Doc Club & Pub. พื้นที่เชื่อมโยงผู้คนกับโลกกว้างด้วยภาพยนตร์
Highlight:
- Doc Club & Pub. เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ที่เกิดจากความหลงใหลในการชมภาพยนตร์และการเชื่อว่า การสนทนาหลังชมภาพยนตร์จะสามารถต่อยอดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้
- ในโลกยุคหลังโควิด-19 โรงภาพยนตร์จะยังคงมีเสน่ห์ในแง่ของบรรยากาศ ทว่าวงการภาพยนตร์ก็ยังต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เกิดจากเทคโนโลยีและโรคระบาด
- ศิลปวัฒนธรรมจะสามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ หากรัฐเห็นความสำคัญในการกระจายพื้นที่ทางวัฒนธรรม และสร้างระบบสวัสดิการให้ประชาชนรู้สึกมั่นคงมากพอที่จะสามารถหาความสุนทรีย์ให้กับชีวิต
สำหรับ “คนรักหนัง” การชมภาพยนตร์สักเรื่องมักจะไม่จบลงเมื่อประตูโรงภาพยนตร์เปิดออก แต่ภาพ เนื้อหา องค์ประกอบศิลป์ รวมทั้งเสียงเพลงประกอบ จะกลายเป็นบทสนทนาที่ไม่รู้จบในกลุ่มคนเหล่านี้ ภาพยนตร์ดังระดับตำนานหลายเรื่องก็มักจะวนกลับมาเป็นหัวข้อสนทนาได้อยู่เสมอ ทว่าทุกวันนี้ บรรยากาศนอกโรงภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีอย่างสตรีมมิง ทำให้วงสนทนาที่ต่อยอดจากภาพยนตร์จืดจางลง ยิ่งกว่านั้น โรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็ได้เปลี่ยนวิถีการชมภาพยนตร์ไปอย่างสิ้นเชิง นั่นก็ทำให้เหล่าคนรักหนังไม่อาจชมภาพยนตร์ในโรงได้ตามปกติ ทำให้บรรยากาศการพูดคุยก็น้อยลงไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา Doc Club & Pub. โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ถือกำเนิดขึ้นบนพื้นที่ชั้น 2 ของอาคารวูลฟ์แพค สีลม พร้อมกับเป้าหมายหลักคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้สนทนากัน ด้วยหวังว่าภาพยนตร์และการพูดคุยจะเป็นประตูไปสู่ความรู้ แนวคิด และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในที่สุด
จุดเริ่มต้นโดยคนรักหนัง
สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ร่วมก่อตั้ง Doc Club & Pub. เล่าให้ Sanook ฟังว่า โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กแห่งใหม่นี้ หล่อหลอมขึ้นจากความเป็นคนชอบดูภาพยนตร์ ซึ่งเริ่มจากการดูเพื่อความบันเทิง ก่อนจะพัฒนาไปเป็นการชม “ภาพยนตร์นอกกระแส” ที่ฉายตามสถาบันวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดโลกใบใหม่ให้กับเขาเท่านั้น แต่ยังพาเขาไปพบปะกับผู้คนที่มีความสนใจในแนวทางเดียวกัน กลายเป็นมิตรสหายคนดูหนังที่แบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์เป็นต้นมา
“พอมีโอกาสได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับหนัง เริ่มต้นเลยก็คือผมทำงานที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งทำงานในส่วนที่เป็นการจัดกิจกรรมฉายหนัง จนกระทั่งมาทำนิตยสารของตัวเอง ชื่อว่า Bioscope สิ่งที่เราทำควบคู่กันมาตลอดก็คือการจัดกิจกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นว่า กิจกรรมที่ว่าด้วยเรื่องของการดู แล้วก็การพูดคุยแลกเปลี่ยน หรือการเติมเต็มให้กันและกัน มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูหนัง แล้วก็อยากจะทำสิ่งเหล่านี้มาตลอด”
นอกจากนิตยสารภาพยนตร์แล้ว สุภาพยังจับมือกับภรรยาคู่ชีวิต ก่อตั้ง Documentary Club ค่ายจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทางเลือก ที่นำภาพยนตร์สารคดีที่น่าสนใจมากมายมาฉายในประเทศไทย ตามด้วยการเปิดโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กอย่าง Doc Club Theater ในโครงการ Warehouse 30 ย่านเจริญกรุง ทว่าด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง Doc Club Theater ต้องปิดตัวลงเมื่อช่วงปลายปี 2562 และพัฒนาเป็น Doc Club & Pub. โดยใช้พื้นที่เดิมของ Bangkok Screening Room เปิดเป็นโรงภาพยนตร์พร้อมพื้นที่แฮงก์เอาต์ เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม ในบรรยากาศสบายๆ
“ผมคิดว่าการดูหนังที่เราเคยดูมา แล้วเรารู้สึกว่าเรารักในการดูหนัง ส่วนหนึ่งมันมาจากการที่ว่า พอเราดูมันเสร็จแล้ว เรายังมีความรู้สึกที่มันอุ้มอยู่ในตัวเรา แล้วถ้าความรู้สึกนั้นมันยังไม่หายไป เราอยากจะแชร์ แล้วเราก็คิดว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ดูหนังลักษณะนี้ ก็อยากจะแชร์ด้วยเหมือนกัน แต่ในระยะหลังๆ นี้ มันไม่มีพื้นที่ที่เปิดโอกาส เราดูเสร็จ แล้วเราก็เดินออกมา แล้วมันก็หายไปกับบรรยากาศโดยรอบ มันไม่ได้เอื้อให้เราได้อุ้มความรู้สึกเหล่านั้นและถ่ายทอดมันออกไป สิ่งที่เราคิดว่ามันต่อยอดจากการดูหนังได้คือความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นหลังจากดูหนัง” สุภาพกล่าว
Doc Club & Pub.
“เราค่อนข้างเชื่อว่าหนังมันเป็นประตูที่พาเราไป เปิดออกไปเจอกับอะไรก็ไม่รู้ เยอะแยะมากมาย ที่เราอาจจะไม่รู้จักมาก่อน หรือเราอาจจะรู้จักคุ้นเคยในแบบหนึ่ง แต่หนังมันทำให้เรารู้จักในอีกมุมหนึ่ง เราก็มองว่าหลังจากที่ออกจากการดูหนัง แล้วพื้นที่เล็กๆ ตรงนี้น่าจะพาใครต่อใครไปเจออะไรได้อีก เจอความรู้ใหม่ๆ เจอความรู้สึกใหม่ๆ เจอแนวทางใหม่ๆ อาจจะจุดประกาย ทำให้คนมองเห็นสิ่งที่มันดำเนินอยู่ในชีวิตของเรา แล้วเอาสิ่งเหล่านี้ไปปรับ กระตุ้น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ถ้ามันเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่เราทำ แล้วพื้นที่นี้มันกระจายตัวได้ในหลายๆ แห่ง เราก็หวังว่ามันจะทำให้คนในสังคมน่าจะมีโอกาสได้เติบโตจากสิ่งที่เราทำ” สุภาพพูดถึงแนวคิดของ Doc Club & Pub.
หนึ่งในจุดประสงค์ที่สำคัญในการจัดตั้ง Doc Club & Pub. คือการเปิดพื้นที่ให้เกิดการสนทนาในหัวข้อที่หลากหลาย ที่มากไปกว่าเรื่องภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ได้เติมเต็มและต่อยอดความคิดซึ่งกันและกัน แม้ว่าทุกวันนี้จะมีแพลตฟอร์มออนไลน์มากมายให้สื่อสาร แต่สุภาพมองว่า การพูดคุยสนทนากันแบบตัวต่อตัวก็มีเสน่ห์ไม่ต่างจากการพูดคุยบนโลกออนไลน์
“การคุยแบบเจอหน้าเจอตากัน นอกจากจะเห็นกัน ทั้งในเรื่องของผ่านสายตา ได้ฟังน้ำเสียงที่ผ่านออกมาพร้อมกับภาษากายที่เกิดขึ้น รวมไปถึงบรรยากาศที่รายรอบในระหว่างการพูดคุย มันก็เป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง ได้ฟังเพื่อนๆ หลายคนบอกว่า ได้ลองออกแบบชีวิตในช่วงกักตัว ด้วยการ Zoom กินเบียร์กับเพื่อน แล้วรู้สึกว่ามันไม่เวิร์ก คือบางอย่างมันอาจจะต้องการบางสิ่ง อะไรก็ไม่รู้ แต่บางอย่างอาจจะแค่มาแทนได้ แต่มันไม่เหมือน ผมก็มองว่า คนกำลังโหยหาพื้นที่เหล่านี้ ณ ตอนนี้ เรามองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาด และเราอยากจะลองดู ตามศักยภาพที่เรามีอยู่”
โรงหนังยุคหลังโควิด-19
Doc Club & Pub. เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ที่ผู้คนไม่สามารถอยู่ร่วมกันในพื้นที่จำกัดได้ ขณะเดียวกัน มาตรการควบคุมโรคยังทำให้โรงภาพยนตร์ไม่สามารถเปิดบริการได้ ทำให้ที่ผ่านมา คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาการชมภาพยนตร์แบบสตรีมมิงผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สุภาพยังเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โรงภาพยนตร์จะยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดคนเหล่านี้ให้กลับมาชมภาพยนตร์ในโรงเหมือนเดิม
“ถ้าการดูหนังมันมี 2 แบบ แบบหนึ่งคือเราดูเพื่อจะนับมันว่าเราได้ผ่านคอนเทนต์แบบไหนมาบ้าง โรงหนังอาจจะไม่จำเป็น แต่ถ้าเราดูหนังเพื่อที่จะซึมซับมัน ในบรรยากาศทั้งหลายโดยรอบที่เราดู ไม่ว่าวันนี้เราจะไปดูหนังที่คนเต็มโรง คอนเทนต์เดียวกัน เราไปดูอีกวัน แล้วเป็นคนเดียวที่นั่งในโรง เราเชื่อว่าบรรยากาศในการดูและจดจ่อบนจอ มันไม่เหมือนกัน ถ้าคนยังรักการดูหนังในแบบที่มีบรรยากาศ และเราซึมซับความรู้สึกนอกเหนือไปจากตัวเนื้อหาสาระ อันนี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นอยู่”
แต่ในขณะที่โลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ค่ายเล็กๆ อย่าง Documentary Club และ Doc Club & Pub. ยึดถือไว้เสมอ คือการประเมินศักยภาพของตนเองว่าสามารถดำเนินกิจการได้สอดคล้องกับผู้ใช้บริการหรือไม่ และจะสามารถเดินต่อไปได้หรือไม่ รวมทั้งพยายามเลื่อนไหลไปตามสถานการณ์ มากกว่าจำกัดเส้นทางของตัวเองไว้เพียงเส้นทางเดียว
“เราคิดว่า อย่างหนึ่งที่กิจการเล็กๆ จำเป็นจะต้องมี คือความพยายามในการเอาตัวรอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่มันมีเข้ามา เป็นปัจจัยที่จะทำให้เราล้มหายตายจากไปได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่มันจะทำให้เราดำรงอยู่ แก่นแกนความคิดที่เรามีอยู่ แต่ว่ามันจำเป็นต้องปรับตัว เราคิดว่าเราคงต้องปรับตัว เพราะฉะนั้น หลังโควิด-19 ทั้งโลกมันจะปรับตัวอย่างไร เราก็จะปรับตัวไปกับโลก” สุภาพระบุ
สำหรับความท้าทายของวงการภาพยนตร์ในโลกยุคปัจจุบันนั้น สุภาพมองว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่วงการภาพยนตร์กำลังหาความลงตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการ “ดิสรัปต์” ของเทคโนโลยี และแรงกระตุ้นสำคัญอย่างโรคระบาด ทว่ายังไม่มีใครรู้บทสรุปของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
“ความท้าทายก็คือว่าใครจะไปเจอบทสรุป ใครจะไปเจอคำตอบนั้นก่อนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเจอคำตอบจะได้ครอบครองคำตอบนั้นเพียงผู้เดียว ยังมีคนอื่นอีกมากมาย เพราะว่าพอเราเห็นว่าสตรีมมิง เราแค่เอาหนังลงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แล้วมันสามารถกระจายไปทั้งโลกได้ในเวลาเดียวกัน มันก็เปลี่ยนวิธีคิดในเชิงกายภาพของภาพยนตร์ในการไปหาคนดูได้อย่างมหาศาล ขณะเดียวกันมันก็เกิดวัฒนธรรมการดูหนังอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ส่วนจะคลี่คลายไปอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่ยากจะตอบได้” สุภาพกล่าว
ศิลปะเป็นเรื่องของชนชั้น?
ที่ผ่านมา หลายคนมองว่า ศิลปวัฒนธรรมที่ “ไม่แมส” หรืออยู่นอกเหนือความสนใจของคนทั่วไป เป็นสิ่งที่ต้อง “ปีนบันไดเสพ” เช่นเดียวกับการชมภาพยนตร์นอกกระแส ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของปัญญาชน และคนมีเงินเท่านั้นที่จะสามารถซึมซับศิลปะในลักษณะที่เป็นวิถีชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ที่มีลักษณะของตะวันตก ล้วนถูกนำเข้ามาโดยชนชั้นสูง ก่อนที่จะค่อยๆ ไหลไปสู่ชนชั้นกลาง แต่สุภาพมองว่า ในยุคปัจจุบันที่คนทั่วโลกล้วนเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าใครก็สามารถมีโอกาสที่จะทำความรู้จักกับศิลปวัฒนธรรมในต่างพื้นที่ได้ เพียงแต่ทุกวันนี้ยังไม่มีพื้นที่ที่เข้าไปหาคนกลุ่มนี้มากพอ
นอกจากนี้ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เรื่องศิลปวัฒนธรรมยังไม่ได้รับความนิยมในสังคมไทยมากเท่าที่ควร คือการขาดหลักประกันในชีวิตของประชาชน ทำให้คนจำนวนมากยังต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเป็นหลัก
“คนเราจะมีเวลาว่างพอที่จะไปชมงานศิลปะได้ ก็อาจจะต้องสลัดพ้นไปจากความทุกข์ยากในชีวิตก่อน แล้วอยากจะเติมเต็ม อยากจะให้ความสุนทรีย์มันเกิดขึ้นในชีวิตก็คงเป็นสเต็ปต่อไป ซึ่งในประเทศที่เราต้องดิ้นรนอยู่ ไม่ได้มีสวัสดิการที่มันจะไปถึงประชาชนทั่วไป หลักประกันในชีวิตมันเป็นสิ่งที่มารบกวนใจของทุกคน การที่จะไปหาความสุนทรีย์ไม่ใช่เรื่องจำเป็นสูงสุด” สุภาพแสดงความเห็น
สุภาพมองว่า ศิลปวัฒนธรรมจะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมไทยได้ รัฐจะต้องมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมให้แพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ เพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้และสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกในปัจจุบันได้
“เราอยากให้คนได้มีชีวิตที่ดีไหม เราอยากได้ความสุนทรีย์เหมือนกับคนอื่นๆ ในโลกที่เขามีโอกาสไหม เราเชื่อว่าทุกคนในสังคมไทยต้องการสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้ เมื่อมันไม่ได้มีอะไรเอื้อ ใครที่มีศักยภาพที่สามารถเริ่มทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าหากว่ารัฐไม่ทำ คนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในสังคมก็ต้องช่วยๆ กัน มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้น เพราะว่ามันก็มีปัจจัยต่างๆ อย่างที่บอก มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยู่ๆ มันจะเกิดอะไรขึ้นมาแบบพลิกฝ่ามือ มันต้องใช้เวลา ต้องใช้พละกำลัง ต้องมองทั้งศักยภาพของตัวเอง แล้วก็ศักยภาพของสิ่งที่อยู่รายรอบ ว่ามันจะสามารถผลักดันสิ่งที่ฝัน สิ่งที่อยากให้มันเกิด ให้มันดำเนินต่อไป มันเป็นไปได้ไหม” สุภาพกล่าวทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 30 ภาพ