รีวิว Last Night in Soho เมื่ออดีตที่โหยหาเป็นเพียงความจริงครึ่งเดียว

รีวิว Last Night in Soho เมื่ออดีตที่โหยหาเป็นเพียงความจริงครึ่งเดียว

รีวิว Last Night in Soho เมื่ออดีตที่โหยหาเป็นเพียงความจริงครึ่งเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

จะว่าไปแล้วผู้ชมได้รับรู้ตั้งแต่ช่วงฉากเปิดเรื่องแล้วด้วยซ้ำไปว่าตัวเอกอย่างเอลูอิส (โธมาซิน แม็คเคนซี่) มีพรสวรรค์ในการมองเห็นบุคคลที่ตายจากไปแล้ว อย่างแม่ของตัวเองผ่านบานกระจก หลังจากที่เธอได้รับจดหมายตอบรับเข้าเรียนต่อวิชาเอกแฟชั่น จากมหาวิทยาลัยในลอนดอนทำให้เอลูอิสต้องเดินทางจากบ้านเกิดเข้าสู่เมืองใหญ่ใจกลางความเจริญ

หลังจากที่เข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เธอกลับรู้สึกว่ารูมเมทของตัวเองนั้น จัดเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกและเหยียดความ “บ้านนอก” ของเอลูอิส เธอจึงตัดสินใจออกมาเช่าห้องพักอยู่ในย่านโซโหเพียงคนเดียว ไม่นานนักเธอก็เริ่มฝันถึงหญิงสาวปริศนาที่ชื่อว่าแซนดี้ (อันย่า เทย์เลอร์-จอย)  ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องในไนท์คลับชื่อดัง

คืนแล้วคืนเล่าที่เอลูอิสฝันถึงแซนดี้ จนเธอได้รับแรงบันดาลใจจากเสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์ของเธอมาออกแบบชุดในชั้นเรียน รวมไปถึงการยกแซนดี้เป็น “ไอคอน” ทั้งเรื่องความมั่นใจและการแต่งตัวจนเอลูอิสไปย้อมผมตามเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอเริ่มค้นพบว่าช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของแซนดี้ในยุค 60 นั้นไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เมื่อการตะกายฝันของแซนดี้นั้นมาพร้อมกับความมืดดำและเรื่องราวว่าด้วยการคุกคามทางเพศ

การที่หนังเลือกใช้องค์ประกอบของโลเคชั่นย่านโซโหในลอนดอน ผ่านการตัดสลับสถานที่ปัจจุบันกับอดีต ซึ่งแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านเลยไปแต่สถาปัตยกรรมเก่ายังคงเค้าโครงเดิมไว้ การเห็นนิมิตอดีตผ่านความฝันของเอลูอิสเอง จึงคล้ายกับการหวนระลึกถึงซากความทรงจำอันเก่าก่อน ในฐานะที่ตัวละครอย่างเอลูอิสเองเป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจจะเติบโตมากับบทเพลงที่คนรุ่นยายของเธอเปิดให้ฟัง จนตัวเธอมีความหลงใหลวัฒนธรรมป๊อปจากยุคสมัย 60 ก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นอย่างแท้จริง

หลายครั้งหลายตอนที่เราได้เห็นเอลูอิสคุยโทรศัพท์กับคุณยายของเธอ โดยคุณยายของเธอนั้นออกอาการเป็นห่วงหลานที่มาอยู่ในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน ยิ่งเมื่อยายรับรู้ว่าเอลูอิสทำงานอยู่ในผับเพื่อหารายได้พิเศษจ่ายค่าเช่าห้อง ยิ่งเกิดอาการเป็นห่วงหนักกว่าเดิม เพราะเธอรู้ดีว่าความเป็น “เมืองใหญ่” ก็มาพร้อมกับความอันตรายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเจริญเช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้ว Last Night in Soho พูดถึงการมองย้อนกลับไปยังช่วงเวลาหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ ที่คนในเจนเนอเรชั่นหนึ่งเติบโตมาพร้อมๆกับความสุขและรอยแผลแห่งความทรงจำ ในขณะที่คนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่งมองแค่เพียงด้านอันแสนสวยงามของมัน (เพียงเพราะพวกเขายังไม่เคยรู้และสัมผัสด้านมืดของยุคดังกล่าว) ไม่ต่างอะไรจาก คนยุคนี้ที่อะไรอะไรก็โหยหาความเป็น 90s ทั้งที่พวกเขายังแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่า ระหว่างศิลปินในยุค 2000s ต้นๆ นั้นไม่ใช่ยุคสมัยของปี 90s ! แต่ก็เหมารวมๆไป เพียงเพราะเขาโหยหาอดีตกันแต่ไม่ได้เข้าใจมันจริงๆซะเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook