17 ปี White Chicks หนังสุดฮาในดวงใจของใครหลายคน กลับมาดูซ้ำยังขำน้ำตาเล็ด
หากเราย้อนกลับไปในปี 2004 ซึ่งเป็นยุคที่หนังแนวโรแมนติก-คอมมาดี้ หนังชิคฟลิคที่มีตัวละครวัยทีน เต็มไปหมด และหลายต่อหลายเรื่องสามารถทำเงินในระดับร้อยล้านเหรียญฯ ชนิดที่ยุคปัจจุบันเราแทบจะหาหนังในหมวดหมู่นี้ดูตามโรงภาพยนตร์ยากเย็นเอาเสียเหลือเกิน เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกยึดครองด้วยหนัง แฟรนไชส์ ภาคต่อ และซูเปอร์ฮีโร่เสียจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้หนังฟอร์มกลางและเล็กได้แบ่งปันรสชาติชีวิตในมุมอื่นสักเท่าไหร่
เมื่อ White Chicks ออกฉายในช่วงเวลานั้น หนังโดนโจมตีจากนักวิจารณ์ว่ามันเป็นหนังที่ไร้สมอง ไร้ความสนุก อุดมไปด้วยมุกตลกใต้สะดือ อุจจาระของเสีย พล็อตเรื่องเต็มไปด้วยช่องโหว่ สามารถคาดเดาได้ทุกอย่าง แถมเมคอัพของนักแสดงก็น่ากลัวราวกับเอเลี่ยน ที่น่าแปลกใจคือทำไมผู้ชมมองไม่เห็นความไม่สมจริงที่เกิดขึ้นบนหน้าจอได้!
ในยุคที่นักวิจารณ์เคร่งเครียดกับการมองหาความสมจริงสมจัง ในขณะที่ผู้ชม (และตัวผู้สร้างเอง) น่าจะเลือกมองข้ามตรรกะในความสมจริงทิ้งไปแบบไม่แคร์และไม่ใยดีถึงข้อเท็จจริงนี้เสียด้วยซ้ำ เพราะน้ำเสียงและโทนของ White Chicks ไม่ได้ต้องการจะนำเสนอความสมจริง (Realistic) ตั้งแต่หนังตัดสินใจเลือกจะเขียนบทให้ตัวเอกนายตำรวจ FBI อย่างมาร์คัส (มาร์ลอน เวย์นส์) และเควิน โคปแลนด์ (ชอว์น เวย์นส์) จำเป็นต้องปลอมตัวเป็นสองพี่น้องไฮโซสาวสวยอย่างบริทนีย์ (เมตแลนด์ วอร์ด) และทิฟฟานี่ วิลสัน (แอนน์ ดูเด็ก) โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยปลอมตัว FBI ในการแปลงโฉมหนุ่มผิวดำ ให้กลายเป็นสาวผิวขาวตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งคนดูรับรู้อยู่แล้วว่าการปลอมตัวครั้งนี้ดูยังไงก็ไม่เหมือนร่างต้นฉบับ แต่เมื่อเรายอมรับในตรรกะนี้แล้ว ผู้ชมจะพบว่าจริงๆ หนังเรื่องนี้ตั้งใจจะทำขึ้นมาเพื่อ “เสียดสี” วัฒนธรรมป๊อปของคนผิวขาวเสียด้วยซ้ำไป
การเดินทางเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงสุดเดิ้นของเหล่าในไฮโซในโรงแรมแฮมป์ตัน กลายเป็นบททดสอบสองนายตำรวจผิวสีไม่ให้โป๊ะแตกว่าทั้งสองเป็นชายในร่างผู้หญิง ที่แปลงโฉมมาสืบมูลเหตุแผนการลักพาตัวของสองพี่น้องวิลสัน แน่นอนว่าระหว่างทาง อุปสรรคที่ทั้งสองต้องเจอไม่ใช่แค่การสืบคดี แต่เป็นการรับมือกับวัฒนธรรมของคนผิวขาวซึ่งทั้งสองเองนอกจากจะยังไม่ชินแล้ว พวกเขายังต้องรับมือในฐานะผู้ชายที่ต้องแสร้งมีจริตไลฟ์สไตล์แบบผู้หญิงไฮโซอีกต่างหาก
ความตลกที่เกิดขึ้น ผู้ชมจะได้เห็นวิธีการเลียนเสียงให้มีจริตจก้านแบบความเชิด ความประดิษฐ์จนเกินเบอร์ ซึ่งแน่นอนเมื่อมันถูกแสดงผ่านเมคอัพอันผิดธรรมชาติ จึงยิ่งทวีความขบขันมากขึ้นหลายเท่าตัว แต่วิถีที่ทั้งสองตัวละครจะต้องไปฟาดฟันในวงสังคมชั้นสูง คือการชิงดีชิงเด่นระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง โดยเฉพาะการที่ทั้งสองนายตำรวจจะต้องไปปะทะกับเฮเธอร์ (เจมี่ คิง) และเมแกน (บริททานีย์ แดเนียล) สองพี่น้องตระกูลแวนเดอร์เกลที่ถือไพ่ความรวย และกำชัยชนะมาโดยตลอด แต่เมื่อวันนี้มาร์คัสและเควิน ในร่างของบริทนีย์และทิฟฟานี่เลือกที่จะไม่อ่อนข้อให้กับสองพี่น้องจอมเอาแต่ใจอีกต่อไป ทั้งสองจึงฟาดฝีปากในการปะทะกันครั้งแรกในสไตล์แรปเปอร์ โต้คารม ที่ใครไม่ขำก็คงต้องบอกว่าคุณเป็นคนเส้นลึกมากจริงๆ
อันที่จริงตลอดรายทางของหนัง สองตัวละครอย่างมาร์คัสและเคลวินเลือกที่จะเอาวัฒนธรรมของคนผิวสีมาปะทะกับวัฒนธรรมของคนผิวขาว ได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวละครลาเทรล (เทอร์รี่ ครูวส์) นักบาสเกตบอลที่หิวและจ้องจับอยากจะได้ทิฟฟานี่จนเนื้อตัวสั่น จนเขาเลือกจะใช้เงินฟาดหัว ด้วยการทุ่มเงินกว่า 5 หมื่นดอลลาร์ในการประมูลเธอ ในกิจกรรมระดมทุนเข้ามูลนิธิแวนเดอร์เกล ซึ่งในฉากดังกล่าวตัวละครนักข่าวผิวสีเดนิส พอร์เตอร์ ยังถูกเควินแซะด้วยซ้ำว่ากิจกรรมของคนผิวขาวนี่เขา “เอาผู้หญิงมาประมูล” กันแบบนี้เลยเหรอ
นอกจากจะแซะไลฟ์สไตล์ที่นอกจากจะเหยียดเพศแล้ว วิถีทางการฟังเพลงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ White Chicks หยิบเอามาจวกคนดูได้อย่างมีกึ๋น เมื่อตอนที่เหล่าสาวๆทั้งห้า อันประกอบไปด้วยบริทนีย์ ทิฟฟานี่ เคเรน (บูซี่ ฟิลลิปส์) ทอรี่ (เจสสิก้า คัฟฟิว) และลิซ่า (เจนนิเฟอร์ คาร์เพนเตอร์) ต้องโดดขึ้นรถเปิดประทุนพร้อมกับเพลง A Thousand Miles ของวาเนสซ่า คาร์ลตัน ที่ฮิตและดังเป็นพลุแตกในปี 2002 เกิดดังขึ้น ทำให้พวกเธอต้องร่วมกันร้องประสานเสียง แต่เมื่อสองพี่น้องวิลสัน (ตัวปลอม) ร้องเพลงนี้ได้อย่างเพี้ยนและเงอะงะ แต่เมื่อเพลง Realest Niggas ของนักร้องผิวสีอย่าง 50 Cent และ Notorious B.I.G. ดังขึ้น ทั้งสองกลับร้องท่อนที่มีคำว่า “นิโกร” ได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ จนบรรดาเพื่อนสาวที่เหลือเกิดอาการงง และยิงคำถามกลับว่าทำไมพวกเธอถึงกล้าร้องเพลงนี้ สองสาวจึงบอกว่า ก็ไม่เห็นจะมีคนผิวสีอยู่แถวนี้เลยนี่นา เมื่อเห็นดีเห็นงามด้วยทั้ง 5 คนจึงร้องเพลงนี้กันอย่างเมามันและออกรส นั่นหมายความว่าการฟังเพลงฮิปฮอปในหมู่คนขาวนั้นดูเป็นเรื่องไกลตัวและ “น่าอาย” ที่จะยอมรับในวัฒนธรรมของคนผิวสี ทั้งที่จริงพวกเขาก็ชอบแต่อายเหลือเกินที่จะยอมรับมันออกมา
เช่นเดียวกันกับตอนฉากที่พวกสองพี่เฮเธอร์และเมแกน กำลังจะท้าดวลเต้นกับเคเรนและลิซ่า ระหว่างที่ (I Got That) Boom Boom ของบริทนีย์ สเปียร์ กำลังจะจบลง และเพลงที่ดังขึ้นกระหึ่มผับแทนคือ Crazy in Love ของบียอนเซ่ ได้กลายเป็นเพลงที่เหล่าสาวๆเดินสับๆเข้ามาสู่ฟลอร์เต้น เปรียบเสมือนการเปิดศักราชของนักร้องศิลปินป๊อปผิวสีทางอ้อมอยู่เช่นกัน ยังไม่รวมไปถึงเพลงที่สองมาร์คัสและเควินเลือกมาเป็นไพ่ตายในการเต้นฮิปฮอป บีบอยใส่สองพี่น้องแวนเดอร์เกลชนิดหมดทางสู้ในเพลง It's Tricky ของ Run–D.M.C.เป็นอีกหนึ่งการจิกกัดวัฒนธรรมป๊อปของคนผิวขาวได้อย่างน่าสนใจและแนบเนียนเอามากๆ
ในยุคสมัยนั้นเราอาจจะมองไม่เห็นรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้เลย แต่เมื่อเวลาผันผ่านไป เรากลับพบว่าความสนุกที่ยืนยันกับผู้ชมมาโดยตลอด 17 ปีของ White Chicks เพราะนอกจากมุกตลกเจ็บตัวหรือมุกสกปรกของเสียแล้ว การปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรมกลายเป็นหนึ่งในมุกที่ทรงประสิทธิภาพและอยู่ข้ามกาลเวลาอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นแล้ว หนังเรื่องนี้เมื่อถึงยุคสมัยหนึ่งมันคงไม่ทำงานกับผู้ชม และเก่าเกินแกง และกลายเป็นความขำแห้งๆไป
วันนี้ White Chicks ได้พิสูจน์แล้วว่า มันยังเป็นหนังตลกที่สนุกข้ามกาลเวลา และที่น่าสนใจกว่าคือตอนนี้ White Chicks 2 กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาการสร้างของพี่น้องเวย์น จะแล้วเสร็จเมื่อใดก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การกลับมาครั้งนี้จะสมการรอคอยของแฟนหนังหรือไม่