ส่องความเป็นไทย ในจักรวาลนครสวรรค์ โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
ในหน้าละครไทย นานๆ ทีจะมีการสร้างเรื่องราวเป็นจักรวาลเนื้อเดียวกัน จะว่าเชื่อมก็เชื่อม จะว่าไม่เชื่อมก็ไม่เชื่อม ประหนึ่งหนังมาร์เวลขึ้นมาซักที ซึ่งเรื่องที่แซ่บถึงเครื่องถึงใจ พาขึ้นหิ้งกันซะที ก็หนีไม่พ้นสองแม่ผัวแห่งนครสวรรค์ ที่ตอนนี้เรื่องราวนั้นต่อขยายยาวนาน ไม่ใช่แค่เรื่องสองเรื่องแล้ว
เทยเลยขอแวะเล่าให้ฟังกันซะหน่อยค่ะ
จักรวาลนครสวรรค์ เป็นชื่อเรียกรวมวรรณกรรมแห่งท้องทุ่งที่เขียนโดย “จุฬามณี” นักเขียนที่มีฝีไม้ลายมืออร่อย แซ่บนัว และมีกลิ่นท้องทุ่งบ้านนา แต่ความท้องทุ่งที่ว่า นั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวอันซับซ้อนของครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ มีความเป็นมนุษย์ อิจฉาริษยา อคติมากมายยึดโยงกัน ผ่านตัวละคร สถานที่ เหตุการณ์ และช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ในถิ่นฐานภูมิลำเนาเดียวกัน ก็คือจังหวัดนครสวรรค์
โดยวรรณกรรมที่ต่อยอดมาเป็นบทโทรทัศน์ของจุฬามณีนั้น ถูกผลิตเป็นละครโทรทัศน์ไปแล้วทั้งสิ้น 5 เรื่อง โดย 4 เรื่อง ได้รับการยืนยันว่าเป็นจักรวาลเดียวกันแล้ว โดยมีเพียงแค่เรื่องเดียวที่หลุดโผไปอยู่ช่องอื่น ไม่ได้ยึดเป็นจักรวาลเดียวกันเหมือนตัววรรณกรรม แต่ก็พอจะนำมาพูดเชื่อมโยงกันได้
ซึ่งวรรณกรรมทั้งห้าเรื่องประกอบไปด้วย
ชิงชัง (2552)
สุดแค้นแสนรัก (2558)
กรงกรรม (2562)
ทุ่งเสน่หา (2563)
วาสนารัก (2563)
ซึ่งชิงชัง พี่ใหญ่ที่ออกมาก่อน เป็นเรื่องเดียวที่หลุดโผไปอยู่ช่อง 5 ก่อนที่ช่องสาม นางจะคว้าเรื่องที่เหลือมาไว้ในมือ แต่หากย้อนกลับไปที่ต้นฉบับ ทั้งห้าเรื่องต่างมีตัวละครที่ผูกโยงใย ราวกับสไปเดอร์แมนก็ไม่ปานค่ะ ซึ่งเทยก็จะขอเอามาเมาท์ให้ฟังพอกรุบ
เริ่มต้นที่ ชิงชัง ซึ่งไทม์ไลน์ของนางอยู่มาก่อนทุกเรื่อง ย้อนกลับไปไกล ณ บ้านเรือนไทยที่ อ.พยุหคิรี ว่าด้วยเรื่องของผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลลูกบ้านในตำบลท่าน้ำย้อย บ้านหลังนี้ดันมีลูกสาวสวยสี่คน ความลูกสาวล้วน สมบัติอะไรตั่งต่างจะให้ลูกสาวมันก็กะไร เพราะยังไงก็ต้องแต่งผัวออกไปทั้งหมด ดังนั้นพี่น้องทั้งสี่ จึงต่างแก่งแย่งชิงดีกันอร่อย นอกจากความรักจากพ่อแม่แล้ว ยังหมายถึงความรักจากผู้ชายที่เข้ามาพัวพันพี่น้องทั้งสี่ ที่มีทั้งเป็นคนรักเก่าของกันและกัน หย่าร้างกัน มีลูกนอกสมรสกันตั่งต่าง เพียงเพราะว่าต่างคนต่างอยากจะมีชีวิตดีดี และหวังว่าความรักอันบริสุทธิ์นั้น จะทำให้ความเกลียดชังนั้นหายไปจากบ้านนี้ได้
หลังจากชิงชังไม่กี่ปี ไทม์ไลน์นางย้ายอำเภอไปยังชุมแสง กับ กรงกรรม ไปเล่าเรื่องของครอบครัวเจ้าของร้านชำและโรงสี ของเฮียและแม่ย้อยที่มีลูกชายสี่คนบ้าง ซึ่งแม้ลูกทั้งสี่จะไม่ชิงชังกันเหมือนลูกสาวบ้านโน้น แต่เรื่องก็ดันงามหน้าเมื่อลูกชายคนโตดันไปคว้ากะหรี่จากตาคลีมาเป็นเมีย การพยายามปกป้องหน้าตาของบ้าน และควบคุมให้ลูกชายที่เหมือนเป็นศักดิ์ศรีของบ้านให้อยู่ในกรอบของแม่ย้อย ก็เลยเปลี่ยนให้ความรักที่ควรจะบริสุทธิ์ กลายเป็นกรงที่ขังให้ทุกชีวิตที่รายล้อมครอบครัวนี้ ต้องทุกข์แสนสาหัสไม่ต่างกัน
หมดจากกรงกรรมแล้ว ไปต่อที่ สุดแค้นแสนรัก เรื่องราวที่เดินเรื่องไล่เลี่ยกัน แต่ยิงยาวไปยันรุ่นลูกก็เมื่อน้องสาวแท้ๆ ของแม่ย้อย อย่างแม่แย้ม ได้เกิดโศกนาฎกรรมขึ้นที่บ้านเกิดของเธออย่างหนองนมวัวที่อำเภอลาดยาว เมื่อคู่รักที่เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นานต้องแยกทางกันเพียงเพราะแม่ย้อย แค้นกับตระกูลที่มาพรากชีวิตพ่อและสามีของเธอไป เธอจึงจะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้คนที่มันทำกับครอบครัวเธอไม่ให้มีความสุขแม้แต่วันเดียว รวมไปถึงการพรากลูกออกจากอกแม่ของเขาด้วย และความแค้นสุดทางของแม่ย้อย ก็ส่งชะตากรรมไปยังรุ่นลูกที่แสนรักของย่าย้อยด้วยเหมือนกัน ให้ความแค้นนี้มันส่งผ่านไปยังลูกหลานของนางด้วย
ความวุ่นวายที่หนองนมวัวยังไม่ทันหาย ข้ามทุ่งไปที่เนินขี้เหล็ก บ้านหนองน้ำผึ้ง ที่ยังเป็นท้องทุ่งไกลสุดลูกหูลูกตา ทุ่งเสน่หา การเป็นหญิงที่มีคนนับหน้าถือตาอย่างแม่สำเภา และมีลูกชายสองคนที่เธอรักไม่เท่ากัน เธอจึงพยายามทำให้ลูกชายอย่างไพรวัลย์ได้ยุพินเป็นเมีย แต่เมื่อลูกชายของเธอตาย เธอก็โทษว่าเป็นความผิดของลูกสะใภ้ที่เธอตบแต่งบังคับมากับมือเสียอย่างนั้น
ความซับซ้อนยุ่งเหยิงที่แม่สำเภาทำไว้ ยังส่งผลให้ยุพินยังคงมีความคิดที่สืบทอดมาจากท้องทุ่งเสน่หา เมื่อความเจริญเข้ามาถึง และรุ่นหลานตบเท้าเข้าปากน้ำโพ ไปเติบโตในเมือง กลุ่มเด็กๆรุ่นหลาน จึงต้องเผชิญมรดกความยุ่งเหยิง กับกฎเกณฑ์ของโชคชะตาที่เหมือนจะถูกกำหนดไว้ แต่บางทีความรัก ก็มี วาสนารัก ของมัน ที่อาจจะผลิบานได้มากกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ขีดเส้นไว้ให้
เหนื่อยไหมล่ะ แต่ว่าห้าเรื่องอันแสนวุ่นวาย ผ่านมาหลายยุคสมัยของนครสวรรค์ ทำให้เราเห็นอะไรบ้างล่ะเธอ
- ท้องทุ่งที่มีผู้ชายเป็นใหญ่
ท้องเรื่องมันพาเราย้อนไปในช่วงต้นปี 2500 เลยนะเออ ในชิงชัง เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจปกครองตัวเอง และกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกสาว และลูกสาว ก็เหมือนสิ่งที่ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้ชายนั้นหวงแหน เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมของท้องทุ่ง คือการที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และวางชีวิตให้กับคนรอบๆทุ่งให้เดินตาม และผู้หญิงทั้งสี่ ต่างต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ความรัก หรือการยอมรับจากผู้ชายอีกทีนึง
- ผู้หญิงดิ้นรนเพื่อปกป้องอาณาจักรที่เธอได้มา
ในเมื่อผู้หญิงไม่สามารถสร้างคุณค่าได้เอง และต้องผูกไว้กับผู้ชาย เมื่อเธอได้มีสิทธิและเป็นใหญ่ในบ้าน เธอจะกุมบังเหียนของบ้านเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะด้วยความรักหรือความแค้นก็ตาม หน้าตาของบ้าน ของเธอ ของลูก ที่คนอื่นๆจะมองเข้ามาต้องดูดีเสมอ จึงอาจพูดได้ว่าสังคมนครสวรรค์ชายทุ่ง หน้าตาของครอบครัวตัวเอง ต่อคนอื่นๆในชุมชน เป็นเรื่องสำคัญ ฉันต้องดี และต้องเป็นไปตามที่ฉันคิดว่ามันดี
- ปกป้องตัวเอง ตามมาตรฐานของตัวเอง
สิ่งที่สะท้อนมากๆในสมัยก่อน คือการที่ท้องทุ่งไม่ได้มีระบบอะไรจากรัฐเข้ามาดูแลมาก การฆ่ากันกลางทุ่ง มีชู้ มีลูกติดไปกับผู้หญิงอีกคน รับลูกมาเลี้ยง ทิ้งลูกไว้ให้วัด ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในเรื่อง โดยไม่มีการชำระโทษตามกฎหมาย แต่ใช้การล้างแค้น ฝังใจ จนกว่าจะตายกันไปข้าง รวมถึงอคติส่วนตัวในการดำเนินเรื่องราว ซึ่งสะท้อนสังคมในช่วงเวลานั้นว่าปลีกวิเวกออกจากการดูแลของรัฐอย่างมาก
- ลูกหลานต้องมารับกรรม
และความซับซ้อนของความสัมพันธ์นั้น ก็พันกันยุ่งเหยิงมาสู่รุ่นลูกหรือหลานต่อมาด้วย เพราะเมื่อการแยกตัวมาดูแลตัวเอง หรือเติบโตเองนั้นไม่สามารถอยู่ได้ เมื่อสังคมนครสวรรค์นั้นทรัพยากรนางไม่ได้กระจายตัว เพราะงั้นลูกหลานที่กระจัดกระจายไป ก็จะต้องกลับมาหาบ้านใหญ่ เพื่อทวงสิทธิ์หรืออะไรบางอย่างคืนจากกองมรดกเดิม อย่างเช่นในวาสนารัก ที่มีความรักหลากหลายรูปแบบ และชนชั้นของอาชีพ แต่กฎเกณฑ์และค่านิยมของครอบครัวที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ก็กลายมาเป็นอุปสรรคการความสัมพันธ์ของเด็กๆเช่นกัน
- ความสำเร็จรวมศูนย์เข้าตัวเมือง
ปากน้ำโพ ตัวอำเภอเมืองนครสวรรค์ ดูจะเป็นปลายทางของหลายเรื่องในจักรวาลนี้รวมกัน สะท้อนว่าความเจริญนั้นมันกระจุกตัวอยู่ในตัวเมือง และเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของบ้านนั้นๆ ว่าฉันมีตึก มีที่ทางในเมืองไหม หรือได้ส่งลูกหลานเข้าเรียนในตัวเมืองไหม ต่อให้แต่ละบ้านต้องขายที่นา ต้องขัดแย้งกับใคร เพื่อจะได้ตึกที่ปากน้ำโพก็ยอม เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าฉันได้ตะกายดาวจากท้องทุ่ง มาสู่สังคมเมืองอย่างเต็มรูปแบบแล้วนั่นเอง
จักรวาลนครสวรรค์ของจุฬามณี จึงไม่ใช้แค่ตำรับการเดินเรื่องน้ำเน่าของชายทุ่ง ให้เราได้สะใจเวลาเห็นการด่าทอกันแบบบ้านๆเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนค่านิยมที่เป็นเรื่องราวขนาดยาว และฝังอยู่ในตัวละครที่ถ่ายทอดค่านิยมแห่งท้องทุ่งออกมาได้อย่างเผ็ดร้อน รวมถึงชวนตั้งคำถามว่า ในช่วงปี 2500 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแซ่บลืมเหมือนในวรรณกรรมหรือละครหรือไม่
จะพอพูดได้ไหมว่า จักรวาลนครสวรรค์ กำลังสะท้อนภาพท้องทุ่งอันห่างไกล และความเป็นไทยบ้านภาคกลางอย่างถึงแก่นน่าดูน่าชมเลยนะแม่นะ
เหยี่ยวเทย รายงาน
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ