No Time To Die: ไม่ใช่เวลาเป็น ไม่ใช่เวลาตาย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

No Time To Die: ไม่ใช่เวลาเป็น ไม่ใช่เวลาตาย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

No Time To Die: ไม่ใช่เวลาเป็น ไม่ใช่เวลาตาย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การกลับไปดูภาพยนตร์ในโรงอีกครั้งร่วมกับคนดูอื่นๆ แถมเป็นโรง IMAX นำความรู้สึกอันคุ้นเคยกลับมา ทั้งสัมผัสกับเก้าอี้ เสียงเอี๊ยดอ๊าดเมื่อมีคนขยับตัวหรือเดินเข้ามาในที่นั่ง อาจจะแฝงด้วยความระแวงบ้างเมื่อมีคนกระแอมด้านหลัง แต่ที่สำคัญคือ ความอิ่มเอิบจากการรับชมภาพขนาดใหญ่ การที่หนังสามารถกลืนกินห้วงสำนึกของเราในช่วงเวลาสองชั่วโมงกว่าๆ และประสบการณ์ที่ผู้ชมถูก “บังคับโดยสมัครใจ” อันเป็นเงื่อนไขของภาพยนตร์ฉายโรง ไม่ว่าเราจะนั่งดูหนังบนโซฟาที่บ้านมากี่เรื่องตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา จะกดหยุดกดเล่นจะคุยเสียงดังตอนไหนยังไงก็ได้ แต่ความรู้สึกของการดูหนังในโรง ในความเงียบของคนรอบข้าง ในความมืดสนิทราวกับเป็นภพภูมิที่ตัดขาดจากโลกภายนอก นี่เป็นสิ่งพิเศษเสมอในบรรดาประสบการณ์การรับรู้ของมนุษย์

ผู้เขียนขออนุญาตแชร์ความรู้สึกนี้ หลังจากไปดูหนังเจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุด No Time To Die มาหมาดๆ ยังฮัมเพลงไตเติ้ลของบิลลี่ เอลิช ได้อยู่ในใจ ถือว่าเป็นหนังที่เหมาะสมสำหรับการกลับมาดูหนังในโรง เพราะสำหรับหนังแอคชั่นที่ดีไซน์ฉากใหญ่ๆ มาขนาดนี้ ถ้าดูจอเล็กคงเสียอรรถรสไปพอสมควร เสียงระเบิดตูมตาม เสียงรถไล่ และเสียงบทสนทนาของตัวละคร ทั้งหมดนี้ดีกว่า อิ่มกว่าจริงๆ เมื่อฟังจากลำโพงใหญ่ของโรงหนัง

บอนด์ภาคนี้เป็นภาคสุดท้ายที่จะมี แดนียล เครก แสดงเป็นสายลับ 007 และเป็นการอำลานักแสดงที่ได้ชื่อว่าเป็นบอนด์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งอย่างน่าซาบซึ้ง (พูดมากกว่านี้จะโดนข้อหาสปอยล์) ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาที่เครกรับบทเจมส์ บอนด์ ตั้งแต่ Casino Royale, Quantum Solace, Skyfall, Spectre และ No Time To Die เป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับภูมิทัศน์ทางการเมืองและวัฒนธรรมโลก ทั้งสงครามที่เปลี่ยนรูปแบบ เทคโนโลยีที่ส่งผ่านค่านิยม ความเชื่อ และกระแสความคิดใหม่ๆ การผลัดรุ่นของคนดูหนัง และการที่ภาพยนตร์ถูกเรียกร้องให้สะท้อนทัศนคติใหม่ๆ ทั้งเรื่องเพศ สีผิว ความเท่าเทียม ฯลฯ ทำให้เจมส์ บอนด์ ซึ่งเป็นตัวละคร “ผู้ชายแมนๆ ผิวขาว” ที่มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษ ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อสนองต่อความคาดหวังของคนดูรุ่นใหม่ ไม่กลายเป็นฝรั่งแก่ๆ (ทางความคิด) ที่ยังหลงอยู่ในโลกหลังสงครามเย็น ทั้งหมดนี้ต้องทำโดยยังต้องรักษาเอกลักษณ์ที่สร้างกันมากว่า 50 ปีเอาไว้ด้วย นอกจากนี้ ความนิยมของหนังซุเปอร์ฮีโร่แบบโครมครามในรอบ 10 ปีหลัง ยังทำให้หนังแอคชั่นอย่างเจมส์ บอนด์ (ซึ่งก็เป็นซุเปอร์ฮีโร่แบบหนึ่งอยู่แล้ว) ต้องทบทวนตัวเองว่าจะดึงดูดคนดูได้อย่างไร

ตลอดหนังบอนด์ 5 ภาคที่มี แดเนียล เครก นำแสดง การปรับตัวที่ว่านี้ก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ และมาชัดที่สุดใน No Time To Die นี้ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของบอนด์กับแมดเดอลีน (เลอา ซีดูซ์) การปรากฏตัวของ 007 “คนใหม่” บทสายลับสาว CIA ที่ไม่หลงเสน่ห์บอนด์แม้แต่น้อย อารมณ์โศกเศร้าและโหยหารักแท้ของบอนด์ และแม้กระทั่งการสร้างตัวละครผู้ร้าย ลุตซิเฟอร์ ซาฟิน (รามี่ มาเล็ค) ให้เป็นนักก่อการร้ายทางพันธุกรรมและยาพิษ ไม่ใช่คนบ้าระเบิดนิวเคลียร์อย่างที่เห็นกันมา เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้สร้างและผู้กำกับในตอนนี้ (แครี่ ฟูกูนากะ) พยายามประกอบสร้างความเป็น 007 ให้เป็นตัวละครที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกภาพยนตร์ท่ามกลางกระแสพายุเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่สงบ

หากจะว่ากันแต่เฉพาะพลอตเรื่อง ภาคนี้ถือว่าดีกว่า สนุกกว่า Spectre เยอะ ประสานความบู๊ การต่อกรกับผู้ร้าย และเรื่องส่วนตัวของบอนด์ได้อย่างไม่เคอะเขิน ธีมของการเสียสละ การล้างแค้น และการปลดปล่อย ก็สอดประสานกันได้ลงตัวไม่เลว หนังยาวถึง 2 ชั่วโมงครึ่งแต่ดูได้ยาวไม่เสียสมาธิ หากแต่รวมๆ แล้ว บอนด์ตอนนี้ก็ยังไม่เร้าใจหรือลุ่มลึกเท่ากับ Casino Royale และ Skyfall อีกทั้งผู้เขียนคิดว่า หนังใช้ประโยชน์จากรามี่ มาเล็ค ในบทผู้ร้าย น้อยไปสักนิด เพราะมัวแต่ไปเคลียร์ปมปัญหากับโบลเฟลด์ ผู้ร้ายปากมากจากภาคก่อน (แสดงโดย คริสตอฟ วอลซ์) ส่วนดาราสาวอันนนา เดอ อามาส ที่ออกมาฉากเดียวในบทสายลับอเมริกันแก่นเซี้ยว ก็ขโมยซีนได้อย่างไม่ต้องพยายามมาก (เดอ อามาส เคยแสดงคู่กับ เดเนียล เครกมาแล้วในเรื่อง Knives Out ลองไปหาภาพดูจะเห็นว่าแตกต่างจากบทในหนังเจมส์ บอนด์ อย่างมาก) ฉากที่คิดว่าสนุกและตื่นเต้นที่สุด น่าจะเป็นฉากรถไล่ในเมืองบนเขาของอิตาลีในตอนต้น ที่บอนด์เกิดฉุกไม่ไว้ใจแมดเดอลีนขึ้นมาในขณะที่ผู้ร้ายกำลังกระหน่ำยิงจากทุทิศ ส่วนแกลุยกันตอนท้ายในโรงงานกลางทะเล ก็สนุกตามมาตรฐาน ถึงจะตัดต่อออกมากยืดไปสักนิดและไม่ค่อยมีความสดใหม่อะไรเท่าไหร่

คำถามที่คาใจทุกคนคือ เจมส์ บอนด์ตอนหน้า ซึ่งจะเป็นตอนที่ 26 จะสร้างบอนด์ให้ไปทางไหน ยังมีช่องไหนให้ลอด เส้นทางไหนให้เดิน ปัญหาและความขัดแย้งใดในโลกให้หยิบมาเป็นเชื้อ บอนด์จะยังเป็นชายผิวขาวผู้ไม่ยอมแก่ที่ต้องกอบกู้โลกจากผู้ร้ายเพี้ยนๆ ไปเรื่อยๆ หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องคุยกันยาว และคงต้องรอสักพักเมื่อผู้สร้างประกาศเลือกนักแสดงคนใหม่ที่จะมาเป็นบอนด์ ณ เวลา ขอส่งท้ายเพียงแค่ว่า ขอต้อนรับทุกคนกลับสู่โรงภาพยนตร์!

อัลบั้มภาพ 56 ภาพ

อัลบั้มภาพ 56 ภาพ ของ No Time To Die: ไม่ใช่เวลาเป็น ไม่ใช่เวลาตาย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook