White Building กระตุ้นสัญญาณชีพหนังกัมพูชา โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

White Building กระตุ้นสัญญาณชีพหนังกัมพูชา โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

White Building กระตุ้นสัญญาณชีพหนังกัมพูชา โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวในวงการภาพยนตร์เรื่องสำคัญจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือการที่หนังเรื่อง White Building โดย คาวิช เหนียง ผู้กำกับหนุ่มชาวกัมพูชา และนำแสดงโดย พิเศธ ชุน ได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti จากเทศกาลภาพยนตร์เวนิสที่เพิ่งจบลงไป นี่ถือเป็นข่าวใหญ่ เพราะเวนิสเป็นเทศกาลระดับสำคัญหนึ่งในสามของโลก และ White Building เป็นหนังกัมพูชาเรื่องแรกในรอบหลายปีที่ได้รับเชิญไปฉายในงานนี้

สำหรับวงการหนังกัมพูชา การได้เข้าร่วมแถมยังได้รางวัลกลับจากเวนิส เป็นก้าวที่สำคัญมากในกระแสการฟื้นฟูวงการหนังเขมร ที่ครั้งหนึ่งเคยเรืองรองไม่แพ้ของไทย มีเอกลักษณ์ทางภาพและขุมทรัพย์แห่งเรื่องราวมากมาย รวมทั้งมีดาราที่คนทั่วอาเซียนรู้จัก ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายเมื่อระบอบเขมรแดงเข้ายึดครองประเทศในปี 1975 และพาประเทศกัมพูชาดำดิ่งสู่ยุคมืดที่ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี โรงหนังและกิจกรรมเกี่ยวกับภาพยนตร์และวัฒนธรรมต่างหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว ในช่วงทศวรรษที่ 90 หลังสถานการณ์เริ่มนิ่ง คนทำหนังกัมพูชาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในบรรดานักดูหนัง มีเพียงคนเดียว คือ ริทธิ ปาห์น ผู้บุกเบิกการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์กัมพูชาสมัยเขมรแดงผ่านงานทั้งสารคดี หนังเล่าเรื่อง และแม้กระทั่งแอนิเมชั่น จำนวนมากมาย และล้วนแต่เป็นบันทึกความทรงจำล้ำค่าของช่วงเวลาอันโหดร้ายของมนุษยชาติ เช่น S21: The Khmer Rouge Killing Machine, The Missing Picture และ Graves Wihtout a Name หนังเหล่านี้ได้เปิดตัวในเทศกาลใหญ่ๆ ของโลกทั้งคานส์ และเวนิส

แต่ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า ริทธิ ปาห์น เป็นคนเขมรที่อพยพหนีภัยไปอยู่ปารีสตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และทำงานส่วนใหญ่นอกประเทศกัมพูชา ถึงแม้หนังของเขาจะเป็นหนังเขมร อบอวลด้วยกลิ่นดินหินทรายของชนบทกัมพูชา แต่หนังของเขามีความเป็นลูกครึ่งในแง่วัฒนธรรมและการสร้าง โดยเฉพาะกับฝรั่งเศสอันเป็นถิ่นพำนักของปาห์น หนังหลายเรื่องของเขา มีเสียงบรรยายเป็นภาษาฝรั่งเศส และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา (ถึงตรงนี้ คงต้องพูดสั้นๆ ถึงคนทำหนังกัมพูชาอีกคนที่ไปเติบโตที่ฝรั่งเศส ดาวี่ ชู ที่ทำหนังสารคดีเรื่องดัง Golden Slumbers ที่ย้อนดูความยิ่งใหญ่ของหนังกัมพูชาในยุค 1960 หนังเรื่องนี้เคยมาฉายในงานเมืองไทยหลายครั้ง)

ในทางกลับกัน White Building เป็นหนังกัมพูชาที่สร้างโดยคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เติบโตในกัมพูชาหลังยุคเขมรแดง สายตาของพวกเขาข้างหนึ่งมองไปข้างหน้า แต่อีกข้างยังไม่สามารถสลัดทิ้งภาพจำและบาดแผลของคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาได้ คาวิช เหนียง เป็นหนึ่งในผู้กำกับกลุ่มนี้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนทำหนังภายใต้ชื่อ Anti Archive ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 และเป็นกลจักรอันแข็งแกร่งในการฟื้นฟูกิจกรรมการสร้างภาพยนตร์โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งหนังสั้นจำนวนมาก และหนังยาวอีกจำนวนหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่มักเล่าเรื่องคนหนุ่มสาว ที่ยังต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสะเก็ดแผลและร่องรอยแห่งชะตากรรมครั้งเก่าก่อนที่ยังฝังลึกอยู่ในโครงสร้างของประเทศ หนังเหล่านี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนดูนอกประเทศ ความสำเร็จของ White Building เป็นหมุดหมายสำคัญของคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้

เชื่อกันว่า ไม่นานเราน่าจะได้มีโอกาสชมหนังเรื่องนี้ เพราะผู้กำกับคาวิช เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีกับนักทำหนังและคนจัดเทศกาลหนังในเมืองไทย เล่าคร่าวๆ White Building เป็นหนังที่พูดถึง “ตึกขาว” ตามชื่อเรื่อง เป็นตึกใหญ่กลางกรุงพนมเปญที่สร้างขึ้นในปี 1963 และใช้เป็นที่พำนักของศิลปินจำนวนมาก ในยุคเขมรแดง ตึกถูกทิ้งร้างเพราะผู้คนถูกบังคับกวาดต้อนให้ไปใช้ชีวิตกสิกรรมในชนบท แต่หลังพลพตและเขมรแดงหมดอำนาจ บรรดาศิลปิน นักเขียน นักแสดง ประติมากร ฯลฯ ต่างกลับมาใช้ชีวิตในตึกขาว คาวิชเล่าว่า พ่อของเขาซึ่งเป็นประติมากร กลับมาอาศัยในตึกขาวในช่วงนั้น และตัวคาวิชเองก็เติบโตใช้ชีวิตที่นี่ มีความทรงจำมากมายที่นี่ ก่อนที่ตึกขาวจะถูกเทศบาลเมืองพนมเปญสั่งทุบไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครหลักคือชายวัย 20 ปี (แสดงโดยพิเศธ ชุน ที่ได้รางวัลที่เวนิส) ที่อาศัยอยู่ในตึกขาวแต่กำลังต้องย้ายออกหลังทางการมีคำสั่ง เรื่องราวของเขาเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านหลายคน อีกทั้งเพื่อนๆ ที่ต่างมีความฝันและความโหยหาในชีวิต ทั้งหมดมีเส้นทางที่พาดผ่านในตึกอันเป็นตำนานแห่งนี้

สัญญาณชีพของหนังกัมพูชาได้รับแรงกระตุ้นอันทรงพลังจาก White Building และตอนนี้กัมพูชาเลือกส่งหนังเรื่องนี้ไปชิงออสการ์แล้วด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่วงการหนังของเพื่อนบ้านกำลังเติบโตและเห็นแสงสว่างหลังจากล้มลุกคลุกคลานมานาน โดยรวมปีนี้ยังเป็นปีที่ดีของหนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหวังว่าอีกไม่นานเมื่อโรงภาพยนตร์เปิดทำการ เราจะได้ร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จนี้ด้วยกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook