หลายชีวิตในอัฟกานิสถาน ผ่านหนัง 4 เรื่อง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ทั่วโลกยังจับตามองสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน หลังกลุ่มตาลีบันสามารถยึดประเทศได้จากรัฐบาลและกลายเป็นผู้ปกครองใหม่ ความซับซ้อนทางการเมืองและการช่วงชิงอำนาจ ทับซ้อนกับมิติทางการเมืองและศาสนา และนี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่หากเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ตั้งแต่กองทัพโซเวียตบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 1979 ตามมาด้วยการขับไล่และการเถลิงอำนาจรอบแรกของตาลีบัน นำมาซึ่งการที่สหรัฐส่งทหารเข้ามาบุกและตั้งตนเป็นผู้ยึดครองประเทศหลังเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ต่อเนื่องมาถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่สหรัฐตัดสินใจถอนกำลังออก จนกระทั่งรัฐบาลอัฟกานิสถาน (ที่เคยได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐ) พ่ายแพ้หมดรูปต่อตาลีบันอีกครั้ง
ภาพยนตร์หลายเรื่องในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ถ่ายทอดเรื่องราวของคนอัฟกานิสถาน ที่ต้องต่อสู้กับอำนาจนิยมหลากหลายรูปแบบ กับปีศาจร้ายที่มาทั้งในรูปของผู้ชายเคร่งศาสนาและชาติตะวันตกที่หวังเล่นการเมืองระดับโลกอยู่ตลอดเวลา ในที่นี้ขอแบ่งปันหนัง 4 เรื่องที่พูดถึงชะตากรรมของอัฟกานิสถานในแง่มุมต่างๆ กัน
The Kite Runner
ภาพยนตร์ (และนิยาย) เกี่ยวกับอัฟกานิสถานที่ทุกคนรู้จักกันดีที่สุดคือ The Kite Runner (2007) สร้างจากหนังสือของ คาเลด ฮอสเซนี และสร้างเป็นหนังโดย มาร์ค ฟอสเตอร์ เรื่องราวสะเทือนใจที่เล่าผ่านช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยเรื่องของเด็กชายสองคนที่เติบโตในในชนบทในช่วงเวลาที่โซเวียตกำลังจะบุกอัฟกานิสถาน ต่อเนื่องถึงอนาคตเมื่อหนึ่งในเด็กชายสองคนดังกล่าว เติบโตเป็นผู้ใหญ่และใช้ชีวิตเป็นนักเขียนอยู่ในอเมริกา ก่อนเขาจะเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่อัฟกานิสถานอีกครั้งในช่วงที่ตาลีบันครองอำนาจในในปลายทศวรรษ 1990 และต้องพบกับอดีตศัตรูสมัยเด็กที่ตอนนี้กลายเป็นขุนพลนักรบของตาลีบัน
The Kite Runner เป็นหนังที่เล่าถึงชะตากรรม การพลัดพราก และอดีตที่ฝังลึกในใจถึงแม้ตัวละครจะอพยพไปอยู่ในประเทศที่ดีกว่า หนัง (และนิยาย) เรื่องนี้ได้รับการพูดถึงมากเพราะมันทั้งอ่อนโยน ซาบซึ้ง ทำให้คนดูเห็นทั้งความโหดร้ายและความรุนแรง แต่ยังมี “ความหวาน” อ้อยอิ่งอยู่ในที พูดอีกแบบคือดูแล้วร้องไห้ได้ง่ายๆ โดยหนังไม่ได้โจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทำให้เห็นว่า กงล้อแห่งประวัติศาสตร์พร้อมบดขยี้คนธรรมดาๆ อย่างไม่เลือกหน้า นักประพันธ์ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ คาเลด ฮอสเซนี มีชีวิตเหมือนตัวละครเอก คือเติบโตในอัฟกานิสถานก่อนจะอพยพไปอยู่อเมริกาและกลายเป็นนักเขียน เร็วๆ นี้ เขาให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้คนจะรู้จักหนังสือของเขามาก แต่ไม่อยากให้คนคิดว่านี่คือมุมมองที่ถูกต้องหรือมุมมองเดียวเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในประะเทศนั้นมันวุ่นวายและซับซ้อนมากกว่าที่เขาจะสามารถเล่าได้ภายในหนังสือเล่มเดียว
The Breadwinner และ The Swallows of Kabul
ขอรวบหนังอนิเมชั่น 2 เรื่องนี้ไว้ด้วยกัน เป็นไปได้ว่า เนื่องจากการเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงการเล่าเรื่องผ่านลายเส้นอนิเมชัน จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนทำหนังในการเล่าเรื่องที่เล่าของดินแดนแห่งนี้ ทั้ง The Breadwinner (2017) และ The Swallows of Kabul (2019) พูดถึงอัฟกานิสถานในยุคการปกครองของตาลีบันช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 (ก่อนสหรัฐจะบุกมาโค่นอำนาจในปี 2001) มีตัวละครหลักที่ต้องต่อสู้กับการกดขี่และแนวคิดอิสลามสุดโต่ง
The Breadwinner (ดูได้ใน Netflix) สร้างโดยสตูดิโอในประเทศไอร์แลนด์ เล่าเรื่องของเด็กสาวชื่อปาวาร์นา เมื่อพ่อของเธอถูกจับเข้าคุก เธอจึงตัดผมสั้นและปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชายเพื่อสามารถใช้ชีวิตตามปกติและหาเลี้ยงครอบครัวได้ ทั้งนี้เพราะตาลีบันไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีบทบาทนอกบ้าน หนังพูดถึงสปิริตของความไม่ยอมแพ้ และความซื่อใสของเด็กที่มาพร้อมกับความกล้าหาญแบบที่ไม่ต้องโฆษณา ส่วน The Swallows of Kabul เป็นหนังฝรั่งเศส สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนสาวชาวอัลจีเรีย ในเชิงศิลปะภาพยนตร์ อนิเมชั่นเรื่องนี้ใช้สีน้ำสร้างภาพเมืองคาบุลได้อย่างอัศจรรย์ เป็นเมืองที่ทั้งสวย เหงา เคลือบด้วยเงาโศก และมีสภาพความกึ่งจริงกึ่งฝัน (บางครั้งคือฝันร้าย) หนังเล่าเรื่องคู่สามี-ภรรยาสองคู่ คู่หนึ่งเฝ้ารอวันที่บ้านเมืองจะสงบ อีกคู่หนึ่งมีสามีเป็นยามเฝ้าคุกของพวกตาลีบัน หนังเรื่องนี้มีฉากสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งฉากการขว้างก้อนหินเพื่อลงโทษโสเภณี และฉากการประหารชีวิต นึกไม่ออกเลยว่า ถ้าไม่ทำเป็นแอนิเมชัน เรื่องราวเหล่านี้จะสามารถเล่าผ่านนักแสดงจริงๆ ได้อย่างไร
Kandahar
อยากให้สังเกตว่า ภาพยนตร์เกี่ยวกับอัฟกานิสถาน (หรือสถานที่ที่มีปัญหาอื่นๆ ในโลกก็ตาม) มักถูกเล่าผ่านเลนส์ของผู้สร้างจากโลกตะวันตก ไม่ใช่ไม่ดีหรือไม่ได้ แต่บางครั้งการเล่าเรื่องผ่านเลนส์อื่นๆ น่าจะทำให้เราเห็นสภาพความเป็นจริงได้ครอบคลุมกว่า ภาพยนตร์เรื่อง Kandahar สร้างโดยผู้กำกับอิหร่าน โมเชน มัคมาลบาฟ สร้างขึ้นในปี 2001 ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับอัฟกานิสถานที่น่าจดจำมากที่สุด อาจจะไม่ใช่หนังที่ดูง่าย หรือสรุปบทเรียนอะไรได้ชัดเจนอย่างเรื่องอื่นๆ ที่ว่ามาก่อนหน้า แต่เป็นหนังที่บอกเล่าประสบการณ์และมีภาพที่หลายครั้งลืมไม่ลงมากที่สุด เช่นฉากที่เครื่องบินปล่อยขาเทียมจำนวนมากลงจากท้องฟ้าเพื่อแจกจ่ายให้บรรดาผู้ที่พิการจากการสู้รบบนพื้นดิน หรือฉากหมอที่รักษาคนไข้ผู้หญิงโดยมีผ้าคลุมเจาะรูกั้นระหว่างพวกเขา
หนังเล่าเรื่องของหญิงสาวชาวอัฟกานิสถานที่อพยพไปอยู่แคนาดา แต่เดินทางกลับมาอัฟกานิสถานในช่วงที่ตาลีบันยึดครอง เพื่อหาทางต่อไปยังเมืองกันดาฮาร์ เพื่อช่วยพี่สาวของเธอที่ส่งจดหมายมาบอกว่า เธอจะฆ่าตัวตายในวันสุริยุปราคาครั้งสุดท้ายของสหัสวรรษ หนังแสดงให้เห็นถึงความทรุดโทรมของสังคมและจิตใจผู้คนที่ต้องผ่านภาวะสงครามมายาวนาน และความสิ้นหวังของผู้คนที่แทบไม่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งสันติภาพ
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ