ชวนดู Tick, Tick... Boom! ใน Netflix กับแนวคิดที่ว่าความฝันมีวันหมดอายุไหม

ชวนดู Tick, Tick... Boom! ใน Netflix กับแนวคิดที่ว่าความฝันมีวันหมดอายุไหม

ชวนดู Tick, Tick... Boom! ใน Netflix กับแนวคิดที่ว่าความฝันมีวันหมดอายุไหม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องราวใน Tick, Tick... Boom! โฟกัสไปที่ตัวละครอย่างจอน หรือ โจนาธาน ลาร์สัน (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) ในช่วงวัยที่เขาอายุ 29 ปี ระหว่างที่กำลังตะเกียกตะกายตามฝันในการจะเป็นนักแต่งเพลงให้กับละครเวทีสักเรื่อง แต่ดูเหมือนชีวิตพนักงานเสิร์ฟของเขาก็แทบจะไม่พอยาไส้ในแต่ละวันเลยด้วยซ้ำไป จนอายุในวัยเลข 3 กำลังจะใกล้เข้ามาทุกที เขาจึงยิ่งรู้สึกว่า “เวลาของตัวเองกำลังจะหมด” อยู่ตลอดเวลา

การสร้างสรรค์ผลงานเพื่อจะนำเสนอนายทุนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะเดียวกันชีวิตส่วนตัวของเขากับซูซาน (อเล็กซานดร้า ชิปป์) นักเต้นอนาคตไกล ก็ดูเหมือนจะส่อแววไปไม่รอด เมื่อฝ่ายหญิงได้รับข้อเสนอในการให้ไปเข้าร่วมกับคณะเต้นที่ไกลห่างออกไปจากนิวยอร์ก ท่ามกลางความฝันที่ดูเหมือนจะหลุดลอยออกไปทุกทีและชีวิตที่ดูยากขึ้นในทุกวันโจนาธานจะหาทางออกให้กับชีวิตของเขาอย่างไรกันดี

การมาถึงของหนังเรื่องนี้ ช่วยเป็นยาใจที่ปลอบประโลมคนในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากอายุเลข 2 ไปสู่เลข 3 ได้เป็นอย่างดี เพราะยุคสมัยก่อนหน้านี้มักจะมีคำพูดที่ว่า เมื่อเราพ้นชีวิตในวัย 20 แล้วเราควรจะตั้งตัวมีหน้าที่การงานมั่นคง มีบ้านสักหลัง และมีชีวิตคู่ที่ราบรื่น แต่สิ่งที่ตัวละครอย่างโจนาธานกำลังต้องเผชิญอยู่นั้น (แถมยังเป็นยุคในปี 1990 ซึ่งนั่นหมายถึงช่วงเวลากว่า 30 ปีที่แล้วด้วยซ้ำไป) เรียกได้ว่า เขายังทำงานต๊อกต๋อยเป็นแค่พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่โดนลูกค้ากดหัวและดูถูกในทุกวี่วัน แถมการจะตะกายฝันในโลกของละครเวที ดูเหมือนเป็นความหวังอันแสนริบหรี่เหลือทน

ตัวละครอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ไมเคิล (โรบิน เดอ จูดาส) เกย์หนุ่ม ผู้เป็นเพื่อนสนิทของโจนาธานที่ครั้งหนึ่งเขาเป็นนักแสดงสมทบที่มีความฝันอยากจะไปโลดแล่นในบรอดเวย์สักเรื่อง แต่เมื่อเขาตัดสินใจทิ้งความฝันเพื่อหน้าที่การงานมั่นคงในสายงานเอเจนซี่โฆษณา ไมเคิลจึงบอกลาห้องเช่ารูหนูและย้ายตัวเองไปอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่ชนชั้นกลางตามประสามนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งฝันมาทั้งชีวิตว่าตัวเองจะมีปัญญาในการผ่อนรถสักคัน

จนกระทั่งเมื่อหนังคลี่คลายทุกอย่างออกมาว่า ละครเวทีที่โจนาธานทำพรีเซนต์ไปนั้นเป็นงานที่งดงาม ทรงคุณค่า แต่ดู “ขายยาก” จนเกินไปสำหรับตลาด ทำให้ตัวโจนาธานพร่ำบ่นกับเพื่อนสนิทว่าเวลาของเขาหมดลงแล้ว แต่ไมเคิลกลับบอกว่า นายจะคิดว่าเวลาของตัวเองหมดลงได้ยังไง ในเมื่อเขายังมีโอกาสแต่ตัวไมเคิล “ติดเชื้อ HIV” (ซึ่งในยุคดังกล่าวยังเป็นโรคที่รักษาไม่หายและผู้ป่วยมักจบชีวิตลงด้วยโรคฉวยโอกาส) ทำให้เขากล่าวกับเพื่อนสนิทว่า ฉันเองกำลังรู้ว่าชีวิตกำลังต้องนับถอยหลังแล้ว แต่นายยังมีโอกาสที่จะได้ทำตามความฝันต่อ แม้ว่าอายุนายจะมากขึ้นและวันนี้ความฝันของนายจะยังไม่เข้าใกล้ความจริงก็ตามที

สิ่งที่น่าสนใจเอามากๆสำหรับโจนาธานคือ เขาเปรียบชีวิตของตัวเองกับคนในแวดวงละครเวทีที่เขาเคารพนับถือ อย่างสตีเฟ่น ซอมไฮด์ (แบรดลีย์ วิทฟอร์ด) นักแต่งเพลงที่มีผลงานแต่งเพลงให้กับละครเวทีเรื่องดังระดับตำนานอาทิ West Side Story, Company, Follies, Sweeney Todd รวมไปถึง Into the Woods เป็นต้น ซึ่งด้วยความสำเร็จจากผลงานชิ้นแรกในวัย 27 ปี (ดังที่โจนาธานกล่าวไว้) ทำให้เขาตั้งธงว่า เวลาของตัวเองได้ผ่านเลยความสำเร็จที่ควรจะเป็นมานานแล้ว หรือเขาเองควรจะล้มเลิกความตั้งใจและหันเหตัวเองไปทำอย่างอื่นแทนดี

แน่นอนว่าความทุกข์ทรมานจากการ “ไม่ประสบความสำเร็จ” ซะทีของโจนาธาน ประกอบกับชีวิตส่วนตัวที่ดูเหมือน เขาเองก็แอบรู้สึกผิดที่ไม่อยากจะฉุดรั้งความฝันของแฟนสาวอย่างซูซานที่กำลังจะได้เบ่งบาน ฉายแสงในฐานะนักเต้น เขาจึงเลือกที่จะไม่เอ่ยปากร้องขอให้แฟนของเขารับงานนี้ แต่ใครจะไปรู้ว่าความรู้สึกของเขานั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ซูซานคิดว่า ถ้าหากว่าโจนาธานขอร้องเธอ เธอก็จะไม่รับงาน แต่ใครจะไปเดาใจฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครคาดเดา “ความคิด” ของคนอื่นได้ทั้งนั้น

อีกหนึ่งประโยคที่สะดุดหูและเป็นความหมายดีๆสำหรับคนทำงาน หรือคนที่กำลังทำตามความฝันของตัวเองอยู่นั้นคือประโยคของโรซ่า (จูดิธ ไลท์) รุ่นพี่ในแวดวงละครเวที ที่ให้กำลังใจและสอนน้องใหม่ในวงการว่า “ในฐานะที่เราเป็นนักแต่งเพลงละครเวที หากมันยังไม่สำเร็จ ก็เขียนต่อไปเรื่อยๆ ทำมันเรื่อยๆ จนหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีผลงานสักชิ้นที่ปังและโดนใจเจ้าของทุนสักที”  ดังนั้น เราจึงไม่มีโอกาสจะล่วงรู้ได้เลยว่า “จังหวะอันรุ่งโรจน์” ของเราจะมาถึงเมื่อใด แต่ถ้าเราทำมันต่อไปสักวัน วันนั้นอาจจะมาถึง

อย่างไรก็ตามในชีวิตจริง โจนาธาน ลาร์สันได้เสียชีวิตลงในวัย 36 ปี หลังจากเป็นหลอดเลือดแดงโป่งพอง ภายหลังจากวันซ้อมครั้งสุดท้ายก่อนที่ละครเวทีอย่าง Rent จะเปิดแสดงรอบพรีเมียร์ในปี 1996 ก่อนที่ละครเวทีเรื่องนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งตำนาน ที่เล่าขานชีวิตของผู้คนที่มุ่งหน้าสู่นครแห่งความฝันในนิวยอร์กและต้องพบเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต รวมไปถึงการใส่ประเด็นผู้ติดเชื้อ HIV เข้ามาในละครอีกด้วย

สำหรับใครที่กำลังหมดหวัง สิ้นกำลังใจและรู้สึกว่า “ฉันแก่เกินไปที่จะ ......” Tick, Tick... Boom! อาจจะยาชูกำลัง(ใจ)ชั้นดีที่คุณกำลังโหยหานะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook