The Matrix Resurrections แด่ความรักที่ผู้ชมรอคอยมาถึง 19 ปี
บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวใน The Matrix Resurrections หากคุณยังไม่ได้รับชมกรุณาปิดบทความนี้ไปก่อน
ดูเหมือนว่า The Matrix นั้นจะกลายเป็นหนัง “ล้าสมัย” สำหรับเหล่าวัยรุ่นยุคใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับหนังมาร์เวลเสียแล้ว วัดได้อย่างชัดเจนจากความหนาแน่นของผู้ชมในโรงภาพยนตร์สัปดาห์ที่ผ่านมาและการพูดถึงตัวหนังทางโซเชียลมีเดีย ที่ดูเงียบเหงาและดูจะถูกสไปเดอร์แมนกลบมิด
The Matrix สามภาคแรก เป็นเหมือนบทบันทึกสำคัญในช่วงต้นปี 2000 ที่นอกจากจะนำเสนองานเทคนิคด้านภาพอันแสนน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว มันยังผนวกปรัชญาที่ตั้งคำถามว่า ความจริงคืออะไร บางที่สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นจริงอาจจะเป็นแค่เพียงโลกสมมติ (เฉกเช่นใน The Matrix) เจตจำนงเสรีว่าด้วยอิสระในการเลือกกระทำสิ่งที่มนุษย์ต้องการนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า
จุดเด่นของหนังไตรภาค อยู่ตรงที่สไตล์การกำกับคิวบู๊ที่สดใหม่ในเวลานั้น ในการนำศิลปะการต่อสู้แบบกังฟู มาใช้กับเทคนิคการเคลื่อนกล้องแบบ Bullet Time Scene ที่กล้องจะเคลื่อนที่แบบสไลว์โมชั่นไปรอบๆวัตถุที่ถูกจับภาพ จนกลายเป็นนวัตกรรมอันน่าตื่นตะลึง ยังไม่รวมไปถึงการใช้โทนสีเขียวๆอันเป็นโลกจำลองของเดอะเมทริกซ์ ส่วนโลกมนุษย์แห่งความเป็นจริงที่ตกอยู่ภายใต้การคุกคามของจักรกลนั้นเป็นโทนสีทึมๆให้ความรู้สึกหดหู่
การมาถึงของ The Matrix Resurrections แน่นอนว่าผู้ชมที่เป็นฐานของหนังภาคนี้คือต้องดูหนัง 3 ภาคแรกมาก่อน ดังนั้น “ภาพจำ” ของไตรภาคเมื่อ 19 ปีก่อนที่ยังติดตรึงไว้ในความทรงจำ ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ชมมองหาในหนังภาคล่าสุด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าหนังภาคนี้ไม่ได้สร้าง “นวัตกรรมใหม่” ใดๆขึ้นมาก นอกเสียจากจะเป็นการย้อนกลับไปเสียดสีหนังไตรภาคพร้อมกับเล่าประเด็นที่จับต้องได้และมีความ “ส่วนตัว” มากขึ้นนั่นคือความรักระหว่างนีโอและทรินิตี้
ด้วยความยาวกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งของหนัง ทำให้ช่วงแรกหนังหลอกล่อผู้ชมด้วยการทำให้เราเห็นโลกเดอะเมทริกซ์ในยุคสมัยใหม่ โทนสีภาพไม่เป็นสีเขียวตุ่นๆแบบในไตรภาคชุดเดิม มีการเปิดตัวละครใหม่อย่างบั๊กส์ (เจสสิก้า เฮนวิก) ที่มาพร้อมกับสีผมฟ้าสดสะดุดตา ผู้กำลังหนีตายจากการไล่ล่าของเหล่าเอเจนท์ เธอกำลังพบว่าเดอะเมทริกซ์กำลังมีการเขียนภาพซ้ำบางอย่างในระบบของตัวเองขึ้นมา
ขณะเดียวกันหนังภาคนี้ยังให้รายละเอียดอีกว่าโทมัส แอนเดอร์สัน (คีอานู รีฟฟ์) ในวัยกลางคนเขาประกอบสัมมาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ออกแบบเกม The Matrix ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเกมก็คือหนังทั้งสามภาคแรกที่เราเคยได้รับชมไปนั่นเอง ทว่าชีวิตของโทมัสที่เหมือนจะไปได้สวย เขากลับต้องไปพบจิตแพทย์ (นีล แพทริก แฮริส) อยู่เสมอๆเนื่องจากอาการเห็นภาพหลอนเสมือนจริง ทั้งที่จริงแล้วเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งโทมัสได้พบกับทิฟฟานี่ (แครี่ แอนน์ มอส) คุณแม่ลูกสามที่ร้านกาแฟ ซึ่งทั้งสองคนมีความรู้สึกอันแปลกประหลาดราวกับว่าทั้งสองเคยรู้จักกันมาเมื่อนานมากแล้ว
ไม่นานนักคนดูก็ได้ทำความเข้าใจว่า หลังจากนีโอที่สละชีวิตตัวเองไปแล้วดินแดนจักรกลในภาค The Matrix Revolutions พร้อมๆกับถูกทำให้ตาบอดไปแล้ว แท้ที่จริงเขายังคงมีชีวิตอยู่ โดยบรรดาเครื่องจักรได้นำตัวเขาไปทำการรักษา ก่อนที่จะทำการทดลองและนำเขากลับไปอยู่ในโลกของเดอะเมทริกซ์อีกครั้ง เช่นเดียวกันกับทรินิตี้ ที่นอนอยู่ในรังดักแด้ฝั่งตรงข้าม
การตื่นขึ้นและได้รับรู้ความจริงอีกครั้งของนีโอ ว่าชีวิตของโทมัส แอนเดอร์สันและภาพที่เขาได้เห็นจากเกมที่ตัวเองสร้างขึ้นนั้น แท้ที่จริงแล้วมันคือชีวิตของเขาที่เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วทั้งสิ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่ที่ช่วงเวลาสั้นๆที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ในช่วงที่เราได้เห็นภาพสะท้อนในกระจกของตัวนีโอเอง ว่าใบหน้าของเขาเป็นชายแก่หัวหงอก (ไม่ใช่หน้าของคีอานู รีฟฟ์) เช่นเดียวกันกับใบหน้าของทรินิตี้ที่เป็นหญิงวัยกลางคน ราวกับสะท้อนให้ผู้ชมตีความได้ว่า ไม่ว่าปัจจัยภายนอกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน กาลเวลาจะผันผ่านเพียงใด แต่เมื่อเรารักใครสักคน จะสามารถมองไปเห็นถึง “เนื้อใน” ที่เราสัมผัสได้ผ่านความรู้สึกนั่นเอง
จริงแล้วไตรภาคชุดแรกเองความรักระหว่างนีโอและทรินิตี้ถูกกล่าวถึงอยู่ตลอดเวลาแต่น้ำหนักจริงๆของเรื่องดูจะให้กับความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรเป็นหลัก ทำให้การเสียสละชีวิตของนีโอกับทรินิตี้ดูเหมือนเป็นพล็อตรองไป แต่เมื่อเรื่องราวใน The Matrix Resurrections นั้นเผยกันโต้งๆเลยว่าระบบเดอะเมทริกซ์ที่มีการอัพเกรดระบบให้ทันสมัยขึ้น ก็ต้องการพลังงานใหม่ๆที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าวด้วย และพลังงานที่ทรงคุณค่านั้นดันกลายเป็นพลังงานระหว่างที่นีโอและทรินิตี้มีต่อกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เครื่องจักรกลพยายามหล่อเลี้ยงชีวิตของคนทั้งสองไว้นานกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา
ช่วงเวลาที่สำคัญของเรื่องคือการที่ตัวละครอย่างทรินิตี้ได้ปลดแอกตัวเองออกจากระบบเดอะเมทริกซ์และ “ตื่นรู้” ว่าจริงๆแล้วยังมีอะไรบางอย่างที่รอเธออยู่ โดยที่มีนีโอเป็นคนที่พยายาม “เชื่อมั่น” ในตัวของทรินิตี้ คล้ายกับภาพย้อนกลับในไตรภาคชุดแรกที่ทรินิตี้จะเป็นคนที่คอยบอกนีโอเสมอว่า เขาคือ “เดอะวัน” หรือผู้ปลดปล่อย ในหนังภาคนี้สิ่งที่นีโอทำไม่ต่างจากทรินิตี้เลย เพียงแค่สลับเพศสลับบทบาทเท่านั้นเอง
จากสิ่งเหล่านี้เราอาจจะพอสรุปได้เลยว่า ความรักที่ตัวละครทั้งสองมีให้กันนั้นคือสิ่งที่เป็นพลังงานบริสุทธิ์และนำพาชีวิตของพวกเขาให้หลุดพ้นจาก การถูกจองจำอยู่ภายในระบบวนลูปในเดอะเมทริกซ์ การได้ตื่นขึ้นของนีโอและทรินิตี้สู่โลกแห่งความเป็นจริง คือภาพตอนจบที่คนดูหนังในไตรภาคชุดแรกเคยอยากเห็นแต่ไม่มีโอกาสจะได้เห็นมาก่อน ตอนนี้ The Matrix Resurrections ได้มอบตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งที่คนดูรอคอยมานานแสนนานเสียที