Sailor Moon Eternal การคัมแบคขึ้นจอของเหล่าไอคอนขวัญใจ LGBTQ ในวัยเด็ก
คุณูปการสำคัญของ Sailor Moon คือมังงะผลงานของอ.นาโอโกะ ทาเคอุจิ ผู้วางแม่แบบให้กับเหล่าการ์ตูนแนว “เด็กสาวแปลงร่าง” ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ในระดับโลก มีชื่อเสียงในระดับไอคอนสำคัญของวงการมังงะไม่แพ้ การ์ตูนแนวบอยๆ อย่าง Dragon Ball แต่นอกเหนือจากภาพจำของแอนิเมชั่นที่ขายฉากแปลงร่างแล้ว ประเด็นที่ปรากฏอยู่ในเซเลอร์มูน คือตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศและยังยืนหยัดในแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงนั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อถูกกดขี่ข่มเหง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Sailor Moon Eternal ย้อนกลับไปให้เราเห็นอดีตชาติของสึกิโนะ อุซางิ ในฐานะเจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์ ได้กลับชาติมาเกิดยังโลกมนุษย์พร้อมกับเหล่าองครักษ์ผู้ดูแลทั้งสี่คน อีกทั้งเธอยังเป็นคู่แท้กับเจ้าชายของอาณาจักรโลก ซึ่งในชาตินี้คือมาโมรุ ส่วนจิบิอุสะ หรืออุซางิน้อยคือลูกสาวของสึกิโนะและมาโมรุในอนาคตที่เดินทางมาพบกับครอบครัวของตัวเอง (และแอบชอบพ่อของตัวเองอย่างออกหน้าออกตา!)
ระหว่างที่โตเกียวกำลังจัดงานเฉลิมฉลองเหตุการณ์เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง อุซางิน้อยได้พบกับเปกาซัสปริศนาเฮลิออส ผู้ปรากฏตัวขึ้นเพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากหญิงสาวผู้รับเลือกและมีพลังในการทำลายผนึกของโกเดลคริสตัล แต่ระหว่างที่ท้องฟ้ามืดสนิทจู่ๆคณะละครสัตว์เดดมูนได้ปรากฏตัวขึ้นอย่างปริศนา (แน่นอนว่าผู้มาเยือนกลุ่มนี้ไม่ได้มาด้วยจุดประสงค์ดี) ซึ่งมีแผนการยึดครองโลกมนุษย์และจะเปลี่ยนให้เป็นดินแดนแห่งความตาย โดยมีผู้นำชื่อราชินีเนเฮลเนีย พร้อมกับเหล่าลูกสมุนอเมซอนเนส
Sailor Moon Eternal ถูกแบ่งออกเป็น 2 PART โดย PART แรกคล้ายกับการฟื้นความทรงจำของผู้ชม ว่าตัวละครแต่ละตัวเป็นใคร มาจากไหน แต่นอกเหนือจากนั้นคือการที่เซเลอร์มูนภาคนี้เปิดโอกาสให้คนดูได้ไปทำความรู้จักกับเซเลอร์คนอื่นๆนอกจากเซเลอร์มูน ว่า “ชีวิตส่วนตัว” ของ เมอร์คิวรี่ มาร์ จูปิเตอร์และวีนัส พวกเธอเติบโตมากับครอบครัวแบบไหน มีความฝันในชีวิตอย่างไรและทำไมพวกเธอถึงยังเลือกจะชีวิตเป็นเพื่อนกันโดยตลอดมา
มองในแม่หนึ่งคือการที่ทำให้แฟนการ์ตูนเรื่องนี้ “หายคิดถึง” ตัวละครเหล่านี้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมขาจรได้ทำความรู้จักกับตัวละครได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เพียงแต่ว่าผู้ชมขาจรอาจจะไม่เข้าใจการมีอยู่ของตัวละครอุซางิน้อย รวมไปถึงแรงขับเชิงพฤติกรรมว่าทำไม ตัวละครนี้ถึงมีความกระเหี้ยนกระหือรืออยากได้ความรักจากพ่อตัวเองขนาดนั้น (อุซางิน้อย นี่คือนางอิจฉาของสึกิโนะ อุซางิ แม่ตัวเองประจำเรื่องนี้) หรือถ้าจะหยิบหลักการมาอธิบายสภาวะนี้คือ อุซางิน้อยมีปมอิเลคตร้า (Electra Complex) อันเป็นอาการที่เด็กผู้หญิงจะมีอาการติดพ่อมาก มากเสียจนอยากให้พ่อสนใจแต่ตัวเอง ไม่ฟังแม่ตัวเองและมองว่าเพศเดียวกันกระทั่งแม่ของตัวเองนั้นคือคู่แข่งในชีวิต (ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนเซเลอร์มูนมาคงเข้าใจวีรกรรมก๋ากั่นของอุซางิน้อยเป็นอย่างดี)
โชคดีที่อุซางิน้อยในภาคนี้ได้พบแล้วว่า ไม่ต้องแย่งสามีของแม่ มาเป็นของตัวเองก็ได้ เพราะในอนาคตเธอจะได้พบกับ “คู่แท้” อย่างเฮลิออส ที่จำแลงมาเป็นเปกาซัส (แถมรูปโฉมที่แท้จริงก็หล่อเหลา) จนสติสตางค์ของนังหนูอุซางิน้อยเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
วกกลับมาพูดถึงภาพรวมของ Sailor Moon Eternal ใน PART 2 ที่ให้เหล่าเซเลอร์ตัวอื่นๆปรากฏตัว ไม่ว่าจะเป็น ยูเรนัส เนปจูน พลูโต รวมไปถึงแซทเทิร์น ซึ่งกลายเป็นครอบครัว LGBTQ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ในเซเลอร์มูนนั้น มองเหล่าตัวละครเหล่านี้ “ไม่มีเพศ” มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ผู้ชมย่อมรับรู้ถึงความเท่ สมาร์ทของเซเลอร์ยูเรนัสหรือเทนโอ ฮารุกะ ผู้เป็นตัวละครคู่รักกับเซเลอร์เนปจูน โดยที่คนดูเองก็ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจด้วยซ้ำว่าพวกเธอเป็นตัวละครรักร่วมเพศ การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ในมังงะยุค 90 จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ล้ำยุค ล้ำสมัยและให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน (หรือเพราะเหล่าเซเลอร์ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ ก็เป็นได้ ทำให้ไม่กลายเป็นประเด็นดราม่า แบนการ์ตูนเรื่องนี้ในยุคนั้น)
ถึงแม้ว่าเรื่องราวใน Sailor Moon Eternal จะไม่มีอะไรเกินความคาดเดาว่าตอนจบ เหล่าธรรมมะ ย่อมชนะอธรรม แสงสว่างย่อมชนะความมืด วิธีการมองโลกของเซเลอร์มูนจึงยังคงเป็นการมองอะไรที่เป็นขาวจัด ดำจัด ทุกอย่างยังถูกพาสเจอร์ไรซ์เป็นมิติแบบเดิมๆ สวนทางกับแนวคิดเรื่องเพศที่ปรากฏอยู่ในมังงะชุดนี้ เข้าใจว่าเพราะเซเลอร์มูนภาคนี้ถูกดัดแปลงมาจากมังงะต้นฉบับ แต่ก็แอบรู้สึกเสียดายไม่ได้ที่ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมุมมองเรื่องการมองความสุดโต่งเรื่องความดี ความชั่วนั้นยังเป็นวิธีมองแบบเดิมๆไปหน่อย
แต่ถ้าดูแบบไม่คิดอะไรเยอะ Sailor Moon Eternal ก็ทำให้คนดูคิดถึงวันเก่าๆอันแสนสุขได้ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากความน่าหงุดหงิดของข่าวบ้านเมืองรายวัน!