His House - Atlantics และ ผีลี้ภัย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

His House - Atlantics และ ผีลี้ภัย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

His House - Atlantics และ ผีลี้ภัย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลองจับคู่ภาพยนตร์ยุโรปสองเรื่องใน Netflix ที่เลือกเล่าประเด็นสะเทือนใจระดับโลกว่าด้วยชะตากรรมของผู้อพยพจากแอฟริกา ผ่านตระกูลหนังลึกลับ-สยองขวัญ แสดงให้เห็นว่าประสบการณ์แห่งผีและวิญญาณ ช่างแยกไม่ออกจากประสบการณ์โหดร้ายของผู้ที่ต้องลงเรือหนีโศกนาฏกรรมที่บ้านเกิดเพียงเพื่อจะมาเผชิญโศกนาฏกรรมใหม่ในดินแดนที่ห่างไปนับพันไมล์ และถูกตามหลอกหลอนด้วยอดีตที่ไม่มีวันหนีพ้น

 His HouseHis House

เรื่องแรกคือ His House หนังอังกฤษจากปีที่แล้วโดยผู้กำกับ เรมี วีกิส ส่วน Atlantics เป็นหนังฝรั่งเศส-เซเนกัล จากปี 2019 โดยผู้กำกับ แมตตี ดิออพ หนังได้รางวัลจากเมืองคานส์และมีคนพูดถึงเยอะพอสมควร ถ้ามีเวลาแนะนำให้ดูทั้งสองเรื่อง เพราะจะทำให้เห็นว่าหนังผีหรือหรือหนังที่มีองค์ประกอบของเรื่องเหนือธรรมชาติ ความเป็น-ความตาย (หรือไม่ยอมตาย) สามารถเป็นมากกว่าเพียงความสนุกตื่นเต้นอันผิวเผิน แต่จับประเด็นใหญ่ทางสังคมและการเมืองมาเล่าได้อย่างหนักแน่น

ว่ากันที่ His House ก่อน หนังเล่าเรื่องของสามี-ภรรยา ที่หนีภัยสงครามจากซูดานใต้ ลงเรือฝ่าคลื่นลมในมหาสมุทรมายังประเทศอังกฤษ ทั้งสองได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและได้รับการจัดสรรบ้านใหม่ให้ในย่านชานเมือง ฟังเท่านี้เหมือนจะดูดีมาก จากคนอพยพสินเนื้อประดาตัวหนีตายเอาดาบหน้า กลับได้รับบ้านทั้งหลังเป็นสวัสดิการจากรัฐที่ตนยังไม่ได้เป็นประชากรด้วยซ้ำ แต่แน่นอนว่าเมื่อไปถึงบ้านหลังดังกล่าวจริงๆ ทุกอย่างไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด และแน่นอนว่าสำหรับคนดู เดาไม่ยากเลยว่าบ้านหลังนี้มีสิ่งผิดปกติแน่ๆ โดยเฉพาะเสียงประหลาดจากกำแพงที่เริ่มหลอกหลอนผู้มาอยู่ใหม่ การปรากฏตัวของเด็กประหลาด และโพรงในกำแพงซึ่งยิ่งขุดยิ่งทำให้สภาพจิตใจของตัวสามีย่ำแย่ลง

 His HouseHis House

เอาแค่ความน่ากลัวแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก His House สอบผ่าน คือดูเอาตกใจอย่างเดียวก็ได้ แต่ที่มากกว่านั้นคือการที่หนังเล่นกับคำสำคัญตามชื่อเรื่อง – “house” -- “บ้าน” เป็นทั้งสถานที่ และเป็นทั้งสภาวะทางจิต อะไรคือ “บ้าน” กันแน่ สำหรับตัวสามี บ้านคืออาคารหลังเก่านี้ที่พวกเขาได้รับจัดสรร และบ้านคือประเทศอังกฤษที่รับพวกเขามาอยู่ บ้านใหม่ที่เชื่อว่าดีกว่าบ้านเก่าในซูดานใต้ แต่สำหรับตัวภรรยา “บ้าน” ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แต่มันคือความรู้สึกที่ซับซ้อนและพัวพันกับอดีตที่สลัดไม่หลุด นิยามและความเข้าใจของคำว่า “บ้าน” ที่แตกต่างกัน ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นบทวิพากษ์นโยบายและสภาวะคนพลัดถิ่น อีกทั้งเฝ้ามองความโหดร้ายของการลี้ภัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของทั้งชาติแอฟริกาและยุโรป จะมีผีสิงหรือไม่มีผีสิง “บ้าน” ไม่ได้เป็นสิ่งจับต้องได้เสมอไป การยอมรับและเข้าใจในความคิดนี้ เป็นกุญแจที่จะทำให้การตั้งรกรากของสองสามี-ภรรยา เกิดขึ้นได้จริงๆ

  Atlantics Atlantics

ส่วน Atlantics (ผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังตอนหนังออกใหม่ๆ ) ไม่ได้เป็น “หนังผี” แบบตรงไปตรงมา หนังเล่าเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นในเมืองดาการ์ เมืองหลวงของเซเนกัลในแอฟริกาตะวันตก ผู้ชายวัยหนุ่มที่นี่มีความฝันว่าจะออกเรือ ฝ่าคลื่นลมของมหาสมุทรแอตแลนติกอันโหดร้าย เพื่อลอบขึ้นฝั่งที่สเปนไปตายเอาดาบหน้า (เหมือนตัวละครใน His House) โดยหวังว่าอาจจะได้ดิบได้ดีมีงานทำในยุโรปไปเลย

พระเอกของเรื่องและเพื่อนๆ ของเขาก็ทำแบบนั้น แต่ไปได้ไม่เท่าไหร่เรือกลับล่ม ไม่ต่างจากข่าวมากมายที่เราได้ยินว่าเรือผู้อพยพจากแอฟริกาจำนวนมากพาคนไปเป็นศพกลางทะเลก่อนจะถึงชายฝั่งยุโรป ตัวเอกของ Atlantics จริงๆ แล้วคือหญิงสาวชื่ออาดา ที่เสียแฟนหนุ่มคนรักไปในเหตุเรือล่มครั้งนั้นและตอนนี้ถูกพ่อบังคับให้แต่งงานกับลูกชายเศรษฐีประจำเมืองแทน วันดีคืนดี “ผี” ของแฟนเธอ รวมทั้งผีของเหล่าชายหนุ่มที่ตายกลางมหาสมุทร กลับมาเข้าสิงคนรักและทำให้เกิดปรากฎการณ์ซอมบี้เพ่นพ่านทั่วเมือง ในสภาวะเหนือธรรมชาติดังกล่าว ความโหดร้ายของโลกความจริงผสมผสานราวกับไร้ตะเข็บกับโลกเหนือจริงที่ทุกอย่างเป็นไปได้ ในขณะที่การไถ่บาป การแก้แค้น และการเรียกร้องความยุติธรรม เกิดขึ้นได้เมื่อกฎเกณฑ์ของคนเป็นไม่ได้ถูกบังคับใช้อีกต่อไป ฟังแล้วอย่าเข้าใจผิด นี่ไม่ใช่ “หนังซอมบี้” อย่างที่เราอาจจะจำภาพได้เช่นกัน แต่เป็นหนังที่พูดถึงสถานที่ การเปลี่ยนผ่านของวัย และการตื่นรู้ของผู้ถูกกระทำ

 Atlantics Atlantics

His House และ Atlantics สร้างประสบการณ์ของผู้อพยพผ่านโลกของผีและวิญญาณ แต่ทั้งคู่เป็นหนังที่ตรวจสอบความเป็นมนุษย์อย่างเข้มข้น และทำให้เราเห็นว่า “หนังผี” ที่ดีแทบทุกเรื่องในโลก สุดท้ายแล้วเผยตัวว่าเป็น “หนังคน” ทั้งนั้น

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ His House - Atlantics และ ผีลี้ภัย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook