อุ่นเครื่องกับ Dune ของแสลงฮอลลีวูด โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

อุ่นเครื่องกับ Dune ของแสลงฮอลลีวูด โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

อุ่นเครื่องกับ Dune ของแสลงฮอลลีวูด โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นหิ้งในหมู่นักอ่านว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในโลก Dune โดยแฟรงค์ เฮอร์เบิร์ท เรืองรองด้วยรัศมีราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับบูชาโดยสายไซไฟคอแข็งทั้งโลกมาตั้งแต่ปี 1965

มาวันนี้ Dune ที่อยู่ในข่าวและทุกคนเฝ้าคอย คือภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายคลาสสิกของเฮอร์เบิร์ท และเพิ่งเปิดตัวไปที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ท่ามกลางเสียงสรรเสริญ (รวมทั้งเสียงบ่นจากบางมุมของห้องฉาย) Dune ของผู้กำกับเดนิส วิลเนิฟ นำแสดงโดย ทิโมธี ชาลาเมต์ และเซนดาย่า จะเป็นหนังไซไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่างที่บางเสียงว่าไว้หลังรอบพรีเมียร์จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงอีกบทพิสูจน์ว่านิยายเรื่องนี้ไม่มีทางทำออกมาเป็นหนังได้สมบูรณ์แบบ และจะพาเอาผู้ที่อาจหาญพยายามดัดแปลงตัวหนังสือมาเป็นภาพ ต้องถูกดูดลงจมเนินทรายที่เต็มไปไปด้วยหนอนยักษ์แห่งดวงดาวอาราคิสดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ระหว่างที่เรารอดู Dune ฉบับใหม่ และเชื่อว่าเราคงได้ดูกันแน่ๆ ในอีกไม่ช้า ขอย้อนไปเล่าถึงนิยายต้นธารของเฮอร์เบิร์ท และถึงความพยายามดัดแปลงนิยายเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สองครั้งก่อนหน้านี้ ที่ต่างประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน

แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ท เป็นนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์อเมริกัน นิยายขนาดหนาเตอะเรื่อง Dune ตีพิมพ์ปี 1965 เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ทะเลทรายชื่ออาราคิส แผ่นดินอันแห้งแล้งแต่กลับเต็มไปด้วยสสารที่มีค่ามากที่สุดในจักรวาล เรียกว่า “Spice Melange” สารเสพติดที่ทำให้ผู้เสพมีพลังพิเศษสามารถเดินทางข้ามแกแล็คซี่ได้ และยังทำให้มีอายุยืนยาว เรื่องราวในนิยายเกี่ยวพันกับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างตระกูลขุนนางบนดาวอาราคิส โดยมีหนุ่มน้อย พอล อาเทรเดส ลูกชายท่านขุนที่ถูกปล้นอำนาจ ต้องฝึกวิชาให้กล้าแกร่งและร่วมมือกับชนเผ่าทะเลทราย เพื่อทวงคืนอำนาจและสร้างสมดุลให้กับจักรวาล

นี่คือการเล่าแบบง่ายและลดทอนความซับซ้อนของเรื่อง แน่นอนว่า Dune เป็นเรื่องของการผจญภัยและการค้นพบตัวเองของพอล มีฉากต่อสู้ มีสัตว์ประหลาด มีอาวุธแปลกๆ ฯลฯ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของหนังสือ และเหตุผลที่ทำให้นักอ่านหลงใหลและปวารณาตนเป็นสาวก (สิ่งเดียวกับที่ Star Wars ทำได้ เพียงแต่ Dune มาก่อนกว่า 10 ปี) คือการสร้างจักรวาลใหม่ที่มีกฎเกณฑ์ ภาษา ผู้คน และเหตุผลของตัวเอง ภาษาสมัยนี้เรียก “world building” ใครที่อ่านนิยายเรื่อง Dune เป็นภาษาอังกฤษ คงจำได้ว่าหนังสือมาพร้อมกับอภิธานศัพท์หนาหลายสิบหน้าที่อธิบายคำแปลกหูที่ใช้กันในโลกของตัวละคร นอกจากนี้ โลกของ Dune ยังเป็นโลกที่วิทยาศาสตร์อยู่ควบคู่ไปกับโลกแห่งจิตวิญญาณ ส่วนหนึ่งคือหนังสือเขียนขึ้นในยุคฮิปปี้ ยุคของการแสวงหาสิ่งนอกเหนือสภาวะวัตถุ เชื่อกันว่าเฮอร์เบิร์ท ยังประยุกต์อิทธิพลของศาสนา ทั้งคริสต์และอิสลาม (ผสมอาหรับ) เข้ามาอยู่ในเนื้อเรื่อง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะอาหรับคือชาวเผ่าทะเลทรายเช่นเดียวกับคนบนดาวอาราคิส ดังเห็นได้จากแนวคิดหลายๆ อย่างในหนังสือ เช่นการ “ญีหาด” หรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือการมาถึงของ “มะห์ดี” หรือศาสดาผู้จะมาปลดปล่อย แม้กระทั่งการใช้คำว่า “ชัยตอน” ภาษาอาหรับที่หมายถึงซาตาน

รายละเอียดยุ่บยับของเนื้อเรื่องและความซับซ้อนของพล็อต ทำให้การสร้าง Dune เป็นภาพยนตร์ เย้ายวนผู้กำกับและเป็นหลุมพรางอันตรายไปพร้อมๆ กัน ความพยายามที่จะสร้าง Dune เป็นหนัง เกิดขึ้นในปี 1974 โดยผู้กำกับ อเลฮานโดร โจโดรอฟกี้ ศิลปินอะวองการ์ดที่ขึ้นชื่อเรื่องจินตนาการอันพรึงเพริด แผนการของโจโดรอฟสกี้ช่างทะเยอทะยานและถึงขั้นบ้าคลั่ง เพราะเขาอยากทำอุปรากรแห่งอวกาศเรื่องนี้ให้ยาวถึง 12 ชั่วโมง ลงทุนมหาศาล และอยากได้จิตรกรเซอเรียลลิสม์ ซัลวาดอร์ ดาลี มาแสดงเป็นจักรพรรดิ จนสุดท้ายแล้วความฝันอันมหึมานี้เกินเส้นความเป็นไปได้ จนต้องพับโครงการไป

ส่วนภาพยนตร์ Dune ที่สร้างสำเร็จเป็นหนังจริงๆ เกิดขึ้นในปี 1984 โดยเดวิด ลินช์ ผู้กำกับที่มีจินตนาการแปลกประหลาด ปรมาจารย์แห่งการนำฝันร้ายมาปั้นเป็นภาพบนจอ แต่ Dune ของเดวิด ลินช์ เป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ โดนนักวิจารณ์ด่าเละเทะว่าหนังดูไม่รู้เรื่อง งานสร้างก็ไม่มีราคา ส่วนคนดูก็ไม่สนับสนุน จนหนังเจ๊งไม่เป็นท่า

ความพินาศของทั้งโจโดรอฟสกี้และลินช์ ทำให้ Dune กลายเป็นของแสลง เป็นหนังสือที่ทั้งนายทุนและผู้กำกับเข็ดขยาดจะเข้าใกล้มาอีกเกือบ 40 ปี จนกระทั่ง เดนนิส วิลเนิฟ สะสมความมั่นใจเพียงพอจากหนังฟอร์มใหญ่เรื่องก่อนหน้านี้ของเขา ทั้ง Blade Runner 2049 และ Arrival อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่าองค์ประกอบทั้งหลายน่าจะลงตัวกว่าที่ผ่านมา หลังจากเปิดตัวที่เวนิสไปเมื่อต้นเดือน หนังได้รับเสียงชื่นชมเป็นส่วนมาก ถึงแม้บางสำนักจะบอกว่าหนังเล่าเรื่องได้ไม่ดีและซับซ้อนเกินไป (อีกแล้ว)

ตอนนี้กำหนดการฉาย Dune ในอเมริกาคือ 1 ตุลาคม หวังว่าคนดูที่นี่คงไม่ต้องรอนาน หากรัฐท่านจะยอมให้โรงหนังเปิดได้จริงตามคาดในเดือนตุลาคมนี้เช่นกัน

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ อุ่นเครื่องกับ Dune ของแสลงฮอลลีวูด โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook