How to Become a Tyrant รวมเหล่าไอคอน "ทรราช" มันส์สุดจนหยุดดูไม่ได้

How to Become a Tyrant รวมเหล่าไอคอน "ทรราช" มันส์สุดจนหยุดดูไม่ได้

How to Become a Tyrant รวมเหล่าไอคอน "ทรราช" มันส์สุดจนหยุดดูไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

How to Become a Tyrant อยู่ในหมวดหมู่ซีรีส์ประเภทสารคดี พอเราเขียนว่าเป็นสารคดี หลายคนอาจจะเกิดอาการขี้เกียจดูเพราะตีตราไปแล้วว่าคอนเทนท์กลุ่มนี้จะต้องน่าเบื่อ บรรยายเสียงเนิบนาบ และอัดแน่นไปด้วยข้อมูลวิชาการราวกับเรานั่งอยู่ในชั้นเรียนวิชาสังคมศึกษา แต่ไม่ใช่แน่นอนสำหรับสารคดีชุดนี้ ที่สั้น กระชับ สนุกจนในแต่ละตอนนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนรู้ตัวอีกทีก็สตรีมมิ่งจบซีซั่นในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ต้องบอกก่อนว่า How to Become a Tyrant มีความยาวทั้งสิ้น 6 ตอน ความยาวในแต่ละตอนอยู่ที่ประมาณ 30 นาที โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในซีรีส์นี้ไม่ใช่การเล่า “ชีวประวัติ” ของทรราชชื่อดังแต่ละคน หากแต่หยิบเอากลยุทธ์ในการก้าวสู่อำนาจของพวกเขาเหล่านี้มาเรียงร้อยต่อกันภายใต้คอนเซ็ปที่ว่า ใครๆก็สามารถรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวเองได้ โดยคุณสามารถถอดบทเรียนจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ซัดดัม ฮุสเซน, อีดี อามิน, โจเซฟ สตาลิน, มูอัมมาร์ กัดดาฟี และตระกูลคิมแห่งประเทศเกาหลีเหนือ!

ใช่ว่าการถอดบทเรียนครั้งนี้ จะเป็นสารคดีประเภทฉายตามช่องเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกที่เปิดดูได้ 10 นาทีก็หลับตึงคาจอโทรทัศน์ เมื่อ How to Become a Tyrant ได้ ปีเตอร์ ดิงก์เลจ ผู้รับบท ทีเรียน แลนนิสเตอร์ ในซีรีส์ Game of Thrones ซึ่งจัดได้ว่าร้ายกาจตัวเอ้ ไม่แพ้เหล่าทรราชในประวัติศาสตร์จริง จนน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ สารคดีชุดนี้ดึงตัวเขามาเป็นผู้บรรยายความเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง

ด้วยน้ำเสียงเย้ยหยัน พร้อมกับสไตล์ของซีรีส์ซึ่งพยายามแอบแซะในระบอบการปกครองแบบเผด็จการ หรือเจาะจงไปที่ผู้ปกครองที่เป็นทรราช โดยเจาะลึกไปที่ตัวบุคคลที่เป็นผู้ปกครองในแง่มุมของการใช้กลยุทธ์ต่างๆในการปกครองของตัวเอง เพื่อครองอำนาจไว้ โดยตอนแรกถูกเปิดมาที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี เยอรมันผู้เลือกวิธีการยึดอำนาจสุดชาญฉลาด หลังจากที่เขาเคยเป็นทหารผ่านศึกมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อนผันตัวเองมาเล่นการเมือง พยายามจะทำรัฐประหาร ติดคุก และอาศัยการเขียนหนังสือ ไมน์คัมพฟ์ (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) เพื่อครองใจประชาชนและทำให้เขาสามารถขึ้นครองอำนาจได้ในเวลาต่อมา

จะเห็นได้ว่าการนำเสนอของซีรีส์ไม่ได้เล่าแบบเนิบนาบ แต่สไตล์การเล่าจัดได้ว่าฉูดฉาด ทันใจวัยโจ๋ ไม่ว่าจะนำเหล่านักประวัติศาสตร์มาให้ความรู้ ตัดสลับภาพจากเหตุการณ์จริง แทรกฉากหนังขาวดำที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน หรือฉากประเภทลอบฆ่า เลือดสาด เลือกจะใช้การสร้างแอนิเมชั่นมาแทรก เพื่อทำให้เรื่องราวมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นและแทนภาพที่อาจจะไม่สามารถหาได้จริงๆ (เนื่องจากฉากเหล่านี้ไม่น่าจะมีการบันทึกภาพเอาไว้ แต่การแทนภาพด้วยแอนิเมชั่น ช่วยลดทอนทั้งความรุนแรง และนำเสนอเหตุการณ์เหล่านั้นภายใต้จินตนาการตามข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆกัน)

ตอนที่ 2 พาผู้ชมไปรู้จักกับซัดดัม ฮุสเซน และวิธีการที่เขาใช้กำจัดศัตรูทางการเมือง อาทิ การใส่ความคนที่เขาไม่ไว้วางใจและมอบความตายให้กับคนเหล่านี้ด้วยวิธีเลือดเย็น โหดเหี้ยม เมื่อเขาสามารถครองประเทศได้แล้ว เขาจึงเริ่มแก้ไขกฎหมายเพื่อเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ และให้เครือข่าย “คนของตัวเอง” เข้าไปดูแลในสินทรัพย์เหล่านี้ เป็นต้น

ตอนที่ 3 พาคนดูกลับไปสำรวจวิธีการสร้างความหวาดกลัวของ อีดี อามิน จากยูกันดา ด้วยวิธีการครอบงำประชาชน มีคนให้คำนิยามว่าเขาได้เปลี่ยนให้ประเทศกลายเป็นโรงฆ่าสัตว์ เนื่องจาการขึ้นสู่อำนาจของเขาเกี่ยวพันกับกองทัพ ทหาร ความรุนแรง และการอุ้มฆ่า! จนกระทั่งไปถึงยุคสมัยหนึ่งเขาก็เปลี่ยนให้คนเชื้อสายเอเชียอย่างอินเดียที่เติบโตและใช้ชีวิตมากว่าหลายทศวรรษกลายเป็นเหยื่อทางการเมือง รวมไปถึง การใส่ความใครสักคนเพื่อให้เขากลายเป็นแพะรับบาปเพื่อให้ตัวเอง

สำหรับเรื่องราวของโจเซฟ สตาลิน ที่พาผู้ชมย้อนกลับไปดูยุทธวิธีผูกขาดความจริง ด้วยการสร้างความจริงของตัวเองขึ้นมาใหม่ เขาอาศัยสื่อต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น วอลเตอร์ ดูแรนตี้ นักข่าวจากนิวยอร์กไทม์ ในการบอกเล่า “ความจริงอีกชุด” ก่อนจะเผยแพร่ข่าวออกไปสู่สังคมประชากรโลกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นไม่ใช่เรื่องจริง เพียงเพราะสตาลินเลือกจะติดสินบนและอุ้มชูเลี้ยงดูวอลเตอร์ ให้ผลิต Fake News ด้วยตัวเอง

ตอนที่เด็ดดวงที่สุดคือบทสรุปตอนสุดท้ายที่พาคนดูไปสำรวจประเทศที่สามารถรักษาอำนาจไว้กับคนจากตระกูลเดียวได้ยาวนาน ยั่งยืนและยังคงอยู่จวบจนทุกวันนี้ อย่างการสืบอำนาจของตระกูลคิม แห่งเกาหลีเหนือ ที่เลือกวิธีการโดดเดี่ยวประเทศตัวเองออกจากประชาคมโลก ปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนจากโลกภายนอก สร้างโฆษณาชวนเชื่อ บอกเล่าตำนานเรื่องเล่าอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อสถาปนาคนในตระกูลตัวเองให้มีความ “เหนือกว่า” ประชาชนคนอื่นๆ เพื่อครองอำนาจ รวมไปถึงใช้ “ภาพยนตร์” ในการบอกเล่าและสนับสนุนแนวคิดการปกครองของตัวเอง เพื่อทำให้ตระกูลคิมทรงอานุภาพขึ้นไปเรื่อยๆ

How to Become a Tyrant คือซีรีส์ที่เราอยากจะแนะนำให้คนในประเทศไทยดูเป็นอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ เพราะเราจะได้เห็นบทเรียนอันหลากหลายว่า ท้ายที่สุดแล้วการมี “ทรราช” ปกครองประเทศนั้น ตกลงแล้ว “ใคร” กันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการปกครองเช่นนี้ ประชาชน หรือผู้ปกครองกันแน่!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook