เทศกาลปูซานปีที่ 26 นี่แหละ Soft Power ของจริง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
เวียนกลับมาอีกครั้งในเดือนหน้า เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival หรือ BIFF) จะจัดขึ้นที่เมืองปูซาน เมืองชายฝั่งของเกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 15 ตุลาคม ไม่ว่าใครจะพร้อมหรือไม่พร้อม ไม่ว่าโควิด-19 จะยังอยู่หรือหมดไป เกาหลีใต้พร้อมเสมอ และงานเทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแห่งนี้พร้อมจะกลับมาสร้างความตื่นเต้นในวงการหนังเอเชียในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้
ปีนี้เป็นปีที่ 26 ของเทศกาลปูซาน เช่นเคยมีหนังกว่า 190 เรื่องจากทั่วโลกได้รับเลือกมาฉาย โดยจะเน้นที่หนังเอเชียเป็นหลัก ผนวกด้วยหนังดังจากส่วนอื่น ๆ ของโลก ส่วนผู้กำกับไทยในปีนี้มี 3 ผลงานที่จะไปฉาย นำทีมโดยอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับหนัง Memoria (ที่เมืองไทยยังรอโอกาสฉายอยู่) ตามด้วยจักรวาล นิลธำรงค์ กับ “เวลา” หรือ Anatomy of Time ที่เพิ่งเปิดตัวที่เวนิสและจะต่อไปปูซาน ส่วนผลงานสุดท้ายเป็นซีรี่ส์ระทึกขวัญปนไสยศาสตร์ของสองผู้กำกับ อโนชา บุญวัฒนา หรือนุชชี่ ร่วมกับ จอช คิม ผู้กำกับอเมริกัน-เกาหลี เป็นงานที่ผลิตให้ HBO Asia ชื่อเรื่อง Forbidden น่าสนใจว่าปีนี้ปูซาน ขยับมาฉายหนังซีรี่ส์ทำผลิตสำหรับสตรีมมิ่งด้วย โดยจะฉายเพียง 2 ตอนแรกขึ้นจอใหญ่ เป็นการขยายฐานของเทศกาลภาพยนตร์ให้เข้ากับยุคสมัย โดยปีนี้ นอกจาก Forbidden ของไทย จะมีอีกสองซีรีส์เกาหลีร่วมฉาย Hellbound และ My Name ทั้งคู่เป็นงานสำหรับลง Netflix
คำถามที่มักได้ยินคือ ทำไมเทศกาลปูซานถึงสำคัญหรืออยู่ในข่าวเสมอ คำถามนี้แท้จริงแล้วเชื่อมโยงกับคำศัพท์ยอดฮิตในรอบเดือน “soft power” รัฐบาลเกาหลีตั้งแต่ 26 ปีที่แล้ว ริเริ่มเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ก็เพราะต้องการสร้างพลังทางวัฒนธรรมให้เป็นหัวหอกการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายอิทธิพลทางความคิดและทางการค้าไปทั่วเอเชีย และทั่วโลก ดังนั้นตั้งแต่แรกเริ่มเลย เทศกาลปูซานเป็นเวทีให้หนังเกาหลีได้เปิดตัว ให้ดาราเดินพรมแดง ให้บริษัทหนังได้ขายหนัง (ปีนี้เพิ่มซีรี่ส์เข้ามาด้วย ก็เพราะซีรี่ส์เกาหลีมาแรงทุกที่) พร้อม ๆ กันนั้น เทศกาลนี้ยังประกาศตัวเป็น “ผู้สนับสนุน” คนทำหนังชาติอื่น ๆ ในเอเชีย ประมาณว่ายุโรปมีคานส์ มีเวนิส เอเชียเราก็มีปูซานให้คนทำหนังได้มาฉายหนังเพื่อความภาคภูมิใจและเพื่อเปิดตลาด ดังนั้นตลอด 26 ปีที่ผ่านมา ปูซานผลักดันคนทำหนังเอเชียหลายร้อยคน ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ ให้มีโอกาสฉายหนัง ให้ทุนทำหนัง ให้รางวัล และเปิดอะคาเดมี่สอนนักเรียนหนังจากทั่วเอเชีย คนทำหนังไทยจำนวนมากมายที่ได้รับการช่วยเหลือด้านเงินทุน หรือการสนับสนุนด้านอื่น ๆ จากเทศกาลปูซาน ตั้งแต่ยุค นนทรีย์ นิมิบุตร มาถึง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ รวมทั้งนักเรียนหนังที่มากมายที่ได้ร่วม Asia Film Academy ที่ปูซานเป็นเจ้าภาพ
สิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่านโยบายวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่เกาหลีวางแผนมานานและชัดเจน จนออกดอกออกผลต่อเนื่องมา 20 กว่าปี เทศกาลปูซานเป็นฐานให้คนทำหนังเกาหลี และยังทำให้คนทำหนังเอเชียชาติอื่น ๆ รู้สึกผูกพันและมองปูซานว่าเป็นงานใหญ่ งานสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการสร้างงานของตน
สถานการณ์โควิดทำให้งานปีที่แล้วกร่อยลงไปตามธรรมชาติ เพราะคงไปฝืนอะไรมากไม่ได้ มาปีนี้ คาดว่างานก็คงยังไม่กลับมาคึกคักเต็มพิกัด เพราะแขกต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ยังคงไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานได้ แต่ถึงกระนั้น ปูซานก็จัดเต็ม เลือกหนังมาฉายเต็มที่ พร้อมออกโปรแกรมเดินพรมแดง การฉายรอบกาล่า การฉายรอบ “กลางแปลง” และงานเสวนาหรือเวิร์คชอปมากมายเต็มไปหมด โดยหนังเปิดเทศกาลจะเป็นหนังเกาหลีของผู้กำกับอิม ซางซู เรื่อง Heaven: To The Land of Happiness ในคืนวันพุธที่ 6 ตุลาคม
เช่นเคย สายประกวดหลักของปูซานเรียกว่า New Currents เป็นการคัดภาพยนตร์เรื่องที่ 1 หรือ 2 ของผู้กำกับหน้าใหม่จากเอเชียมาประกวด (ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนคนรุ่นใหม่) นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมอื่น ๆ อีกเพียบ ทั้งโปรแกรมหนังเกาหลีใหม่ ฉายโชว์กันไป 30 กว่าเรื่อง ผสมด้วยหนังดังจากทั่วโลกอื่นๆ ทั้งหนังจากคานส์ เวนิส เบอร์ลิน (หนังของอภิชาติพงศ์ และ จักรวาล ก็อยู่ในสายเหล่านี้) ปีนี้ยังมีโปรแกรมพิเศษเฉพาะสำหรับผู้กำกับจีน และโปรแกรม Wonder Women Movies หรือหนังโดยผู้กำกับหญิงจากทั่วเอเชีย นี่เป็นโปรแกรมที่น่าสนใจ เพราะเป็นการไล่เรียงหนังสำคัญของคนทำหนังผู้หญิงตั้งแต่ มีรา แนร์ ของอินเดีย โดยจะฉาย Salaam Bombay! ซามีร่า มัคมาลบาฟ จากอิหร่านกับ Blackboards มาถึงนาโอมิ คาวาสะ กับ Suzaku รวมทั้งหนังจากผู้กำกับหญิงชาวซาอุ ไฮฟา อัลมันซูร์ เรื่อง Wadjda และอื่น ๆ อีกหลายคน
รอดูกันต่อไปว่าเทศกาลหนังปูซานในเดือนหน้า จะสามารถเรียกความตื่นเต้นกลับมาสู่แวดวงหนังเอเชียได้มากน้อยเพียงใดในสถานการณ์ที่โรคระบาดยังซุ่มโจมตีชาวโลกอยู่เช่นตอนนี้