5 ภาพยนตร์และซีรีส์ที่ทรงอิทธิพลของปี 2021

5 ภาพยนตร์และซีรีส์ที่ทรงอิทธิพลของปี 2021

5 ภาพยนตร์และซีรีส์ที่ทรงอิทธิพลของปี 2021
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในปีที่วงการภาพยนตร์และซีรีส์ทั่วโลกเริ่มฟื้นคืนพลัง ปีแห่งความหวังว่าสถานการณ์จะเริ่มกลับมาเหมือนเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังปีที่ยังเต็มไปด้วยโชคชะตาอันไม่แน่นอน ในคอลัมน์ส่งท้ายปี ผู้เขียนขอเลือกซีรีส์ 1 เรื่อง และภาพยนตร์อีก 4 เรื่องที่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นงานที่โดดเด่นในมิติใดมิติหนึ่ง หรือจุดกระแสอะไรบางอย่างให้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ (หรือโทรทัศน์) และทำให้ปี 2021 ของพวกเราผ่านพ้นไปได้อย่างมีความหวัง อธิบายให้ชัดอีกนิดว่า งานที่เลือกมาในวันนี้ ไม่ใช่ หนังหรือซีรีส์ที่ “ดีที่สุด” (นี่ไม่ใช่ลิสต์ Best of) แต่เป็นงานที่มีอิทธิพลต่อความคิด การรับรู้ของผู้ชม หรือส่งแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมคอนเทนท์ของไทยหรือของโลกอย่างชัดเจน ลองมาดูกันครับ

  1. Squid Game

แน่นอนว่านี่คือซีรี่ส์ที่ดังทั่วโลกและสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อทั้งวัฒนธรรมบันเทิงและต่อธุรกิจสตรีมมิ่ง Squid Game อาจจะไม่ใช่ซีรี่ส์ที่ดี คมคาย หรือ “ต่อยหนัก” ที่สุด แต่ความดังระเบิดเถิดเทิงของซีรี่ส์ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทั่วโลก ตั้งแต่แฟชั่นเสื้อวอร์มเขียวไปจนถึงขนมน้ำตาล Squid Game ยังตอกย้ำสถานะของเกาหลีใต้ในการเป็นมหาอำนาจทางคอนเทนท์อันดับต้นๆ ของโลก เพราะชัดเจนแล้วว่าทุกปีเกาหลีต้องมีหนังที่ทำให้คนทั้งโลกจับตาดูและวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้น ในที่นี้ว่าด้วยประเด็นชนชั้นและการครอบงำคนไร้ทางสู้โดยคนชั้นสูง ความป๊อปสุดขีดของซีรีส์นี้ยังทำให้คนทำคอนเทนท์จากชาติเอเชียอื่นๆ ได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยความอิจฉา โดยเฉพาะในปีที่คำว่า soft power กลายเป็นคำเท่ คำฮิต ที่นักการเมืองและรัฐมนตรีต่างพร่ำพูดไม่หยุดโดยน้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายหรือกลไกที่แท้จริงของมัน  สุดท้ายแล้ว คนที่ยิ้มกว้างที่สุดคือ Netflix ที่ได้สร้างงานยอดฮิตระดับโลกไปประดับอัลกอริทึมเพิ่มอีกเรื่อง

 

  1. Spider-man: No Way Home

ภาพยนตร์ที่ทำเงินทะลุ 1 พันล้านดอลล่าร์ทั่วโลกได้สำเร็จเป็นเรื่องแรกตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 สร้างกระแสเรียกคนดูให้กลับเข้าโรงหนังได้ทั้งโลก ความสำคัญของ Spider-man: No Way Home กระเพื่อมไปไกลกว่าตัวมันเองหรือไกลกว่าแค่จักรวาลมาร์เวล เพราะการที่หนังทำเงินมหาศาล เท่ากับช่วยปั๊มเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายอันบอบช้ำของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ช่วยฟื้นฟูจากความห่อเหี่ยว และทำให้คนดูมั่นใจในประสบการณ์ดูหนังโรงอีกครั้ง และไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนหนังมาร์เวลหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีหนังดังระดับพันล้านดอลล่าร์เป็นเรื่องจำเป็นในช่วงเวลานี้ หากเรายังต้องการเห็นธุรกิจการภาพยนตร์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากสองปีแห่งความไม่มั่นคง น่าเสียดายเพียงนิดเดียวว่า ความดังของ Spider-man ภาคใหม่ ดันมาพร้อมกับสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งอาจจะมาตัดตอนกระแสขาขึ้นของการกลับไปดูหนังในโรง

  1. 4Kings

ผู้เขียนไม่ได้คิดว่า 4Kings หนังไทยม้ามืดเรื่องเด็กอาชีวะตีกัน เป็นหนังดีพิเศษแต่อย่างใด แต่ในปีที่หนังไทยแถบโงหัวไม่ขึ้นทั้งจากพิษโควิดและจากความเซื่องซึมโดยรวมของเศรษฐกิจ การที่มีหนังทำเงินได้เกินร้อยล้านบาทแบบคาดไม่ถึง (ตัวเลขทั่วประเทศ) เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมโดยรวม (นอกเหนือจาก 4Kings ยังมี ร่างทรง ที่ทำเงินเกินร้อยล้านบาทเช่นกัน) ใครจะไปคิดว่าหนังเด็กอาชีวะยุค 90 จะดึงคนดูเข้าโรงได้มากมายอย่างที่เห็น ด้วยหน้าหนังที่ดูเฉพาะกลุ่ม และด้วยภาพพจน์ดิบๆ บ้านๆ ที่ช่างแตกต่างจากหน้าตาหนังดังแบบชนชั้นกลางอย่างที่เราเห็นในช่วงหลัง ทำให้ปรากฏการณ์ 4Kings เป็นข่าวสำคัญของวงการหนังไทยในปีนี้  แน่นอนว่างานนี้ต้องดูยาวๆ ว่าบริษัทเนรมิตหนัง ผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ จะฟลุคแค่เรื่องเดียว หรือจะยืนระยะเป็นสตูดิโอหลักของหนังไทยได้ต่อไปในอนาคต

  1. Drive My Car

หนังญี่ปุ่นของ ริวสุเกะ ฮามากูจิ กลายเป็นหนังที่ได้รับรางวัลมากมายจากนักวิจารณ์ทั่วโลก เป็นหนังญี่ปุ่นที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในรอบหลายปี Drive My Car สร้างจากเรื่องสั้นของฮารูกิ มูราคามี ว่าด้วยผู้กำกับละครเวทีที่พยายามก้าวผ่านความสูญเสียในชีวิต และความผูกพันของเขากับคนขับรถสาว หนังเปิดตัวที่เทศกาลเมืองคานส์ และเรียกเสียงเชียร์ได้ตั้งแต่รอบแรก ก่อนจะตระเวนออกฉายทั่วโลกและสะสมบารมีจนตอนนี้ได้เข้ารอบรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ และผู้เขียนเชื่อลึกๆ ว่ามีสิทธิ์ชนะมากๆ ในประเทศไทย หนังเข้าฉายในหลายโรงและยังพอมีรอบฉายอยู่บ้างในตอนนี้

  1. Memoria

พรมแดนของภาพยนตร์และการรับรู้ ถูกขยับเคลื่อน ท้าทาย และตั้งคำถามเสมอในงานของผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล Memoria เป็นหนังสำคัญของปี ทั้งในฐานะภาพยนตร์ที่ลุ่มลึกอันพาผู้ชมไปยังดินแดนแห่งกระแสสำนึกใหม่ และในฐานะงานที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งเดิมๆ  ผู้กำกับชาวไทย กำกับดาราอังกฤษ ทิลด้า สวินตัน ในหนังที่ถ่ายทำที่ประเทศโคลอมเบีย เป็นหนังพูดภาษาสเปนเป็นหลัก และหนังได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศโคลอมเบียไปออสการ์ (น่าเสียดายว่าไม่เข้ารอบ) ในหนังเรื่องนี้ ทิลด้า สวินตัน แสดงเป็นผู้หญิงที่ได้ยินเสียงประหลาดขณะทำงานอยู่ในกรุงโบโกต้า และเริ่มออกเดินทางเพื่อค้นหาต้นตอของเสียงนั้น อันนำพาเธอไปสู่พงไพร ลำธาร คลีนิกต่างจังหวัด และกระท่อมในป่าของโคลอมเบีย หนังของผู้กำกับไทยคนนี้จะเข้าฉายในเมืองไทยในอีกสองสามเดือนข้างหน้า

ขอกล่าวคำของอภิชาติพงศ์เพื่อเป็นการอวยพรปีใหม่ให้ผู้อ่านทุกคน Long Live Cinema!

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ 5 ภาพยนตร์และซีรีส์ที่ทรงอิทธิพลของปี 2021

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook