ในทุกการตายของตัวละคร Marvel ทำไมจึงสำคัญเสมอ
แฟนๆคอมิกส์ของมาร์เวล (หรือดีซี) ก็ตาม คงพอจะเข้าใจกันอยู่แล้วว่า ไม่ว่าตัวละครตัวไหนมีการตายไป อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นตระหนกตกใจกันแต่อย่างใด เพราะถ้าย้อนกลับไปในยุค 1990 ตัวละครในระดับตัวพ่อของวงการอย่าง ซูเปอร์แมน เคยตายคาหนังสือการ์ตูนมาแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการชุบชีวิตตัวละครนี้กลับมา ตัวละครอื่นๆก็เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าการ “ตาย” ของตัวละครเหล่านี้ เป้าประสงค์หนึ่งคือการเพิ่มรสชาติให้กับเรื่องราว สามารถนำมาเป็นจุดขายให้คอมิกส์ขายดีขึ้นอย่างถล่มทลายเป็นการเฉพาะกิจ หรือเพื่อเป็นการปูทางให้ตัวละครนั้นๆมีโอกาสพลิกบทบาทของตัวเองในอนาคต
ในการตายของตัวละครเหล่านี้ การกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งไม่ว่าจะเป็นการฟื้นคืนชีพหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ตัวละครเหล่านี้จะมาพร้อมกับมุมมองใหม่ๆ วิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ซึ่งนำพาผู้อ่านไปสำรวจแง่ต่างๆที่ผู้ชมไม่เคยรู้จักตัวละครเหล่านี้มาก่อน ดังนั้นในทุกการตายของตัวละครอันเป็นที่รัก (หรือชัง) ก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อโครงสร้างหลักของเรื่องราวอยู่เสมอๆ
ในโลกแห่งความเป็นจริงมนุษย์รับรู้กันอยู่แล้วว่า ความตายนั้นอาจจะเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต ดังนั้นมันจึงสร้างผลกระทบเชิงอารมณ์สำหรับทุกคน ความตายย่อมนำพาผู้คนให้ร่วมรำลึก โหยให้ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น และแน่นอนมันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่การจะสร้างหนังที่มีตัวละครตาย “การเล่าชีวิต” ของพวกเขาจึงต้องให้น้ำหนัก ความสำคัญและนำพาผู้ชมให้มองเห็นการมีตัวตนของตัวละครเหล่านี้ การตายของพวกเขาจึงจะมีคุณค่า
อย่างที่ผู้ชมทราบกันเป็นอย่างดีว่าตลอดกว่า 3 เฟสของ MCU จนมาถึง Avengers: Infinity War และ Avengers: Endgame เมื่อตัวละครสำคัญในเรื่องมีการตายจากเรื่องราวไป นั่นอาจจะหมายความว่าพวกเขาจะตายจากคนดูไปตลอดกาล ปัญหาอาจจะอยู่ที่ว่าตัวละครหลายๆตัวที่ “จาก” เราไปแล้ว ผู้ชมอาจจะยังไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักพวกเขามากเท่าไหร่ (ประกอบกับเมื่อตัวละครเหล่านี้กลายเป็นที่รักของผู้ชมในเวลาต่อมาด้วย) ดังนั้นการที่มาร์เวลเปิดโอกาสให้ตัวละครหลายตัว กลับมาโลดแล่นบนจอหนังอีกครั้ง จึงเป็นทั้งโอกาสที่ดีของผู้ชมและสตูดิโอมาร์เวลได้มีทางเลือกในการขยายจักรวาลของตัวเองได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย
ก่อนที่เราจะเดินหน้าไปสู่เฟสที่ 4 ของมาร์เวล เราจะพบว่าจริงๆแล้วซีรีส์ที่ถูกปล่อยลงทางสตรีมมิ่ง Disney+ ตัวละครนำ 2 ใน 3 เรื่องล้วน “ตาย” ใน Avengers: Infinity War กันไปแล้วเรียบร้อยทั้ง โลกิ หรือ วิชชั่น (พอล เบ็ตตานีย์) ดังนั้นการกลับมาขึ้นจอแก้วของตัวละครเหล่านี้ จึงกลายเป็นการเปิดมิติใหม่ของตัวละครเหล่านี้ในแบบที่ผู้ชมเองก็คาดไม่ถึง แถม “การกลับมา” ใหม่ของตัวละครอย่างวิชชั่น ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับตัวละครอีกตัวอย่างวานด้า (อลิซาเบธ โอลเซน)ที่เป็นคู่ชีวิตของเขาเช่นกันในตอนท้ายซีรีส์
ในขณะที่ตัวละครอย่างโลกิ (ทอม ฮิดเดิลตัน) ผู้ชมล้วนแล้วแต่เห็นเขาถูกธานอสฆ่าตายตั้งแต่ตอนต้นเรื่องของ Avengers: Infinity War แถมครั้งนี้ดูเหมือนเขาจะต้องตายจากคนดูไปซะที หลังจาก “ตายปลอมๆ” มาแล้วใน Thor และ Thor: The Dark World ฉะนั้นหนทางเดียวที่จะเล่าเรื่องราวของตัวละครนี้ได้ คือพาเขาย้อนกลับไปในตอนท้ายของเหตุการณ์ปี 2012 ใน The Avengers เมื่อโลกิใช้สเปซสโตนหนีการจับกุม ก่อนจะถูกหน่วยงาน TVA (Time Variance Authority) นำตัวไปดำเนินคดีและเปิดทางให้ตัวละครนี้ได้มีโอกาสกลับมาโลดแล่นบนจออีกครั้ง
ทั้งนี้หนังเปิดเฟสที่ 4 ของ MCU อย่าง Black Widow เองยังเลือกจะเอาตัวละครที่ตายไปแล้วใน Avengers: Endgame อย่างนาตาชา โรมานอฟหรือแบล็ค วิโดว์ (สการ์เล็ต โจแฮนสัน) กลับมาขึ้นจอ โดยย้อนไปเล่าเรื่องราวหลังจากเหตุการณ์ใน Captain America: Civil War ว่าแท้ที่จริงแล้ว ชีวิตความเป็นมาของนาตาชานั้นเธอผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดตัวละครใหม่อย่าง เยเลน่า (ฟลอเรนซ์ พิวจ์) ที่มีความเกี่ยวพันกับนาตาชา ให้คนดูได้ทำความรู้จักเพิ่มเติมด้วยนั่นเอง
ผู้ชมหลายคนอาจจะรู้สึกได้ว่าบางครั้งการตายและตัวละครบางตัวได้รับโอกาสให้ “คืนชีพ” อาจจะเป็นการหักหลังคนดู แต่สำหรับใน MCU แล้ว ต้องยอมรับว่าการเขียนบทให้ตัวละครเหล่านี้ได้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งบนจอภาพยนตร์ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบสำคัญให้กับทั้งจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นความตายของวิชชั่นที่ส่งผลให้วานด้ากลายเป็นหญิงสาวที่จมอยู่กับความทุกข์ ความตายของโลกิทำให้เราเห็นแล้วว่ามาร์เวลได้สร้างผลกระทบอะไรกับจักรวาลของตัวเอง เช่นเดียวกันความตายของนาตาชาได้ทำให้เยเลน่ามีโอกาสมารับไม้ต่อจากเธอเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรถ้าหากในอนาคตจะมีตัวละครอันเป็นที่รักของผู้ชม ตายจากหน้าจอไป เพราะบางทีความตายของตัวละครเหล่านี้อาจจะเปิดเส้นทางใหม่ๆให้กับตัวละครที่เรายังไม่เคยรู้จักได้มีโอกาสมาโลดแล่นบนจอก็เป็นได้