ทำไม Squid Game อาจจะเป็นซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ Netflix
Squid Game ซีรีส์เกาหลีที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จจาก Netflix ที่สามารถผลักดันคอนเทนต์จากอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีสู่เวทีโลกได้อย่างงดงาม ถึงขั้นมีการเปรียบเทียบว่า หาก Parasite เป็นภาพยนตร์ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้ Squid Game ก็อาจจะประสบความสำเร็จในสายซีรีส์ต่างประเทศบนเวทีระดับโลกได้เช่นกัน
หลายสำนักข่าวในต่างประเทศต่างรายงานว่า มียอดผู้เข้าชม Squid Game ในหลายๆ ประเทศสูงเป็นอันดับ 1 มากถึง 90 ประเทศ รวมถึง Ted Sarandos ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (Co-CEO) ของ Netflix ถึงกับออกปากว่า Squid Game อาจเป็นซีรีส์ต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ Netflix เลยก็ว่าได้
คาเฟ่ Squid Game ที่ฝรั่งเศส ได้รับความสนใจจากแฟนๆ มากมาย ระหว่างรอคิวแฟนๆ ได้เล่นเกมทักจีและตบหน้ากันจริงๆ ตามในเนื้อเรื่องด้วย! (ตบเล่นๆ เบาๆ นะ)
นักแสดง Squid Game ได้รับเชิญออกรายการชื่อดัง The Tonight Show Starring Jimmy Fallon ของอเมริกาด้วย
ไขความสำเร็จของ Squid Game
-
ซีรีส์แนว survival ที่สร้างความตื่นเต้นให้ตั้งแต่ฉากแรกยันฉากสุดท้าย
Squid Game เกมปลาหมึกตามชื่อเรื่อง เป็นหนึ่งในเกมสมัยเด็กของเกาหลีใต้ ที่เป็นธีมหลักของเรื่องที่นำคนที่มีหนี้สินมหาศาลจำนวน 456 คน มาเล่นเกมสมัยเด็กทั้งหมด 6 เกม เพื่อหาผู้ชนะและคว้าเงินรางวัลจำนวนมากถึง 45.6 ล้านวอน หรือราว 1,300 ล้านบาทกลับบ้านไป
เนื้อเรื่องของ Squid Game ถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์และซีรีส์แนว survival ชื่อดังหลายเรื่อง ทั้ง Battle Royale, Alice in Borderland ของญี่ปุ่น หรือ Hunger Games หรือหากเป็นภาพยนตร์ไทยก็มีคนหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับ 13 เกมสยอง ที่แต่ละเรื่องเป็นการเล่นเกม ปฏิบัติภารกิจ หรือต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด
เสน่ห์ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของซีรีส์แนว survival คือการให้ผู้ชมติดตามไปจนถึงตอนสุดท้ายว่าใครจะรอด ใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่างทางต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง คนที่ตัวเองเชียร์อยู่จะอยู่รอดไปจนถึงด่านสุดท้ายหรือไม่ ความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างไร ทำให้อัตราการชมไปจนถึงตอนสุดท้ายของเรื่องสูงกว่าภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ แต่นั่นก็ต้องอาศัยการเขียนบทดำเนินเรื่องที่ดึงความสนใจจากผู้ชมไปได้ตลอดทั้งเรื่องด้วย
-
9 ตอนจบสวยๆ
ด้วยความยาวของซีรีส์เพียง 9 ตอน อาจเป็นอีกกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้ชมอยากลองที่จะคลิกเข้ามาชม เพราะคาดว่าเนื้อเรื่องจะกระชับฉับไว ไม่ยาวนานเกินไปจนน่าเบื่อ หลายคนก่อนที่จะเริ่มดูซีรีส์จะเช็กก่อนว่าเรื่องนี้กี่ตอนจบ หากมีจำนวนตอนมาก อาจรู้สึกไม่สนใจและอยากดูเรื่องอื่นที่จำนวนตอนสั้นกว่า ซึ่งในระยะหลังๆ เราจะเป็น Netflix Original ทำซีรีส์ 8 ตอนจบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ซีรีส์เกาหลีส่วนใหญ่ความยาวอยู่ที่ 16-20 ตอนจบ เท่ากับหั่นความยาวเหลือครึ่งเดียวเท่านั้น) เพื่อเอาใจคนที่อยากดูซีรีส์ให้จบไวๆ ไม่ยืดยาวจนเกินไป แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีภาค 2-3 ต่อไปก็เถอะ แต่จบซีซั่นแรกเร็วๆ แบบที่หลายคนดูวันเดียวรวดเดียวจบ ก็เป็นการดึงดูดให้คนอยากคลิกดูมากขึ้นได้
-
ชีวิตของชนชั้นล่าง ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
หากใครเป็นคอซีรีส์เกาหลี จะเห็นได้ว่าช่วงนี้มีซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เรื่องราวของชนชั้นสูง (Sky Castle, Penthouse, Mine, High Class ฯลฯ) และเรื่องราวของชนชั้นล่าง อย่างที่ Parasite ประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องชีวิตของคนชนชั้นล่างได้อย่างน่าสะเทือนใจ
การที่ Squid Game เล่าถึงเรื่องของตัวละครแต่ละตัวที่ล้วนแล้วแต่มีปัญหาใหญ่ๆ อย่างการเป็น “หนี้” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตกในสังคมของทุกชนชาติ จึงทำให้ทุกคนเข้าถึงบทบาทของตัวละครแต่ละตัวได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างของซีรีส์ที่พูดถึงคนจนที่ถูกบังคับให้ชีวิตที่หักเหไปทำเรื่องร้ายๆ และประสบความสำเร็จอย่างมาเช่นกัน คือ Lupin ของฝรั่งเศส และ Money Heist ของสเปน ซึ่งเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงของใครหลายๆ คนที่พยายามกระเสือกกระสนหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวให้สุขสบาย ซึ่งอาจจะแตกต่างจากภาพยนตร์แฟรนไชส์ซูเปอร์ฮีโร่ของฝั่งฮอลลีวูดที่อาจจะซ้ำซากจำเจและดูจะเป็นไปไม่ได้ กล่าวคือผู้คนอาจมองหาหนังหรือซีรีส์ที่สะท้อนความเป็นจริงในสังคม แปลกใหม่ และไม่ซ้ำซากจำเจ
-
ขายเนื้อเรื่อง ไม่ขายดารา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าใน Squid Game ไม่ใช่ว่าไม่มีดาราดังๆ มาเล่นให้ ตัวละครเอกอย่าง อีจองแจ เป็นนักแสดงมากฝีมือระดับตำนานของวงการภาพยนตร์ของเกาหลี ฝากผลงานดังๆ บนจอเงินเอาไว้มากมาย ทั้ง Il Mare, Assassination, The Housemaid, Along With the Gods และอีกมากมายในแบบที่ฝากบทพูดที่เป็นที่รู้จักของคนเกาหลีเอาไว้เพียบ ในขณะที่นักแสดงแต่ละคนที่เหลือก็มากฝีมือไม่แพ้กัน และยังได้นักแสดงรับเชิญระดับใหญ่ที่เป็นที่รู้จักทั้งในเกาหลีและในหลายๆ ประเทศอย่าง กงยู และ ลีบยองฮุน มาสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ชมอีกด้วย
แต่หากได้ชมเราจะทราบว่า แม้ว่าจะมีนักแสดงชื่อดังมาร่วมแสดงด้วย แต่ความสำเร็จของซีรีส์เรื่องนี้ล้วนแล้วแต่มาจากเนื้อเรื่องที่เข้มข้น บวกกับความสามารถทางการแสดงของนักแสดงแต่ละคนที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นหน้าแต่ไม่คุ้นชื่อ หรือไม่คุ้นทั้งชื่อทั้งหน้าเลยก็ได้ อย่าง จองโฮยอน นางแบบระดับโลกผู้รับบทเป็น คังแซบยอก สาวชาวเกาหลีเหนือผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตัวเองและครอบครัว กับการฝากฝีมือในการแสดงอย่างเต็มตัวครั้งแรก หรือ คิมจูรยอง ผู้รับบทเป็น ฮันมีนยอ คุณแม่ผู้สู้ชีวิต ก็เป็นอดีตนางงามที่ได้ตำแหน่งรองอันดับ 3 มิสชุนฮยัง ปี 1999 ที่หันมาเอาดีทางการแสดงตั้งแต่ปี 2000 และฝากผลงานเอาไว้มากมายทั้งในซีรีส์ Mr.Sunshine, SKY Castle, Welcome to Waikiki 2, Voice 3, The School Nurse Files ฯลฯ แม้จะไม่ได้เป็นที่จดจำของแฟนๆ มากนักในเรื่องก่อนๆ แต่หลังจาก Squid Game ออกฉาย แต่ละคนก็ได้พิสูจน์ฝีมือทางการแสดงให้แฟนๆ ได้เห็น จนนักแสดงแต่ละคนแทบจะพลิกชีวิต ได้รับความนิยมมากมายจนมีจำนวน followers ในโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซนต์ในช่วงเวลาไม่กี่วัน (อีจองแจ และพัคแฮซู ไม่มี Instagram แต่ทนกระแสเรียกร้องจากแฟนๆ ไม่ไหวเลยต้องเปิดแอคเคาท์ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ จองโฮยอน มียอด followers เพิ่มขึ้นมาจนกลายเป็นนักแสดงหญิงเกาหลีที่มียอด followers สูงเป็นอันดับ 2 แซงหน้า ซงฮเยคโย ไปแล้วเรียบร้อย)
หากอ่านจบแล้วยังไม่เชื่อว่าทำไม Squid Game ถึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็วแบบนี้ ขอให้ลองพิสูจน์ด้วยตาของตัวเองที่ Netflix