"Snowdrop" และบาดแผลของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

"Snowdrop" และบาดแผลของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

"Snowdrop" และบาดแผลของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Snowdrop

นับตั้งแต่มีการเปิดเผยเรื่องย่อเมื่อเดือนมีนาคม​ที่ผ่านมา ซีรีส์กระแสแรงเรื่อง “Snowdrop” ก็ถูกจับตามองและตั้งข้อสงสัยในประเด็นว่ามีเรื่องราวบิดเบือนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ JTBC ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างหนักแน่น หากแต่เมื่อซีรีส์ได้เริ่มออกอากาศ 2 ตอนแรกเมื่อวันที่ 18 และ 19 ธันวาคม การถกเถียงในประเด็นเดิมก็ระอุขึ้นอีกครั้ง ถึงขั้นมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนคำร้องต่อทำเนียบรัฐบาลเกาหลี (Blue House)​ ให้ระงับการออกอากาศ​ซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากนั้นหลายแบรนด์ยังขอนำผลิตภัณฑ์และโลโก้ออกจากซีรีส์​ รวมทั้งถอนตัวออกจากการเป็นผู้สนับสนุนอีกด้วย

Snowdrop เป็นซีรีส์ย้อนยุคโดยมีฉากหลังเป็นเกาหลีใต้ในปี 1987 ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ความวุ่นวายและการต่อสู้กับรัฐเผด็จการ​ทหาร นำแสดงโดยพระเอกหนุ่ม “จองแฮอิน” และนักร้องสาวชื่อดัง “จีซู” จากวง BLACKPINK โดยในตอนแรกที่ออกอากาศ “อิมซูโฮ” (จองแฮอิน) ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการหลบหนีการไล่ล่าของ​ ANSP (หน่วยงานเพื่อการวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ) ได้บุกเข้าไปหาที่ซ่อนตัวในหอพักของมหาวิทยาลัยสตรีในกรุงโซล จนได้พบกับ “อึนยองโร” (จีซู) นักศึกษามหาวิทยาลัย​ที่ให้ความช่วยเหลือเขาโดยไม่รู้ว่าชายหนุ่มผู้นี้มีความลับที่ปกปิดไว้

มากกว่า 3 แสนรายชื่อ สนับสนุนให้ระงับการออกอากาศ​ Snowdrop

มีผู้ยื่นคำร้องต่อทำเนียบรัฐบาลเกาหลีให้ระงับการออกอากาศ​ซีรีส์เรื่อง Snowdrop โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนคำร้องมากกว่า 3 แสนรายชื่อ(ณ วันที่​ 21 ธ.ค.) ซึ่งถือว่าสูงกว่าขั้นต่ำ 2 แสนรายชื่อที่กำหนดไว้ว่ารัฐบาลต้องตอบรับ ซึ่งในรายละเอียดของคำร้องให้เหตุผลว่า Snowdrop บิดเบือนประวัติศาสตร์เกาหลี ด้วยบทบาทของ อิมซูโฮ สายลับเกาหลีเหนือที่แฝงตัวเป็นนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย จนทำให้ อึนยองโร เข้าใจผิดและเป็นบ่อเกิดของความรัก อีกทั้งยังนำบทเพลงซึ่งเคยใช้จริงในการประท้วง มาใช้เป็นเพลงประกอบซีรีส์ในฉากที่ อิมซูโฮ​ กำลังวิ่งหนีการไล่ล่า ถือเป็นการด้อยค่าความเสียสละของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย นอกจากนั้นการที่ซีรีส์เรื่อง Snowdrop ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม Disney+ Hotstar ก็อาจปลูกฝังมุมมองที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของประเทศเกาหลีใต้ในกลุ่มผู้ชมชาวต่างชาติ จึงเห็นว่าไม่ควรสนับสนุนให้ออกอากาศต่อไป

“ในประวัติศาสตร์ มีกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมากรวมทั้งครอบครัว ที่ถูกทรมานและสังหารด้วยข้อกล่าวหาว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นสายลับคอมมิวนิสต์อย่างไม่มีหลักฐาน แต่กลับมีซีรีส์ที่มีเนื้อหาบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งถือว่าเป็นการด้อยค่ากลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างชัดเจน”

SnowdropSnowdrop

แรงกระเพื่อมสะเทือนถึงแพลตฟอร์มระดับโลก

มีรายงานว่า ศูนย์บริการลูกค้าของแพลตฟอร์ม​ Disney+ Hotstar ทั้งในประเทศเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา เต็มไปด้วยข้อร้องเรียนให้ระงับการออกอากาศซีรีส์เรื่อง Snowdrop ซึ่งถือว่า Disney+ Hotstar เริ่มต้นได้ไม่ดีนักในการเข้าสู่ตลาดผู้ใช้ชาวเกาหลี เนื่องจาก Snowdrop เป็นคอนเทนต์ออริจินัลซีรีส์จากเกาหลีใต้เรื่องแรกที่นำมาสตรีมบนแพลตฟอร์ม

ข้อสังเกต “คำร้องที่บิดเบือนความจริง”

แต่ไม่ใช่ผู้ชมทุกคนที่เห็นด้วยกับการร้องเรียนให้ระงับการออกอากาศ​ Snowdrop ยังมีผู้ชมจำนวนมากที่ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องราวของซีรีส์เรื่องนี้ โดยมีผู้ใช้บล็อกของเว็บไซต์ naver ท่านหนึ่งได้เขียนบทความเปรียบเทียบข้อมูลในคำร้องกับคลิปวิดีโอของซีรีส์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า ชาวเกาหลีใต้ไม่​ควรมองข้ามประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย หากแต่ข้อมูลในคำร้องที่มีต่อซีรีส์เรื่อง Snowdrop นั้นถูกแต่งเติมและไม่ตรงกับความเป็นจริง

“ประเทศเกาหลีใต้มีประวัติการปกครองแบบเผด็จการทหารในยุค 70-80 มีพลเมืองจำนวนมากที่ต้องเสียสละ ขณะที่ ANSP (หน่วยงานเพื่อการวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ) ได้สังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนมากโดยกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นสายลับคอมมิวนิสต์ หากแต่ Snowdrop ไม่ได้อ้างอิงประวัติศาสตร์การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 เนื่องจากภูมิหลังของซีรีส์เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 1987 ซึ่งปรากฏหลักฐานในคำบรรยาย อีกทั้งสาระสำคัญของเรื่องคือเหตุการณ์สมมติที่รัฐบาลทหารของเกาหลีใต้และ ANSP ร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการเกาหลีเหนือเพื่อวางแผนครองอำนาจจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี”

“จากสองตอนแรกของซีรีส์เรื่อง Snowdrop ไม่มีฉากใดที่ อิมซูโฮ ปลอมตัวเป็นนักศึกษาผู้เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย มีเพียงฉากที่ อิมซูโฮ วิ่งผ่านกลุ่มผู้ประท้วงขณะหนีการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่ ANSP เท่านั้น”

SnowdropSnowdrop

ยืนหยัดออกอากาศต่อไป.. สุดท้ายข้อสงสัยจะคลี่คลาย

ทางสถานีโทรทัศน์ JTBC ไม่ได้เพิกเฉยต่อกระแสสังคม โดยได้ออกแถลงการณ์อีกครั้งเพื่อยืนยันว่า Snowdrop เป็นเรื่องราวสมมติซึ่งถูกแต่งขึ้น และเชื่อมั่นว่าข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นนี้จะคลี่คลายเมื่อซีรีส์ดำเนินเรื่องราวต่อไป

“ภูมิหลังและสาระสำคัญของเหตุการณ์ในบทละครของ Snowdrop คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีในรัฐบาลเผด็จการ​ทหาร ด้วยภูมิหลังนี้ จึงมีเรื่องราวสมมติของพรรคการเมืองที่สมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลเกาหลีเหนือเพื่อยึดครองอำนาจ บทละครของ Snowdrop นี้จึงประพันธ์ขึ้นเพื่อสะท้อนถึงบุคคลที่ถูกหลอกใช้และตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ

ใน Snowdrop ไม่ได้มีบทของสายลับที่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และตัวละครหลักทั้งชายและหญิงก็ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย​เช่นกัน ทั้งในตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งออกอากาศไปแล้ว รวมถึงจะไม่มีบทดังกล่าวในอนาคตด้วย

ความเข้าใจผิดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับประเด็น “การบิดเบือนประวัติศาสตร์” และกังวลว่าจะเกิด “การดูหมิ่นกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย” ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ จะคลี่คลายตามพัฒนาการของเรื่องราวในซีรีส์ ด้วยเจตนารมณ์ของทีมงานผู้ผลิตที่ต้องการสะท้อนเหตุการณ์ในยุคสมัยที่ไร้เสรีภาพ​ และความสุขของผู้คนถูกกดขี่ด้วยอำนาจอันไม่ชอบธรรม และไม่ต้องการให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

น่าเสียดายที่เราไม่สามารถเปิดเผยโครงเรื่องทั้งหมดได้ แต่ขอให้ทุกท่านโปรดติดตามพัฒนาการของเนื้อเรื่องต่อไปในอนาคต”

JTBC ยังเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า​ ได้วางแผนที่จะเปิดการแชทพูดคุยแบบเรียลไทม์ รวมถึงกระดานข้อความในเว็บไซต์​ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ชมอีกด้วย

SnowdropSnowdrop

อย่างไรก็ตาม กระแสความเห็นที่มีต่อการออกอากาศของซีรีส์เรื่อง Snowdrop ยังคงมีอยู่ รวมทั้งมีการจับตามองว่า ทางทำเนียบรัฐบาลเกาหลี (Blue House)​ จะตอบสนองต่อคำร้องอย่างไรด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook