ไทยส่ง "ร่างทรง" ประเทศอื่นส่งหนังเรื่องอะไรไปออสการ์บ้าง (ภาค 1) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ไทยส่ง "ร่างทรง" ประเทศอื่นส่งหนังเรื่องอะไรไปออสการ์บ้าง (ภาค 1) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ไทยส่ง "ร่างทรง" ประเทศอื่นส่งหนังเรื่องอะไรไปออสการ์บ้าง (ภาค 1) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประกาศออกมาแล้วว่าประเทศไทยจะส่งภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง หนังผีชนบทของผู้กำกับ บรรจง ปิสันธนะกูล เป็นตัวแทนไปชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศ อย่าสับสนนะครับ ตอนนี้หนังยังไม่ได้เข้ารอบสุดท้ายของออสการ์ กว่าจะประกาศ 15 เรื่องสุดท้ายคือกลางเดือนธันวาคม และรอบสุดท้าย 5 เรื่องจะประกาศต้นเดือนกุมภาพันธ์โน่นเลย เพียงแต่ตอนนี้หนังสยองขวัญเรื่องนี้เป็นตัวแทนถือธงไทยไปเข้าร่วมประกวด รอลุ้นกันไปว่า ร่างทรง จะหลอนกรรมการจนผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้หรือไม่

ถึงแม้อีกหลายประเทศจะยังไม่ประกาศหน้าส่งออสการ์ของตนออกมา แต่หลายประเทศที่ประกาศออกมาแล้วต่างมีหนังที่น่าสนใจ และหลายเรื่องจะเข้ามาฉายในไทย ไม่ว่าจะในโรงปกติหรือในเทศกาลหนังที่กำลังจะเกิดขึ้น ลองมาไล่ดูกัน

อินโดนีเซีย ปีนี้เป็นปีที่ดีของหนังอินโดนีเซีย เพราะมีหนังหลายเรื่องได้ไปฉายตามเทศกาลหนังนานาชาติและได้รางวัลใหญ่ด้วย อินโดนีเซียตัดสินใจส่ง Yuni เป็นตัวแทน ส่วนหนึ่งแน่นอนว่าด้วยคุณภาพของหนัง อีกส่วนอาจมาจากการที่หนังดังขึ้นมาจากการได้รางวัลใหญ่สาย Platform จากเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต้เมื่อสองเดือนก่อน Yuni เป็นหนังวัยรุ่น ว่าด้วยเด็กสาวในช่วงเวลาแห่งการค้นพบตัวเองท่ามกลางแรงกดดันของศาสนาและสังคมที่ผู้หญิงไม่มีปากมีเสียง ที่น่าสนใจคือ หนังมีความตรงไปตรงมาในการพูดประเด็นสตรี รวมทั้งเรื่องเพศ อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอิสลามในบางแง่มุม และเป็นหนังประเภทที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมอาจจะไม่ค่อยชอบใจสักเท่าไหร่ Yuni กำกับโดย กามิลา อันดีนี่ และหนังมีโอกาสจะเข้ามาฉายในไทย โปรดรอติดตามข่าวต่อไปเร็วๆ นี้

กัมพูชา เพื่อนบ้านของเราส่ง White Building ไปออสการ์ หนังเรื่องนี้ได้ไปเปิดตัวที่เทศกาลเวนิสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเปิดตัวในงานใหญ่และเป็นหน้าเป็นตาให้กับวงการหนังกัมพูชาอย่างมาก White Building เป็นงานกำกับของคาวิช เนียง คนทำหนังรุ่นใหม่ของกัมพูชาและเป็นหนึ่งในผู้เป็นกำลังสำคัญที่พยายามรื้อฟื้นวงการหนังเขมรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนังเล่าเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน “ตึกขาว” กลางกรุงพนมเปญ ตึกเก่าแก่นี้ผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย และกำลังจะถูกรื้อโดยทางการ (ในความเป็นจริง ตึกเพิ่งโดนรื้อไป) นี่เป็นหนังที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของคนและของเมือง เป็นหนังเขมรในสายตาของศิลปินรุ่นใหม่ที่พยายามก้าวข้ามประเด็นเขมรแดงและความโหดร้ายของสงคราม มาสู่เรื่องราวและทัศนคติร่วมสมัย เช่นกัน หนังเรื่องนี้มีโอกาสเข้ามาฉายในไทย โปรดติดตามข่าวต่อไป

สิงคโปร์ มาแปลกนิดนึงเพราะส่ง Precious Is The Night หนังทริลเลอร์สืบสวนย้อนยุคที่กำกับโดยผู้กำกับชาวไต้หวัน หนังเปิดตัวที่งาน Taipei Golden Horse Film Festival ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เรื่องนี้ผู้เขียนยังไม่ได้มีโอกาสดู และได้ยินข่าวค่อนข้างน้อยตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

เกาหลี ลองเขยิบเลยจากแถวๆ บ้านเราออกไป เกาหลีส่ง Escape from Mogadishu หนังแอคชั่นที่อิงจากเหตุการณ์จริงระหว่างสงครามกลางเมืองในประเทศโซมาเลียในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 เมื่อนักการทูตของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ต้องร่วมมือกันนเพื่อหาทางหนีออกจากประเทศที่กำลังจะล่มสลาย หลังจากประกาศศักดาด้วย Parasite ไปเมื่อสองปีก่อน เกาหลีปีนี้กลับเลือกส่งหนังที่เล่นประเด็นเกาหลีๆ มาก (คือเรื่องเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้) แถมยังเป็นหนังแอคชั่นตื่นเต้น หรือว่าง่ายๆ ไม่ใช่สไตล์หนังรางวัลสักเท่าไหร่ และเชื่อว่าโอกาสเข้ารอบไม่น่าจะเยอะ

ญี่ปุ่น ขอเดาว่านี่คือหนึ่งในตัวเก็ง ญี่ปุ่นส่ง Drive My Car หนังดังแห่งปีโดยผู้กำกับริวสุเกะ ฮามากูจิ สร้างจากเรื่องสั้นของฮารูคิ มูราคามี ว่าด้วยนักเขียนบทละครวัยกลางคนและโชเฟอร์ที่เป็นผู้หญิง เนื้อหาว่าถึงบาดแผลในใจที่ไม่มีวันหาย ความตายและสิ่งที่ไม่ตายตามไปด้วย รวมทั้งการจัดการความรู้สึกของผู้ชายในสังคมแบบญี่ปุ่น หนังมีความสนุก เข้มข้น และซับซ้อนในความรู้สึกและรูปแบบ เป็นหนังความสัมพันธ์แบบ “ผู้ใหญ่” มากๆ ถ้าเคยอ่านเรื่องสั้นตั้งต้นของมูราคามี (หนังสร้างจากหลายเรื่องจากหนังสือ Men Without Women เอามาเชื่อมกัน) น่าจะยิ่งพลาดไม่ได้ ข่าวดีคือ Drive My Car เข้าโรงในไทยเดือนพฤศจิกายนนี้แน่นอน

โคลอมเบีย คงไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะปีนี้ประเทศโคลอมเบียส่งหนังโดยผู้กำกับชาวไทยไปชิงออสการ์ และน่าจะเป็นหนึ่งในตัวเต็งว่าจะเข้ารอบสุดท้าย Memoria โดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นหนังที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในโคลอมเบีย นำแสดงโดยทิลด้า สวินตัน เป็นผู้หญิงที่โดนเสียงประหลาดหลอกหลอนและออกเดินทางไปยังชนบทเพื่อค้นหาต้นตอของมัน Memoria เป็นตัวอย่างของหนัง “นานาชาติ” ที่ก้าวข้ามพรมแดนของสัญชาติในขนบดั้งเดิม และเป็นการรวมตัว (และรวมเงิน) ของศิลปินและนายทุนจากหลายชาติ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เพราะบริษัทหลักที่สร้างเป็นบริษัทโคลอมเบียและหนังพูดภาษาสเปน ทำให้โคลอมเบียส่งหนังเป็นตัวแทนประเทศ งานนี้ถึงจะไม่ใช่ตัวแทนไทย แต่ทางเราก็คงร่วมเชียร์ได้ไม่ต่างจากเชียร์ ร่างทรง

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ไทยส่ง "ร่างทรง" ประเทศอื่นส่งหนังเรื่องอะไรไปออสการ์บ้าง (ภาค 1) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook