ดราม่าลูกโลกทองคำ: ทำไม "งานใหญ่" ของฮอลลีวูดจึงกลายเป็นหมาหัวเน่า โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ดราม่าลูกโลกทองคำ: ทำไม "งานใหญ่" ของฮอลลีวูดจึงกลายเป็นหมาหัวเน่า โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ดราม่าลูกโลกทองคำ: ทำไม "งานใหญ่" ของฮอลลีวูดจึงกลายเป็นหมาหัวเน่า โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งานแจกรางวัล Golden Globes หรือรางวัลลูกโลกทองคำ มีขึ้นไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา เอ๊ะ แต่เดี๋ยวก่อนงานมีไปแล้วจริงๆ เหรอ ใครได้รางวัลอะไรบ้าง ทำไมไม่เห็นมีข่าวเลย?

ใช่ครับ นั่นคือสิ่งที่ทุกคนถาม งานลูกโลกทองคำปีนี้เงียบกริบ ไม่มีที่ทางในสื่อ ไม่มีการถ่ายทอดทีวี ไม่มีดาราเข้าร่วม และทำการประกาศรางวัลโดยการอ่านรายชื่อในห้องบอลรูมที่ไม่มีแขกและปล่อยผลให้คนดูทราบทางทวิตเตอร์!

นี่เป็นโชคชะตาที่พลิกผันจากฟ้าสู่เหวของงานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นงานแจกรางวัลที่ใหญ่ มีพื้นที่สื่อ เป็นงานที่ดาราฮอลลีวูดมากมายเข้าร่วม และเป็นงานที่ว่ากันว่าทำหน้าที่เป็นเข็มทิศสู่รางวัลออสการ์ที่นักดูหนังชาวไทยเองก็ยังติดตาม

แต่ทั้งหมดนั่นกลายเป็นอดีต สาเหตุมาจากข่าวอื้อฉาวมากมายที่ถาโถมและเปิดโปงเบื้องหลังผู้จัดงาน คดีความต่างๆ รวมทั้งกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมที่ทำให้ผู้จัดรางวัลลูกโลกทองคำ กลายเป็นตัวตลกของวงการไปในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา

สถาบันผู้จัดงาน Golden Globes คือ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฮอลลีวูด หรือ The Hollywood Foreign Press Association ก่อตั้งมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 หรือ 80 ปีมาแล้ว ในช่วงเวลาที่หนังอเมริกันเริ่มมองเห็นความสำคัญของตลาดฉายหนังต่างประเทศ และบรรดานักข่าวชาติต่างๆ นอกอเมริกา เริ่มเข้ามาปักหลักมีบทบาทในการทำข่าวในฮอลลีวูดมากขึ้น สมาคมนี้เริ่มแจกรางวัลลูกโลกทองคำตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 และต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยเป็นการแจกรางวัลที่เน้นไปในสาขานักแสดง ทั้งภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยรูปแบบการจัดงานจะไม่เป็นทางการเท่าออสการ์ คือจะจัดเป็นโต๊ะ (คล้ายโต๊ะจีน) มีการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดาราก็นั่งรวมกันเพื่อสังสรรค์ตามโต๊ะ พอได้รางวัลก็ลุกออกไปรับบนเวที เป็นที่รู้กันว่า งานลูกโลกทองคำ จะมีความ “ห่าม” คนร่วมงานหรือคนได้รางวัลบางทีก็กรึ่มๆ ขึ้นไปบนเวที มุขตลก หรือการแซวอะไรต่างๆ ก็จะเลอะเทอะหรือเน้นความสนุกสนาน ที่สำคัญ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่งานลูกโลกทองคำ กลายเป็นตัวชี้กระแสว่าใครจะไปต่อถึงได้ออสการ์ ประมาณว่าใครได้ลูกโลกก็มีแนวโน้มจะได้ออสการ์ตามมา

แต่ช้าแต่ ทุกอย่างมีเบื้องหลังและมีมิติที่ซุกซ่อน ประการแรก มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วว่า สมาชิกของสมาคมนักข่าวต่างประเทศที่แจกรางวัลลูกโลกทองคำ มีเพียง 80 กว่าคน หมายถึงว่า มีคนโหวตลงคะแนนให้รางวัลเพียง 80 คนเท่านั้น (เทียบกับออสการ์ที่มีถึง 7,000 กว่าคน) ดังนั้นเสียงที่ออกมาจึงไม่น่าจะเป็นตัวแทนของ “วงการ” ได้จริงๆ  ประการที่สอง เป็นที่โจษขานกันมานานเช่นกัน ว่าสมาคมนี้ “เล่นพวก” คือรับสมาชิกเฉพาะที่เป็นนักข่าวที่เป็นพรรคพวกเดียวกัน และกีดกันคนที่อยู่นอกวง ที่สำคัญ ในบรรดาสมาชิกเหล่านี้ มี “นักข่าว” หรือ “ผู้สื่อข่าว” จริงๆ ไม่ใช่ตัวปลอม ไม่ใช่นักข่าวประเภทกึ่งผี อยู่กี่คน สมาชิกเหล่านี้ทำงานให้สำนักข่าวไหน ตีพิมพ์ที่ไหน หรือออกอากาศที่ไหน?

ผู้เขียนขอเสริมจากประสบการณ์อันเล็กน้อยว่า นักข่าวสายบันเทิงในฮอลลีวูดจำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่ทุกคน และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนในสมาคมนี้) เป็นเพียงกลุ่มคนที่บ้าดารา อยากกระทบไหล่คนดัง และหาทางเบียดตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวง พูดง่าย ๆ ไม่ใช่สื่อที่มีคุณภาพ งานหลักคือการอวยดารา สังสรรค์ และชื่นชอบอภิสิทธิ์ที่มาพร้อมการได้ใกล้ชิดคนดัง อดีตสมาชิกบางคนเคยออกมาพูดว่า บางครั้งการโหวตให้รางวัลก็เป็นผลจากการได้รับของขวัญหรือสัญญิงสัญญาจากค่ายหนังหรือดารา ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

ที่ผ่านมา ธรรมชาติเช่นนี้ของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีพิษมีภัย เป็นแค่เรื่องสร้างสีสัน ไร้สาระ และดาราฮอลลีวูดเองก็อาจจะชอบที่มีคนมาพินอบพิเทาและคอยลงข่าวให้ (ถึงจะเป็นสำนักข่าวเล็กๆ หรือไม่สำคัญอะไรก็ตาม) แต่ทีนี้เรื่องมันมาแดง หลังจากที่มีนักข่าวหลายคนเริ่มออกมาเปิดโปงว่าสมาคมนี้กีดกันคน เล่นพวกเล่นพ้อง หวงอำนาจ มีลับลมคมใน มีลักษณะเป็น  cartel (อาจจะแปลว่า แก๊งค์ผู้มีอิทธิพล) และถึงขั้นมีคดีฟ้องร้องขึ้นศาลเรื่องการปฏิบัติไม่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฮอลลีวูด จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (non-profit organization)  แปลว่าไม่ต้องเสียภาษี แต่กลับเป็นว่าสมาคมมีเงินในบัญชีมหาศาลหลายสิบล้านดอลลาร์จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอด แถมการบริหารจัดการเงินทองกลับไม่โปร่งใส สมาชิกไม่กี่คนหมุนเวียนกันรับเบี้ยประชุม (คุ้นๆ นะ)  มีสื่อหลักหลายแห่งในอเมริกาทำข่าวเปิดโปงเรื่องนี้ และทำให้ภาพลักษณ์ของรางวัลลูกโลกทองคำเสื่อมลงๆ

ยังไม่จบ มีการเปิดเผยออกมาว่า สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของฮอลลีวูด ซึ่งน่าจะหมายความว่ามีสมาชิกเป็นสหประชาชาติจากทุกชาติในโลก กลับไม่มีสมาชิกเป็นคนผิวสีแม้แต่คนเดียว คือเป็นคนขาวทั้งหมด ในช่วงเวลาที่ฮอลลีวูดเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลาย นี่เป็นบาปมหันต์ของสมาคมนี้ อีกทั้งยังทำให้ข้อครหาที่ว่าสมาคมมักกีดกันคนที่ไม่ใช่พรรคพวก ดูมีน้ำหนักขึ้นมาอีก

ทั้งหมดนี่ทำให้งาน Golden Globes 2022 กลายเป็นหมาหัวเน่า ต้องจัดงานกับห้องเปล่าๆ ไม่มีดาราแม้แต่คนเดียวมาร่วม แถมโดนขุดคุ้ยเรื่องเก่าๆ มาแฉไม่หยุดหย่อน ส่วนคนดูอย่างเราๆ ก็ต้องกูเกิลว่าใครได้รางวัลอะไรเพราะไม่เห็นข่าวเลย (คร่าวๆ The Power of the Dog ได้ Best Picture, Drama ส่วนหนังตลกหรือหนังเพลงยอดเยี่ยมได้แก่ West Side Story ดารานำชายได้แก่ วิล สมิธ จาก King Richard และนิโคล คิดแมน ได้ดารานำหญิงจาก Being the Ricardos)

จากนี้ไปคงต้องดูว่า สมาคมผู้สื่อข่าวฮอลลีวูดจะพลิกเกมกลับมาและกอบกู้ชื่อเสียงของตนได้หรือไม่ (ถ้าได้ก็คงไม่ใช่เร็วๆ นี้) ในฐานะที่เคยอยู่ในวงการสื่อ ผู้เขียนบอกได้เลยว่านี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะสื่อที่ไม่มีคุณภาพมีไม่น้อยในทุกประเทศ และสื่อที่คอยจ้องหาผลประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงินหรือเป็นชื่อเสียง มักแพ้ภัยตัวเองและทำเพื่อนร่วมอาชีพเสื่อมเสียไปด้วยอยู่เสมอ

ดูผลรางวัล Golden Globes ได้ที่ สรุปผลรางวัล "ลูกโลกทองคำ 2022" 'โอยองซู' จาก Squid Game ผงาดคว้าสมทบชาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook