Squid Game ท้าตายปลดหนี้

Squid Game ท้าตายปลดหนี้

Squid Game ท้าตายปลดหนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบมากมายในชีวิต การมีบ้าน ครอบครัว รถ รวมไปถึงสรรพสิ่งมากมายในชีวิตทำให้เราต้องกลายเป็น “หนี้” ไม่ว่าจะเป็นด้วยภาระจำยอมหรือไม่ก็ตาม ตัวละครหลักๆใน Squid Game ทำให้เราเห็นว่า ชีวิตประจำวันของพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับภาระอันหนักอึ้ง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัวอันล้มเหลวของกีฮุน (อีจองแจ) ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูกสาว หรือแม่ของเขาที่กำลังเจ็บป่วยเพราะเป็นเบาหวาน มิหนำซ้ำตัวเขาเองยังติดการพนัน เพียงเพราะเขาเชื่อว่าบางทีการคว้าเงินรางวัลก้อนโตอาจจะช่วย “ปลดหนี้” ให้กับชีวิตตัวเองได้

ซังอู (พัคแฮซู) หัวหน้าบริษัทลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่นอกจากจะเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม กระทั่งกีฮุนที่ชื่นชมในความเก่งกาจของเขา แต่ลึกๆแล้วความผิดพลาดจากการทำงานส่งผลให้ซังอูมีความผิดติดตัวในฐานะฉ้อโกง โดยที่แม่ของเขาไม่รู้เลยว่าลูกชายของตัวเองกำลังจะถูกดำเนินคดี

สองตัวละครนี้เป็นแค่เพียงตัวอย่างง่ายๆที่สะท้อนภาพปัญหาทางการเงินในช่วงชีวิตของคนวัยทำงานทั่วโลกต้องเผชิญ บ้างก็เป็นหนี้เพราะงาน บ้างก็เป็นหนี้เพราะสถานะทางสังคมไม่เอื้อให้พวกเขาสามารถประกอบสัมมาอาชีพและถีบตัวเองให้หลุดพ้นจากความยากจน ภายใต้ระบอบทุนนิยมที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “เงิน” คือเงื่อนไขสำคัญที่จะนำพาชีวิตให้หลุดพ้นไปจากความลำบาก

หลังจากกีฮุนได้พบกับชายปริศนา (กงยู) ผู้ชักชวนเขาเล่นเกมตั๊กจี โดยมีลักษณะของกระดาษที่ถูกพับเป็นทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งมีกติกาง่ายๆเพียงแค่ผู้เล่นในแต่ละฝ่ายจะต้องปาตั๊กจีของตัวเองอัดลงพื้นใส่ตั๊กจีของอีกฝ่ายให้พลิกคว่ำกลับเป็นอีกด้าน แค่นี้ก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะ โดยชายปริศนาได้ยื่นข้อเสนอให้กับกีฮุนว่า ทุกครั้งที่เขาสามารถเอาชนะตนได้ จะมอบเงิน 100,000 วอน แต่ถ้าเขาแพ้ก็ต้องจ่ายเงินเดินพันกลับคืนเช่นกัน กีฮุนที่ไม่มีเงินได้แต่หวังลึกๆว่าเขาอาจจะชนะชายปริศนาได้ จึงตอบตกลงเล่นเกมทันที ปรากฏว่าเขาพ่ายแพ้และไม่มีเงินจ่าย ชายปริศนาจึงยิ้มและมอบข้อเสนอว่าไม่มีเงินจ่าย จ่ายเป็นร่างกายแทนก็ได้ เขาจึงโดนตบหน้าหนึ่งครั้งแลกกับเงินหนึ่งแสนวอน

โดนตบจนหน้ายับกีฮุนก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจในความเชื่อที่ตัวเองจะกลับมาชนะ สิ่งเหล่านี้พอจะสะท้อนให้ผู้ชมเห็นว่า ในทุกๆความจนตรอกของใครสักคน การเดิมพันด้วยร่างกายคือสิ่งสุดท้ายที่พวกเขามีในการใช้เป็นต้นทุน! และนั่นเองจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้รับข้อเสนอ ในการเข้าร่วมเกมประหลาดที่มีเงินรางวัลก้อนโตเป็นเดิมพัน

 

ความสุขในวัยเด็ก กับฝันร้ายในปัจจุบัน

หากเราหวนย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาในวัยเด็ก ไม่ว่าจะทำอะไรนอกบ้านกับเพื่อนๆ ล้วนแล้วแต่เป็นความสนุก เปี่ยมล้นไปด้วยจินตนาการ โดยเฉพาะการละเล่นง่ายๆที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อะไรเยอะแยะแต่กลับมอบความสุขมากมาย กิจกรรมเหล่านี้อาศัยแค่เพียงพื้นที่ในการทำกิจกรรมและเด็กๆที่มาแลกเปลี่ยนความสนุกสนานซึ่งกันและกันเท่านั้น ไม่ได้มีเดิมพันอะไรเยอะแยะมากมากมาย พวกเขาจะได้ฝึกหัดเรียนรู้ที่จะผลัดกันเป็นผู้แพ้และเป็นผู้ชนะสลับกันไป การละเล่นในวัยเด็กเหล่านี้ จริงๆแล้วมันคือการสร้างให้เยาวชนได้เริ่มต้นเรียนรู้ด้วยซ้ำไปว่า ในอนาคตพวกเขามี “การแข่งขัน” อีกนับร้อยพันอย่างกำลังรอพวกเขาอยู่

เมื่อหลากหลายตัวละครในซีรีส์ Squid Game ต่างตัดสินใจที่จะมาเข้าร่วมการแข่งขัน เพียงเพราะพวกเขาเชื่อว่าบางทีตัวเองอาจจะเป็นผู้ชนะและคว้าเงินรางวัลก้อนโตกลับบ้านไป ซึ่งความเฉลียวฉลาดของ “ผู้คุมเกม” ล้วนแล้วแต่มองหาคนที่อับจนหนทางในการหาเงินก้อนโตภายในเวลาอันสั้น ประกอบกับเงื่อนไขชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการปลดหนี้และนำพาชีวิตตัวเองให้หลุดพ้นจากคำว่า “นรกทางการเงิน” ให้ได้ไวที่สุด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเมื่อเกมแรกที่เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางความตื่นตระหนกและจบลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดคำถามที่ตามมาระหว่างผู้เข้าแข่งขันด้วยกันเองว่า ตกลงแล้วมันคุ้มที่จะแลกแค่ไหนระหว่างชีวิตของตัวเองกับเงินมหาศาล ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นในชีวิตต่อ “เงินรางวัล” แตกต่างกันไป

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือหลังจาก “มติ” ส่วนใหญ่ของผู้เข้าแข่งขันตัดสินใจที่จะยุติเกมและเดินทางออกจากสนามแข่งกลับไปมีชีวิตแบบปุถุชนคนธรรมดาในสังคมเช่นเดิม พวกเขากลับค้นพบว่า ปัญหาคาราคาซังในชีวิตของพวกเขาไม่ได้รับการคลี่คลายลง ทุกอย่างจะทวีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่นานหลังจากนั้นพวกเขาเองก็ได้รับการ์ดเชิญให้กลับเข้ามาร่วมเกมอีกครั้ง มิหนำซ้ำยังมีการรวบรวมสถิติของผู้เล่นด้วยซ้ำไปว่า ผู้เล่นเดิมที่ออกจากเกมไปแล้วไม่กลับมาเล่นเกมอีก มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายแล้ว บรรดาผู้เข้าแข่งขันได้มองเห็นแล้วว่า ต่อให้พวกเขามีชีวิตต่อไปแบบไร้เงิน ก็เลวร้ายไม่แพ้ความตาย ดังนั้นเดิมพันครั้งใหญ่ของพวกเขาครั้งนี้คือการทุ่มหมดหน้าตักคือทางเลือกสุดท้ายที่น่าจะดีที่สุดกับชีวิตของตัวเอง

หากใน Squid Game คือการตัดสินใจที่จะเอาชีวิตของตัวเองเป็นต้นทุนในการต่อสู้และแลกมาซึ่งอิสรภาพทางการเงิน แต่ระหว่างทางของซีรีส์ก็ทำให้คนดูได้เห็นอีกเช่นกันว่า การเก่งคนเดียวก็ไม่พอในการจะมีชีวิตรอดหรือประสบความสำเร็จ แต่ต้องอาศัยทั้งทีมเวิร์ค ผู้คนรอบตัวในชีวิตและขาดไม่ได้เลยคือโอกาสที่อาจมาแบบไม่ทันตั้งตัว หรือพูดให้บ้านๆหน่อยก็คือ “โชค” นั่นเอง  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook