้ายแล้ว แม้ Anacondas: The Hunt for the Blood Orchid จะเป็นหนังฮิตตามสตรีมมิ่งทั่วโลกโดยตลอดมา แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในแง่ของงานสร้างและบทภาพยนตร์นั้น ไม่อาจจะเทียบเคียงหนังภาคแรกในทุกด้าน ส่วนแฟรนไชนส์โฮมวิดีโอภาคต่อหลังจากหนังภาคนี้ นั้น บอกได้เลยว่า “อย่าไปเสียเวลาเปิดดูเลยครับ หนักหนากว่า The Hunt for the Blood Orchid หลายเท่าตัว”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook