Black Widow กับการปลดแอกของผู้หญิงที่ชื่อ นาตาชา
บทความนี้มีการเปิดเผยรายละเอียดในภาพยนตร์ Black Widow
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านานๆ ครั้งจะมี “หนังเดี่ยวของซูเปอร์ฮีโร่หญิง” ที่จะได้รับโอกาสให้มาโลดแล่นบนจอยักษ์ ในยุคสมัยหนึ่งเชื่อว่า การที่ตัวละครเอกเป็นผู้หญิงนั้น สุ่มเสี่ยงมากที่หนังจะประสบสภาวะล้มเหลวขาดทุนในตลาดโลก สืบเนื่องมาจากเหล่าสตูดิโอยังมองว่าหนังแอ็คชั่นนั้น กลุ่มผู้ชมหลักล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายที่นิยมเสพย์ความ “แมน” หรือมีความเป็นชายอยู่ในคาแรกเตอร์ของตัวละครอย่างเต็มเปี่ยม และบ่อยครั้งที่การขึ้นจอของฮีโร่หญิง ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของผู้กำกับเพศชาย ทำให้งานภาพ หรือบทภาพยนตร์เอง ทำให้ตัวละครหญิงเหล่านี้ถูกออกแบบให้มีความแฟนตาซีตอบสนอง “จินตนาการทางเพศ” ของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่
แน่นอนว่าการขับเคลื่อนทางสังคมอย่างเข้มข้นในช่วงเวลา 10 ปีมานี้ ที่ตระหนักถึงการปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างในครรลองคลองธรรม ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องความเท่าเทียมเพียงอย่างเดียว แต่การล่วงละเมิดทางเพศก็ดูเหมือนเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ปี 2560 #MeToo กลายเป็นแคมเปญบนโลกออนไลน์ที่รณรงค์ยุติการล่วงละเมิดทางเพศครั้งสำคัญ โดยจุดเริ่มต้นมาจากการขุดคุ้ยความฉาวโฉ๋ของฮาวีย์ ไวน์สตีน ผู้บริหารค่ายหนังไวน์สตีนที่เคยล่วงละเมิดทางเพศดาราหญิงชื่อดังในฮอลลีวูดสู่สาธารณชน จนคนในสังคมมองว่า ถึงเวลาแล้วที่เรื่องผู้หญิงกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น เป็นเรื่องที่สามารถ “พูดได้” และไม่ควรซุกปัญหาเหล่านี้ไว้ใต้พรมอีกต่อไป
ความเกี่ยวโยงระหว่างการคุกคามทางเพศ รวมไปถึงประเด็นการทารุณกรรมเด็ก (Child Abusing) แทบจะกลายเป็นเส้นเรื่องรองที่ปรากฏอยู่ในหนัง Black Widow ตั้งแต่เรื่องราวได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1995 เมื่อนาตาชายังคงเป็นเด็กน้อย และเธอมีน้องสาวอย่างเยเลน่า มีพ่อชื่ออเล็กเซีย ชอสโตคอฟ (เดวิด ฮาร์เบอร์) และคุณแม่เมเลนา วอสโตคอฟ (เรเชล ไวสซ์) ผู้ทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูเธอ แต่แล้ววันหนึ่ง ดูเหมือนจะมีเหตุจำเป็นทำให้ครอบครัวนี้ต้องหนีจากการตามล่า ก่อนที่นาตาชาและเยเลน่าจะถูกส่งตัวไปให้กับเดรย์คอฟ (เรย์ วินสโตน) หัวหน้าประจำ “ห้องแดง” ศูนย์ฝึกสายลับหญิงของโซเวียต
จะเห็นได้ว่าเมื่อนาตาชา (สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน) เติบโตขึ้น กลายเป็นสายลับฝีมือดีที่ถูกส่งไปทำภารกิจมากมาย แต่ใช่ว่าชีวิตสายลับสุดเท่อย่างเธอจะมีความสุข เราแทบจะไม่ได้เห็น “อารมณ์ขัน” ในห้วงเวลาที่เธอมีชีวิตปกติ อันที่จริงดูเหมือนว่านาตาชาเองจะต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวง จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่อาจจะรู้ได้ ในขณะเดียวกัน เยเลน่า (ฟลอเรนซ์ พิวจ์) ระหว่างปฏิบัติภารกิจตามล่าคนทรยศในโมร็อกโค เธอก็พลันตาสว่างหลังจากได้รับเซรุ่มสีแดง และกลับมามีความคิดเป็นของตัวเองว่า ที่ผ่านมาเธอถูกฝังชิปวงจรในการควบคุมความคิด เห็นผิดเป็นชอบ เห็นเพื่อนเป็นศัตรู และตลอดชีวิตที่ผ่านมาเธอไม่เคย “เป็นตัวของตัวเอง” เลยด้วยซ้ำไป
เส้นทางระหว่างเรื่องราวของ Black Widow อาจจะเป็นการโคจรมาเจอกันระหว่างพี่สาวและน้องสาว ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นพี่น้องตามสายเลือด แต่อย่างน้อยสายสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลาที่ทั้งคู่เติบโตด้วยกันมา ทำให้ผู้หญิงสองคนเชื่อมโยงกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ แม้ว่าการพบกันครั้งแรกในรอบหลายปี พวกเธอจะซัดกันเละก่อนจะมั่นใจว่าอีกฝ่ายไม่ได้เล่นละครตบตาก็ตามที
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจที่สุดขมวดปมตอนที่พวกเธอได้เดินทางกลับมายัง “ห้องแดง” ศูนย์บัญชาการลอยฟ้า ที่เป็นทั้งศูนย์ควบคุมสายลับหญิงคนอื่นๆ โดยน้ำมือของเดรย์คอฟที่ปัจจุบันกลายเป็นชายแก่ผิวขาว เฝ้ามองผู้หญิงผ่านจอมอนิเตอร์ ที่สามารถกำหนดชีวิตและชี้เป็นชี้ตายเด็กสาวที่เขาบ่มเพาะขึ้นมาให้กลายเป็นเพชรฆาตหรือแท้ที่จริงแล้วก็เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งที่เมื่อหมดประโยชน์แล้วก็สามารถกำจัดทิ้งได้แบบไม่ต้องลังเลด้วยเช่นกัน
จริงอยู่ที่ตัวร้ายอย่างเดรย์คอฟ อาจจะดูเป็นคน “ธรรมดา” และไร้พลังพิเศษ แต่เมื่อพิจารณาไปถึงเจตนาและความชั่วร้ายที่เขาอยู่เบื้องหลังในการชักใยชีวิตของเด็กสาว ฟูมฟักให้พวกเธอกลายมาเป็นเครื่องจักรสังหารอันไร้หัวจิตใจหัวใจและไม่อาจจะมีความคิดเป็นของตัวเองได้ จะแตกต่างอะไรไปจากการพราก “อิสรภาพ” ในการใช้ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นฉากปะทะคารมรวมไปถึงการต่อยหน้านาตาชาแบบรัวไม่ยั้งเพียงเพราะสิ่งที่นาตาชาพูดล้วนแล้วแต่เป็นความจริงที่จี้ใจดำของเดรย์คอฟ ว่าสิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงความเห็นแก่ตัวและถือคติผู้ชายเป็นใหญ่คับฟ้า
ฮาร์วีย์ ไวน์สตีนอาจจะเป็น “ตัวร้าย” ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่นเดียวกันเดรย์คอฟที่จำลองภาพ ผู้ชายวัยกลางคนในฐานะบอร์ดซีอีโอขององค์กรยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายให้กับใครสักคนหนึ่ง แต่บัดนี้เมื่อเหล่าแม่ม่ายดำ “ตาสว่าง” และค้นพบว่าชีวิตในโลกภายนอกนั้นพวกเธอสามารถ “อยู่รอดได้” ได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ชายอีกต่อไป พวกเธอจึงได้ปลดแอกตัวเองออกจากการถูกจองจำอยู่ภายใต้ระบอบ “ปิตาธิปไตย” เป็นที่เรียบร้อย
Black Widow จึงไม่ใช่แค่หนังซูเปอร์ฮีโร่หญิงคนดังที่สร้างความบันเทิงแบบชั่วครู่ชั่วยาม แต่เธอยังสะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงให้เห็นว่า ผู้หญิงทุกคนสามารถปลดแอกตัวเองจากการถูกกดขี่ได้เสมอและไม่มีเพศใดสมควรจะถูกบงการในการใช้ชีวิต