2 หนังไทยในเวนิส และปีแห่งความ (สิ้น) หวัง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

2 หนังไทยในเวนิส และปีแห่งความ (สิ้น) หวัง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

2 หนังไทยในเวนิส และปีแห่งความ (สิ้น) หวัง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากแฟนหนังชาวไทยตื่นเต้นไปกับภาพยนตร์ Memoria หนังหลากสัญชาติที่กำกับโดยผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ส่องแสงเรืองอร่ามสู่นักวิจารณ์และคนดูในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม รวมทั้งได้รางวัล Prix du Jury มาประดับยศ มาตอนนี้ หนังไทยนอกกระแสยังคงเดินหน้าต่ออย่างแข็งขัน โดยหนังไทยอีกสองเรื่อง ได้รับเชิญเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ที่จะจัดขึ้นช่วงต้นเดือนกันยายน

หนังสองเรื่องได้แก่ เวลา (Anatomy of Time) โดยผู้กำกับ จักรวาล นิลธำรงค์ คนทำหนังและอาจารย์สอนภาพยนตร์ ที่ได้เข้าประกวดในสาย Orizzonti หรือสายรอง ส่วนอีกเรื่องเป็นหนังสั้นของผู้กำกับ สรยศ ประภาพันธ์ เรื่อง ผิดปกติใหม่ (New Abnormal) ได้ประกวดในสายหนังสั้น

เทศกาลเวนิส เป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ปีนี้จัดเป็นปีที่ 78 ศักดิ์ศรีชื่อนั้นเทียบเคียงได้กับเทศกาลเมืองคานส์มาตลอด 7 ทศวรรษ เพียงแต่ว่าในระยะหลัง เวนิสอาจจะไม่อยู่ในข่าว หรือไม่เป็นที่จับตาเท่าเทศกาลคานส์ อีกทั้งชื่อยังไม่ “ป๊อป” เท่าคานส์ ถึงกระนั้น การที่หนังได้รับเลือกมาฉายที่นี่เท่ากับได้รับเกียรติอย่างสูงจากวงการภาพยนตร์โลก และเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมและยินดี ไม่แตกต่างจากการที่หนังได้ไปฉายเมืองคานส์

จักรวาล นิลธำรงค์ ปลุกปั้นภาพยนตร์เรื่อง เวลา มาหลายปี หนังว่าด้วยเรื่องของหญิงสาวสูงวัยที่ดูแลสามีที่เป็นอดีตทหาร และหวนย้อนนึกถึงความหลังของพวกเขาทั้งคู่ จักรวาลเป็นคนทำหนังที่ได้ชื่อว่าชอบทดลองกับรูปแบบการเล่าเรื่อง ไม่ทำอะไรตรงไปตรงมา และสนใจในการค้นหาศักยภาพของภาพยนตร์ในการจ้องมองความเคลื่อนไหวของเวลา ก่อนหน้านี้ จักรวาลเคยทำหนังยาวเรื่อง Vanishing Point ในปี 2015 เป็นหนังทดลองที่มีชื่อเสียงพอสมควรในวงการหนังนานาชาติ การได้ประกวดในสาย Orizzonti ที่เวนิส ถือเป็นก้าวสำคัญในการเดินทางของผู้กำกับไทยคนนี้

ส่วน ผิดปกติใหม่ อย่างที่ชื่อว่าไว้ เป็นหนังที่เกี่ยวข้องการช่วงเวลาที่โรคระบาดมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความคิดของคน ตลอดช่วงปีกว่าที่ผ่านมา สรยศ ประภาพันธ์ เป็นคนทำหนังที่ใช้อารมณ์ขันเพื่อเสียดสีสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยมาตลอดหลายปี ความเพี้ยนของสังคมทำให้หนังเพี้ยนๆ ของสรยศ ตลกขบขันและกระแทกหน้าคนดูไปพร้อมๆ กัน หนังสั้นของเขาหลายเรื่องเดินทางไปฉายทั่วโลก รวมทั้ง Death of the Sound Man (อวสานซาวด์แมน) ที่เคยได้ประกวดที่เวนิสเมื่อหลายปีก่อน

ว่าด้วยเรื่องเทศกาลหนังและความย้อนแย้งของโชคชะตา เป็นเรื่องที่ต้องบันทึกไว้ว่า ในปีที่โรงหนังในประเทศไทยยังปิดบริการ จอยังมืด ซุ้มขายตั๋วยังร้าง และไฟนีออนหน้าโรงยังดับสนิท ในปีที่โรงเปิดทำการได้ถึงเพียงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และยังต้องปิดต่อไปอีกไม่รู้เป็นเวลานานเท่าไหร่ ในปีแห่งความสิ้นหวังนี้ หนังไทยจำนวนมากกลับสร้างความหวังให้พวกเรา เริ่มตั้งแต่ One for the Road ของผู้กำกับ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (แห่ง ฉลาดเกมโกง) ที่ได้เข้าฉายในเทศกาลซันแดนซ์ ตามมาด้วย The Edge of Daybreak หนังทดลองอันมลังเมลือง ของผู้กำกับ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ชื่อนี้ที่คนดูหนังนอกกระแสคุ้นเคยมานับสิบปี ที่ได้เข้าประกวดที่เทศกาลรอตเตอร์ดัม ต่อด้วยหนังไทย 2 เรื่องที่เทศกาลเบอร์ลิน -- อีกหนึ่งเทศกาล “เมเจอร์” ที่ศักดิ์ศรีวัดกันได้กับทั้งคานส์และเวนิส -- ได้แก่ ใจจำลอง (Come Here) โดยอโนชา สุวิชากรพงศ์ และ Ploy หนังของ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ว่าเรื่องราวของโสเภณีไทยในสิงคโปร์ นอกจากนี้ หนังสยองขวัญเรื่องสำคัญของปี ร่างทรง โดยผู้กำกับ บรรจง ปิสันธนะกูล ยังเปิดฉายทำรายได้ถล่มทลายที่เกาหลีใต้ และเข้าประกวดในเทศกาลปูชอน

และแน่นอนว่า ยังมี Memoria ของอภิชาติพงศ์ และหนังไทยสองเรื่องที่จะไปเวนิสอย่างที่ว่าไว้ข้างต้น อีกทั้งหนังสั้นอื่นๆ ที่อาจจะยังเดินทางอยู่บ้างในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา

คำถามที่ทุกคนถามคือ พูดถึงหนังไทยเหล่านี้ให้เกิดกิเลสแล้วเมื่อไหร่เราจะได้ดูกัน? ใช่ครับ นั่นเป็นคำถามของผู้เขียนเช่นกัน ความตั้งใจของคนทำหนังไทย ไม่ว่าจะในหรือนอกกระแส ไม่ว่าจะฉายแล้วมีคนดูห้าร้อยหรือห้าแสนคน คือต้องการฉายหนังในโรงในคนดู โดยเฉพาะหนังที่ทุ่มเทเวลากับงานสร้างและถูกออกแบบมาให้ดูบนจอใหญ่ -- ซึ่งก็หมายถึงหนังที่ว่ามาข้างบนแทบทุกเรื่อง -- คนทำหนังต้องการฉายหนังเหล่านี้ได้คนไทยดูทุกเรื่อง รวมทั้งหนังสั้นด้วย (ซึ่งปกติก็มีงานจัดฉายอยู่ตลอด) แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่เห็นความหวัง ยังมีคนตายอยู่วันละเป็นจำนวนมาก ยังมีคนติดเชื้อระดับที่เห็นแล้วใจคอไม่ดี ยังไม่มีการจัดการวัคซีนที่ทั่วถึงและเพียงพอ ยังล้มเหลวในการบริหารงานสาธารณสุขทุกมิติ สถานการณ์แบบนี้ทำให้ภาพยนตร์กลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ หรือไม่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่รอได้และไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่เราเห็นในข่าวทุกวัน

ดังนั้น ความมั่นคงทางสาธารณสุข จึงเท่ากับความมั่นคงทางศิลปวัฒนธรรม ตราบใดที่รัฐยังไม่สามารถจัดการภาวะโรคระบาดและการกระจายวัคซีนได้ ภาพยนตร์ ศิลปะ และความบันเทิง ก็จะไม่มีที่ทางในชีวิตของคนไทย

หรือเราจะยอมรับกันอย่างไร้ปากเสียงว่านี่คือ ความ “ผิดปกติใหม่” ดังที่หนังของสรยศว่าไว้จริงๆ ?

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook