จาก Squid Game ถึงเจมส์ บอนด์ : สตรีมมิ่ง โรงหนัง ใครอยู่ใครพัง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
สัปดาห์นี้ผู้ชมทั่วโลกพูดถึงหนังสองเรื่อง หรือต้องบอกให้ชัดว่า หนังหนึ่ง ซีรี่ส์หนึ่ง อันได้แก่ No Time To Die หนังเจมส์ บอนด์ ตอนใหม่ล่าสุดและเป็นตอนสุดท้ายของนักแสดง แดเนียล เครก ในบทสายลับ 007 ส่วนซีรี่ส์ที่คนทั้งโลกพูดถึงในช่วงนี้ คงเป็นเรื่องใดไปไม่ได้นอกจาก Squid Game ส่งเข้าประกวดโดยเกาหลีใต้และ Netflix
No Time To Die เปิดฉายรอบพรมแดงกาล่าไปแล้ว สื่อก็ได้ดูแล้วทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา มีบทรีวิวออกมาครึกโครมมากมาย และหนังจะเข้าโรงจริงในวันที่ 8 ตุลาคม พร้อมกันทั่วโลก ส่วน Squid Game คนทั้งโลกที่มีสมาชิก Netflix ก็ดูกันได้ตามสะดวก ข่าวดังที่ออกมาตอนปลายเดือนกันยายนคือ Netflix ออกมาบอกว่าซีรี่ส์เกาหลีเรื่องนี้ (อันมีส่วนผสมทุกอย่างตั้งแต่ Parasite, Hunger Games ไปถึง Saw และ Battle Royale) อาจจะกลายเป็นซีรี่ส์ที่มีคนดูมากที่สุดตลอดกาลของแพลทฟอร์ม เกาหลีนี่แรงไม่ตกจริง ๆ
ที่นำหนังสองเรื่องนี้มาพูดก็เพราะสัปดาห์นี้ โรงภาพยนตร์ในไทยจะเปิดทำการอีกครั้งหลังปิดยาวไปกว่า 5 เดือน ถึงแม้จะมีหนังฟอร์มใหญ่รอเข้าคิวลงจออยู่มากมาย จองกฐินกันยาวไปเกือบถึงสิ้นปี แต่ยังมีคำถามคาใจคนในวงการภาพยนตร์ ว่าคนดูจะพร้อมกลับมาโรงหนังมากแค่ไหน จะมีความมั่นใจทางสาธารณสุขมากพอที่จะยอมมานั่งรวมกับคนแปลกหน้าสองสามชั่วโมง (ถึงจะเว้นระยะห่าง และมีมาตรการต่าง ๆ) หรือหากมองเลยเรื่องเชื้อโรคและสาธารณสุขไป ตลอดปีกว่าๆ ที่ผ่านมา คนดูเปลี่ยนพฤติกรรมจนชินชากับการหาความบันเทิงที่บ้าน และไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องออกมาดูหนังโรงอีกแล้วหรือไม่ เพราะ Squid Game (รวมทั้งหนังออนไลน์อื่นๆ ) ก็ตอบสนองอุปทานทางป๊อปคัลเจอร์ได้เพียงพอแล้ว
ผู้เขียนคงไม่มีคำตอบที่แน่ชัดให้ และไม่น่าจะมีกูรูคนไหนเพ่งลูกแก้วจนมองเห็นคำตอบนี้ได้เช่นกัน อีกทั้งคงไม่สามารถตีขลุมคาดการณ์สถานการณ์ที่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่และปัจจัยแวดล้อม เช่นในยุโรป ในอเมริกา ในจีน หรือในไทย
การยก No Time To Die ขึ้นมามองคู่กับ Squid Game เป็นการกระตุ้นเตือนให้เรารับรู้อีกครั้งว่า อนาคตของ “ภาพยนตร์” กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่าง “ความเก่า” กับ “ความใหม่” (อย่างน้อยก็ในการรับรู้ของคนดูหลากหลายรุ่น) ระหว่างแบบแผนดั้งเดิม และการ disrupt แหวกกฎเกณฑ์ที่คนบางรุ่นคุ้นเคยมาตลอด การอุปมาผ่านหนังทั้งสองเรื่องที่ดันอยู่ในกระแสข่าวพร้อมๆ กันมานานนับสัปดาห์ ยังเป็นตัวอย่างที่ตอบสนองบริบทของการแข่งขันระหว่างหนังโรงกับหนังสตรีมมิ่ง เพราะหนังสายลับเจมส์ บอนด์ เป็นสถาบันเก่าแก่ยืนยาวมาเกือบ 60 ปี (เจมส์ บอนด์ ภาคแรก Dr. No ออกฉายในปี 1963) และ No Time To Die เป็นตอนที่ 25 เข้าไปแล้ว แถมยังเป็นหนังอังกฤษที่ช่วยสร้างนิยามคนรุ่น Baby Boomer ทั้งในแง่ค่านิยม เนื้อหา และการมองโลก
ส่วน Squid Game ก็อย่างที่รู้กัน เป็นซีรีส์ใหม่เอี่ยมที่ออกฉายผ่านระบบ “ใหม่” (หรือใหม่เมื่อเทียบกับหนังบอนด์) คนดูเป็นหมื่นหรือแสนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้พร้อมๆ กันจากโซฟาบ้านตัวเอง เป็นหนังที่ไม่อยู่ในแบบแผนหนังสองชั่วโมงแต่ยาวถึง 9 ชั่วโมง แถมยังเป็นหนังที่มาจากฝั่ง “อำนาจใหม่” คือมาจากเกาหลีใต้ ประเทศเอเชียที่เพิ่งเถลิงอำนาจป๊อปคัลเจอร์มาประมาณ 20 ปี ไม่ใช่หนังจากโลกเก่าของผู้สร้างความบันเทิงอย่างอังกฤษหรืออเมริกา
พูดอีกอย่างคือ ถึงจะอยู่ในข่าวด้วยปริมาณที่สูสีกัน แต่ No Time To Die และ Squid Game เป็นขั้วตรงข้ามกันในแทบทุกมิติ
จะบอกว่าใครชนะใครแพ้คงไม่ได้ จะบอกว่าใครอยู่ใครพังก็ยิ่งไม่ได้ เพราะโลกของภาพยนตร์ไม่ได้ตื้นเขินและไร้ซึ่งประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น เท่าที่เห็น No Time To Die เป็นหนังดังทั่วโลกแน่ๆ โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ซึ่งสถานการณ์กลับมาแทบจะเป็นปกติแล้ว (ในไทยก็น่าจะเป็นหนังดังเช่นกัน แต่คงเทียบกับฝั่งยุโรปไม่ได้) การดูหนังอย่างเจมส์ บอนด์ ในโรงใหญ่ ไม่ได้เป็นเพียงความ “โรแมนติก” ประเภททำตาลอยว่าเราเป็นคนรักหนังที่ต้องดูหนังในโรง ไม่ใช่แบบนั้น แต่มันเป็น “ประสบการณ์” เป็นสภาวะการรับรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของการซึมซับประวัติศาสตร์ที่โลกภาพยนตร์มอบให้ ส่วน Squid Game เป็นประสบการณ์อีกแบบ เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมสำหรับโลกสมัยใหม่ที่กินง่าย ย่อยง่าย และกำลังพยายามสร้างหมุดหมายและประวัติศาสตร์ของตัวเอง (ต้องมีสัก 5 ซีซั่นถึงจะสมบูรณ์)
สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นคือ การที่คนดูต้องพยายามหาสมดุลใหม่ในการแสวงหาประสบการณ์ทางสื่อโสตทัศน์ และการที่หนังโรงและหนังสตรีม ต้องอยู่ร่วมกัน ยอมรับว่าตอนนี้ฝั่งสตรีมมิ่งกำลังได้เปรียบและกำลังมีโมเมนตัม แต่โรงภาพยนตร์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาร้อยกว่าปี ยืนหยัดผ่านมาแล้วทั้งสงครามโลก ทั้งโรคระบาด ทั้งเทคโนโลยีใหม่ที่คุกคามการอยู่รอด และก็รอดมาได้ทุกครั้ง ดังนั้นนี่คือ No Time To Die ของโรงหนัง ไม่ใช่เวลาม้วยมรณา แต่เป็นเวลาของการปรับตัวและแสวงหา เวลาที่ต้องเปิดม่านและเรียกความมั่นใจจากผู้ชมกลับมาอีกครั้ง