รักสามเส้า ศักดินา และความเหลื่อมล้ำในหนังคลาสสิกอียิปต์ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

รักสามเส้า ศักดินา และความเหลื่อมล้ำในหนังคลาสสิกอียิปต์ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

รักสามเส้า ศักดินา และความเหลื่อมล้ำในหนังคลาสสิกอียิปต์ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพยนตร์คลาสสิกใน Netflix มีอยู่ไม่มากนัก แต่ผู้เขียนพบว่ามีชุดภาพยนตร์หาชมยากชุดหนึ่งอยู่ในบริการ ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ใช่หนังเก่าคลาสสิกจากยุโรปหรืออเมริกาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นหนังคลาสสิกอียิปต์จากช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว เป็นงานของผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญที่สุดของดินแดนปิระมิด ยูซูฟ ชาฮีน

รสชาติหนังอียิปต์ หรือหนังแถบตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนดูไทย แต่เปิดใจกว้างสักนิดจะสัมผัสได้ว่า หนังอียิปต์เก่านั้นมีเสน่ห์ มีดารารูปงาม ทิวทัศน์ที่แปลกตาไปจากหนังเอเชีย มีขนบและชั้นเชิงทางดราม่าที่ไม่ต่างไปจากหนังไทยยุคเดียวกัน คือเป็นหนังรักสามเส้า หนุ่มสาวถูกกีดกันด้วยฐานะ มีฉากบู๊ มีฉากตลก และมักเป็นเรื่องการต่อสู้ของของคนยากจนในดินแดนที่นายทุนและเจ้าของที่ดินกดขี่ชาวไร่ชาวนา ผู้กำกับยูซุฟ ชาฮีน เป็นตำนานที่สำคัญที่สุดของวงการหนังอียิปต์ และเป็นเรื่องน่ายินดีมากที่ใน Netflix มีหนังดังของเขาหลายเรื่องให้ชมกัน ได้แก่ The Blazing Sun (1954) Dark Waters (1956) Cairo Station (1958) และ The Land (1969)  

สองเรื่องในจำนวนนี้ มีดารานำชายคนดังของวงการหนังอียิปต์ โอมาร์ ชารีฟ แสดงนำ ชื่อนี้คนดูหนังไทยรุ่นเก่าคุ้นเคยดีจากหนังคลาสสิก Doctor Zhivago และ Lawrence of Arabia แต่จริงๆ แล้ว โอมาร์ ชารีฟ เริ่มต้นอาชีพการแสดงในอียิปต์บ้านเกิด กับ The Blazing Sun และ Dark Waters หนังสองเรื่องนี้เปิดโอกาสให้ชารีฟแสดงความสามารถและบุคลิกภาพความเป็นชายที่ทั้งแกร่งและอ่อนไหว เด็ดเดี่ยวและลุ่มหลง มีพลังงานบางอย่างละม้ายคล้ายกับ มาร์ลอน แบรนโด จนเขาแจ้งเกิดในวงการและต่อมาได้ไปเล่นหนังให้ผู้กำกับดังๆ ในยุโรป

กลับมาที่ผู้กำกับ ยูซุฟ ชาฮีน คนทำหนังอียิปต์ที่สะท้อนกระแสสังคมและการเรียกร้องทางสังคมผ่านเรื่องราวในหนังของเขา ภายใต้ฉากหน้าของเรื่องรักใคร่ การทรยศหักหลัง หรือการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว หนังของชาฮีนพูดถึงความอยุติธรรม การรังแกชาวไร่ชาวนาโดยนายทุนศักดินา และจับภาพความเป็นจริงที่โหดร้ายในสังคมอียิปต์ ในช่วงนั้น กระแสชาตินิยมอาหรับกำลังเดินเครื่อง เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคม หนุนหลังคนรวยให้ยิ่งมีอำนาจและทิ้งขว้างประชาชน ชาฮีนเล่าเรื่องราวเหล่านี้ โดยตีกรอบให้เป็นหนังดราม่าดูกันได้สนุก หนังหลายเรื่องของเขาได้รับความสนใจจากวงการหนังในยุโรป ชาฮีนได้รับเชิญไปฉายหนังที่เทศกาลเมืองคานส์ และเคยได้รางวัลเกียรติยศจากเทศกาลเมืองคานส์ด้วย

ในบรรดาหนังของเขาใน Netflix ผู้เขียนแนะนำให้ดู The Blazing Sun ก่อน ในเรื่องนี้ โอมาร์ ชารีฟ แสดงคู่กับ ฟาเตน ฮามาม่า (ซึ่งต่อมาแต่งงานกันนอกจอด้วย) เรื่องราวว่าด้วยลูกชายเจ้าของไร่อ้อยในหมู่บ้านที่เพิ่งไปเรียนจบเป็นวิศวกร กลับมาบ้านเกิดหวังเอาความรู้มาช่วยงานในไร่ของพ่อ แต่เกิดไปขัดแย้งกับเศรษฐีในหมู่บ้านเดียวกัน แถมวิศวกรหนุ่มยังไปหลงรักลูกสาวศัตรูของพ่อด้วย เห็นได้ว่า พล๊อทเรื่องฟังดูไม่หนีหนังไทยเท่าไหร่ แต่ที่มากกว่านั้นคือหนังพูดถึงความไม่เท่าเทียมและระบบเจ้าขุนมูลนาย ที่เด่นที่สุดคือฉากจบ เป็นฉากต่อสู้ที่ถ่ายทำที่วิหารลักซอร์อันอลังการ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสมัยนี้ที่จะมีหนังเรื่องไหน ไม่ว่าจะมีทุนเท่าไหร่ จะสามารถขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริงได้อีก

เช่นกัน Dark Waters เป็นหนังที่พูดถึงการรวมตัวกันของคนงานท่าเรือเพื่อต่อต้านความเจ้าเล่ห์ของนายทุน หนังถ่ายทำที่เมืองท่าอเล็กซานเดรียอันสวยงามของอียิปต์ โอมาร์ ชารีฟ แสดงเป็นกะลาสีหนุ่มที่ขัดแย้งกับตระกูลร่ำรวยที่ควบคุมงานท่าเรือ ผสมเรื่องรักสามเส้าเคล้าน้ำตาเข้าไปด้วย จะบอกว่ามีความน้ำเน่าก็ไม่ผิด แต่ชาฮีนสามารถใส่ความสมจริง ดิบ ไม่ปรุงแต่ง ลงไปในเนื้อหนังจนกลายเป็นงานในตระกูล Neo-Realism ที่น่าสนใจไม่แพ้หนังตระกูลนี้จากชาติอื่นๆ ในทศวรรษเดียวกัน

ในมิตินั้น หนังที่น่าจะเข้มข้นและมีความเป็นสัจนิยมมากที่สุดคือ Cairo Station และ The Land

 เรื่องแรก ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็ออกแนว “หลายชีวิต” คือเล่าเรื่องของคนยากจน คนจร คนบ้า คนไม่มีทางออก โสเภณี ที่วนเวียนอยู่รอบสถานีรถไฟหลักของกรุงไคโร (นึกภาพหัวลำโพง และประชาชนรอบๆ) Cairo Station ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังดีที่สุดของประวัติศาสตร์หนังอียิปต์ ด้วยการจับจ้องชีวิตคนชั้นล่างและความพยายามในการดำรงชีพในสภาพแร้นแค้น แฝงด้วยความโหดร้าย เรื่องขำขัน ความสุขชั่วครู่ชั่วยาม และความพยายามแสวงหาความหมายในโลกที่ไร้ความหมาย ต่อเนื่องกันคือภาพยนตร์เรื่อง The Land ที่ชัดเจนในเนื้อหาสนับสนุนการรวมตัวของชาวนาเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมเรื่องที่ดินและการจัดสรรทรัพยากร The Land แตกต่างจากหนังอย่าง The Blazing Sun หรือ Dark Waters ตรงที่ไม่ใช้ดาราหล่อสวย และไม่มีเรื่องรักใคร่มาเป็นตัวชูโรง แต่เป็น “หนังเพื่อสังคม” ที่สอดแทรกแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ลงไปอย่างแท้จริง หนังเรื่องนี้ยังได้รับเลือกไปประกวดที่เทศกาลเมืองคานส์ด้วย การสร้างชาติและอัตลักษณ์ของอียิปต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์เพื่อสร้างสังคมสมัยใหม่ ถูกบันทึกไว้ในภาพยนตร์เหล่านี้ของยูซุฟ ชาฮีน

โลกนี้มีภาพยนตร์มากมายกว่าที่เราเห็น หนัง 4 เรื่องของยูซุฟ ชาฮีน เป็นเพียงตัวอย่างของหนังสัญชาติอื่นๆ ที่เดี๋ยวนี้หาดูได้ง่าย และช่วยเปิดโลกทัศน์การเป็นคนดูหนังของเราได้ในช่วงเวลาที่โรงหนังยังปิดเงียบไร้แสงสว่างเช่นนี้

 

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ รักสามเส้า ศักดินา และความเหลื่อมล้ำในหนังคลาสสิกอียิปต์ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook