จามรีภูฏานถึงลูกแกะผี: ส่องหนังเข้ารอบออสการ์สาขาหนังต่างประเทศ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ประกาศออกมาแล้ว สำหรับรายชื่อ shortlist รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ (หรือภาพยนตร์นอกประเทศอเมริกา) จำนวน 15 เรื่องจาก 15 ประเทศ ก่อนที่จะเลือกรายชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย และถึงจะไปเวทีออสการ์ใหญ่ในวันที่ 27 มีนาคมปีหน้า รายชื่อที่ประกาศออกมามีทั้งที่ตามโผ และมีทั้งเซอร์ไพรส์ หลายเรื่องจะได้มาฉายเมืองไทย (หรือฉายแล้ว) และหวังว่าจะมีผู้สนใจนำเรื่องอื่นๆ ในลิสต์นี้มาฉายในโอกาสต่อๆ ไป
ก่อนอื่น ต้องบอกว่าไม่น่าประหลาดใจนักที่ตัวแทนจากไทย ร่างทรง ไม่ผ่านเข้ารอบ ไม่ใช่เพราะคุณภาพไม่ดี แต่เป็นที่คาดการณ์กันมาก่อนหน้าแล้วว่า หนังสยองขวัญที่อิงบรรยากาศท้องถิ่นเข้มข้นของเรา คงยากที่จะได้รับเสียงโหวตจากกรรมการออสการ์ ที่รสนิยมยังค่อนข้างจำเพาะและมีกลิ่นนมเนยอยู่เยอะ ส่วนหนังของผู้กำกับชาวไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เรื่อง Memoria ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศโคลอมเบีย ก็ไม่ผ่านเข้ารอบเช่นกัน เรื่องนี้ถึงจะพอมีลุ้นในตอนแรก เพราะเป็นหนังดังในระดับนานาชาติ และได้ดารานำอย่าง ทิลดา สวินตัน แต่ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าโอกาสเบียดเข้ารอบก็ไม่มาก เช่นกันเพราะรสนิยมแบบออสการ์ ไม่น่าจะไปในทางเดียวกับหนังศิลปะที่สั่นสะเทือนคนดูจนซึมลึกเช่นหนังเรื่องนี้
หนังที่เข้ารอบ shortlist 15 เรื่อง ปรากฏว่ามีหนังจากเอเชีย 3 เรื่อง มีอเมริกากลางและใต้ 2 เรื่อง ส่วนที่เหลือ 10 เรื่องเป็นหนังยุโรป แนวโน้มที่ยังเห็นได้ชัดคือออสการ์สาขาหนังต่างประเทศ (หรือ Best International Feature) มักจะชอบหนัง auteur หรือหนังที่โดดเด่นด้วยสไตล์ของผู้กำกับ หรือบางครั้งกึ่งๆ จะเป็นหนังศิลปะด้วยซ้ำ
หนังจากเอเชีย 3 เรื่องที่เข้ารอบ มี 2 เรื่องถือได้ว่ามาตามนัด ไม่มีอะไรต้องแปลกใจ ได้แก่ Drive My Car ของผู้กำกับญี่ปุ่น ริวสุเกะ ฮามากูชิ (ซึ่งตอนนี้ฉายในประเทศไทยอยู่) และ A Hero หนังอิหร่านของผู้กำกับ อัชการ์ ฟาฮาร์ดี (กำลังจะเข้าโรงในไม่ช้า) ส่วนอีกเรื่องนจากเอเชีย ปรากฏว่าแหกตำรานักวิจารณ์ออสการ์ เพราะเป็นหนังเล็ก ๆ จากประเทศภูฏาน เรื่อง Lunana: A Yak in the Classroom ว่าด้วยครูในโรงเรียนห่างไกลกับตัวจามรีในห้องเรียน ฟังดู exotic และน่าจะเป็นนหนังที่มีทิวทัศน์สวยงาม ด้วยความสัตย์จริง ผู้เขียนมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับหนังภูฏานและเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ แต่น่าสนใจว่า หนังเล็กๆ จากประเทศที่ไม่ค่อยมีที่ทางในแผนที่ภาพยนตร์โลก กลับสามารถเบียดไปถึงรอบสองของงานใหญ่อย่างออสการ์ได้ และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ภูฏานอย่างแน่นอน ไม่ว่าหนังจะเข้าถึงรอบสุดท้ายหรือไม่
ตัวเต็งของสายนี้น่าจะเป็น Drive My Car ของญี่ปุ่น ซึ่งขี่กระแสความนิยมของนักวิจารณ์มาตลอดหลายเดือน และได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมจากสถาบันหลายแห่งในอเมริกาที่ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามมาติดๆ คือหนังจากเดนมาร์ก เรื่อง Flee (ซึ่งเตรียมเข้าฉายในไทยเช่นกัน) เรื่องนี้เป็นหนังแอนิเมชั่นว่าด้วยชีวิตผู้อพยพจากอัฟกานิสถานที่ย้ายไปตั้งรกรากและสร้างชีวิตใหม่ในยุโรปเหนือ นอกจากนี้ หนังที่เบียดเสียดเป็นตัวเก็งแถวหน้ายังมี The Hand of God หนังครอบครัวและการเติบโตของเด็กหนุ่มจากอิตาลี (ฉายใน Netflix) Prayers for the Stolen หนังเม็กซิโกว่าด้วยเด็กสาวสามคนในหมู่บ้านห่างไกล (ใน Netflix เช่นกัน) และ The Worst Person in the World หนังชีวิตหญิงสาวจากนอร์เวย์ (เข้าฉายไทยปีหน้า)
นอกจากนี้ยังมีหนังจากประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาแย่งสปอร์ตไลท์ เช่น Lamb หนังครอบครัว/สยองขวัญจากไอซ์แลนด์ ที่เรียกเสียงฮือฮามาตั้งแต่ออกฉายรอบแรกที่เทศกาลเมืองคานส์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ว่าด้วยครอบครัวชาวไร่ที่เลี้ยงเด็กครึ่งคนครึ่งแกะเป็นลูก (เรื่องนี้น่าดูมากแต่น่าเสียดายว่ายังไม่เห็นใครจะนำมาฉายในไทย) ส่วนประเทศเยอรมันส่งหนังที่น่าดูมากเช่นกันเรื่อง I’m Your Man หนังไซไฟโรแมนติคว่าด้วยความรักของคนกับหุ่นยนต์ ส่วนหนังที่ฟังดู “เบาๆ” แต่ดูเหมือนจะมีเนื้อหาซุกซ่อนอยู่มากกว่านั้น คือ The Good Boss จากสเปน นำแสดงโดยดาราดัง ฮาเวียร์ บาเด็ม แสดงเป็นเจ้าของโรงงานในเมืองเล็กๆ ขณะที่พยายามแย่งชิงเอาชนะรางวัลธุรกิจดีเด่นโดยต้องกระตุ้นในพนักงานของตนร่วมมือกัน
รางวัลหนังสาขาต่างประเทศของออสการ์สำคัญอย่างไร? ที่ผู้เขียนสนใจรางวัลสาขานี้เป็นพิเศษเพราะ รางวัลออสการ์เป็นงานแจกรางวัลภาพยนตร์ที่ผู้คนสนใจมากที่สุดในโลก เป็นงานที่มีผลในการกำหนดรสนิยมและสร้างอิทธิพลในวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ของคนทั้งโลก อาจจะด้วยเพราะมนต์มายาหรือรัศมีของรางวัลที่กล่อมพวกเรามาแต่ไหนแต่ไร แต่รางวัลออสการ์ โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเพียงรางวัลสำหรับหนังอเมริกันเท่านั้น (ยกเว้นปีประหลาดที่ Parasite ได้รางวัลใหญ่) จะมีเพียงแต่สาขาหนังต่างประเทศของออสการ์สาขาเดียว ที่เปิดโลกให้เห็นถึงหนังจากประเทศอื่นๆ และเตือนเราว่า หนังดีถูกสร้างขึ้นจากทุกทวีป ทุกประเทศ และโลกภาพยนตร์มีความหลากหลายมากกว่าหนังอเมริกันที่ฮอลลีวูดเฉลิมฉลองหรือโฆษณาให้เราเห็นไม่หยุดหย่อน ถึงแม้จะเป็นเพียงสาขาเล็กในรางวัลออสการ์ และแต่ละประเทศที่ส่งหนังมาประกวดก็ส่งได้เพียงเรื่องเดียว แต่ถึงกระนั้น ผู้เขียนเห็นว่า Best International Film เป็นสาขาที่ลุ้นสนุก ตื่นเต้น และเปิดโลกทัศน์การชมภาพยนตร์ให้กับคนดู มากกว่ารางวัลออสการ์สาขาอื่นๆ เสียอีก
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ