สี่แผ่นดิน! ตำรับละครรัชกาลสิ้น ประชาธิปไตยมา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
ช่วงต้นเดือนตุลา นับเป็นช่วงเวลาที่ร้อนระอุ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เรื่องประเทศ เพราะเต็มไปด้วยวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงมากมายเหลือเกินแม่ แน่นอนว่าความกะเทยนิวส์ จะเมาท์ละครมาตลอด แต่มันก็ใช่ว่าจะไม่มีละครที่มีความสำคัญต่อเดือนนี้เลยซะเมื่อไหร่ ดังนั้นเทยจึงขอเลือกละครที่พอจะพูดถึงได้อย่างอร่อยกรุบเจ้าค่ะ
สี่แผ่นดิน
สี่แผ่นดิน เป็นนวนิยายของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 โดยดำเนินเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ “พลอย” หญิงสาวที่เกิดและโตในช่วงแผ่นดินทั้งสี่รัชกาลนั้น ซึ่งเธอเป็นลูกพระยาที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในวัง ใกล้ชิดเสด็จพระองค์หญิงในรัชกาลที่ 5 ก่อนจะออกมาแต่งงานกับคุณเปรม มหาดเล็กในพระองค์ และชีวิตของพลอย ก็เผชิญความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และชีวิต มาตลอด 4 แผ่นดินนี้เอง
ซึ่งตัวนวนิยาย ครองใจนักอ่านในยุคนั้น ถึงขั้นที่ว่าสมัยตีพิมพ์เป็นรายตอนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ผู้คนอินกับเนื้อเรื่องถึงขั้นส่งของมาฝากตัวละครพลอยในตอนที่พลอยตั้งท้อง ส่งมะม่วงเปรี้ยวมาถึงสำนักพิมพ์เลยทีเดียวแม่ จึงถือเป็นนวนิยายที่ครองใจนักอ่านชาวไทยมาตั้งแต่ต้นฉบับ ดังนั้นสี่แผ่นดินถูกนำผลิตมาเป็นละครโทรทัศน์ไปแล้วถึง 5 ครั้งนับตั้งแต่ทีวียังมีช่องสี่บางขุนพรม ไล่ยาวมาจนถึงฉบับละครเวทีในปัจจุบัน
ซึ่งเวอร์ชั่นที่ได้รับการกล่าวขานว่าสมบูรณ์แบบ ประณีตสมเป็นละครจากนวนิยายที่อลังการที่สุด คือเวอร์ชั่นปี 2546 ซึ่งเป็นผลงานกำกับของหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) ด้วยการที่หม่อมน้อย ได้ตีความสี่แผ่นดินให้ตรงกับรัชสมัย ฉีกออกจากความไทยเดิม และกลายเป็นไทยรัตนโกสินทร์ ตรงตามประวัติศาสตร์
ทั้งโลเกชั่นที่ยึดตามสถาปัตยกรรมที่ตรงเนื้อเรื่อง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีการศึกษามาอย่างดี การเล่าเรื่องแบบกึ่งสารคดีและละคร จึงแทบจะเป็น Dramatory เรื่องแรกของไทย คล้ายคลึงกับ The Crown รวมถึงเพลงประกอบที่มีการใช้เพลงไทยเดิม มาเล่นผสมกับ Orchestra และทำให้เพลง “ลาวคำหอม” ฉบับสี่แผ่นดิน กลายเป็นเพลงที่ถูกเปิดในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่นั้น ด้วยการเล่าแบบนี้ จึงทำให้สี่แผ่นดินฉบับนี้ ถูกนำมาฉายซ้ำในช่วงเวลาสวรรตคต ของรัชกาลที่ 9 ในช่วงนั้น ผ่านทางช่อง PPTV
อย่างไรก็ตาม “สี่แผ่นดิน” จัดเป็นละครที่ถูกตีความไปในทาง “ชาตินิยม” อยู่ตลอดเลยค่ะเธอ เนื่องด้วยการเล่าถึงความสวยงามของสถาบันกษัตริย์ในอดีตถึง 4 รัชกาล ผ่านมุมมองของสาวชาววัง ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ด้วยยศศักดิ์ และความสะดวกสบายตลอดเรื่อง ตัวนวนิยาย ละคร และละครเวที จึงมักนำมาตีความใหม่ ให้เป็นการเชิดชูสถาบันว่าเป็นสิ่งสวยงาม
แน่นอนว่าในเวอร์ชั่น 2546 ซึ่งมีการตีความใหม่ ให้ตรงกับข้อมูลจริงในประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาที่เข้มข้นของสี่แผ่นดิน ที่ถึงเป็นจุดพีคของเรื่อง ก็ต้องหนีไม่พ้นช่วงแผ่นดินที่ 3 หรือช่วง “เปลี่ยนแปลงการปกครอง” ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสี่แผ่นดินเวอร์ชั่นนี้ ก็เล่าผ่านมุมมองของพลอยอย่างละเอียดเสียยิ่งกว่าบทเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนอีกแม่ และเรื่องก็ยิ่งเข้มข้นเข้าไปใหญ่ เมื่อลูกชายของพลอยสองคน ต้องมาทะเลาะกันเพราะคนหนึ่ง ยังเชื่อในระบอบกษัตริย์ ส่วนอีกคน เป็นหนึ่งในคณะราษฏร์ ที่สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นช่วงเวลาในแผ่นดินที่สามของละคร ก็นำเสนอให้เห็นความขัดแย้งนี้อย่างชัดเจน
ตัวละครอั้น ไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ยังเด็ก และเลือกเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยกฎหมายที่ดีที่สุด จดหมายของอั้นที่ส่งมาให้ที่บ้าน กล่าวถึงสังคมในฝรั่งเศสที่เจริญกว่าสยามมาก และเวอร์ชั่น 2546 ก็ยกกองไปถ่ายทำกันถึงฝรั่งเศสจริงๆ ด้วยแหละเธอ ซึ่งถือเป็นงานละเอียดมาก ซึ่งยังมีซีนที่หม่อมน้อย ถ่ายให้เห็นคำว่า
เสรีภาพ (Liberte) | ความเสมอภาค (Egalite) | ภราดรภาพ (Fraternite)
เป็นคำที่เขียนอยู่หน้ามหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกฎหมายที่ดีที่สุดของฝรั่งเศส ที่ที่อั้นเรียน ก่อนจะกลับมาเข้าร่วมกับคณะราษฏร์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการเห็น “3 กีบ” ในละครชาตินิยมครั้งแรก ก่อนที่สามกีบจะถูกใช้ในช่วงนี้เสียอีกเธอ
แต่ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งพลอย ที่ยังอยู่สยาม เธอก็ยังผูกชีวิตของเธอไว้กับความเปลี่ยนแปลงที่ผันแปรไปตามรัชกาลของในหลวง เธอยังยึดติดอยู่กับขนบเดิม ที่แม้จะเป็นการเชื่อในระบอบกษัตริย์ แต่รายละเอียดของธรรมเนียมก็เปลี่ยนแปลงไปตามรัชสมัยอยู่ดี ในแต่ละแผ่นดินที่ผ่านไป เธอจึงมองว่าความเปลี่ยนแปลง คือความทุกข์อย่างหนึ่งของชีวิต
แล้วอะไรจะเป็นความทุกข์ใหญ่ของเธอล่ะคะ ถ้าไม่ใช่การที่ลูกชายจากฝรั่งเศส ดันปฏิวัติสยาม และลดอำนาจของในหลวงที่เธอเชิดชูลงมา และสนับสนุนให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับหญิงสาวที่มองเห็นความรุ่งเรืองของรั้ววังมาแต่เด็ก ย่อมมองว่านี่คือการกระทำที่มีแต่ทุกข์ ไม่สงบ รบกวนความสวยงามที่เธออยากจะรักษาเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หรือการเมืองนอกบ้านก็ตาม
ฉะนั้นในมุมมองของคนที่เสพย์สี่แผ่นดินในความรู้สึกรักชาตินิยม จึงมองอั้นเป็นตัวร้าย และหลายครั้งก็ตีความว่า ความพยายามจะนำระบบใหม่มาใช้ในสังคมและบ้าน มีแต่จะทำให้พี่น้องและครอบครัวต้องแตกแยกกัน เหมือนที่อั้นต้องเห็นด้วยกับการที่ต้องส่งอ้น พี่ชายต่างแม่ไปเข้าคุก เพราะอ้นเข้าร่วมเป็นกบฏบวรเดชกบฏแรกที่อยากจะทวงคืนพระราชอำนาจคืนให้ระบอบกษัตริย์นั้นเอง
แม้ว่าอั้นจะหัวรั้นและดูเป็นคนหัวสมัยใหม่อย่างไร แต่ท้ายที่สุด ความเป็นพี่น้องแบบไทย ก็ว่าตัดกันไม่ขาด เมื่อแผ่นดินสุดท้ายมา ความเป็นพี่น้องก็คืนดีกันได้ในที่สุด เหมือนกับว่าอั้นเองก็มีความผูกพันกับครอบครัวเครือญาติไม่ต่างอะไรจากแม่พลอยนัก ซึ่งทำให้สี่แผ่นดินสามารถพลิกเรื่องกลับมาจบอย่างปลงชีวิต พร้อมการจากไปของหลายตัวละครที่สอนให้เราทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง เหมือนกับยอมรับการจากไปของแม่พลอยในตอนจบ
แม้จะเป็นละครชาตินิยม ที่ถูกนำมาใช้พูดถึงสถาบันอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มีไม่กี่เวอร์ชั่น ที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างถึงพริกถึงขิง แม้ว่าตัวเนื้อเรื่องจะอนุรักษ์นิยมไทยอยู่มาก แต่ก็เข้มข้น และทำให้เห็นว่าความไทยเดิม กับประชาธิปไตย มีอะไรหลายอย่างที่ไม่ลงรอยกัน ซึ่งดูเป็นปัญหาที่ไม่น่าจะจบแค่ในละครหรือตัวต้นตำรับนวนิยาย
และเราๆ เธอๆ ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตต่อมาอีกสองแผ่นดินแล้วด้วยนะเธอ มันเป็นยังไงบ้างแล้วนะเออ
เจ้าพระคุณ อิชั้นไม่รู้จะตกใจอย่างไรแล้วล่ะคุณเปรม
เหยี่ยวเทย รายงาน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ