รีวิว Cube กล่องเกม มรณะ ผลงานรีเมคที่ “พยายาม” ร่วมสมัย

รีวิว Cube กล่องเกม มรณะ ผลงานรีเมคที่ “พยายาม” ร่วมสมัย

รีวิว Cube กล่องเกม มรณะ ผลงานรีเมคที่ “พยายาม” ร่วมสมัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Cube หนังแนว Survival horror ผลงานสัญชาติญี่ปุ่น ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่านี่เป็นงานรีเมคจากหนังสัญชาติอเมริกัน/แคนนาดาในชื่อเดียวกันที่เคยออกฉายในปี 1997

Cube ไม่เคยลืมเลือนไปตามกาลเวลา อันที่จริงความน่าสนใจของหนังยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่หนังกลายเป็นวิดีโอเทป (และค่อยๆวิวัฒนาการเป็นดิจิทัลในเวลาต่อมา) ความน่าสนใจของมันคือการที่หนังถ่ายทำอยู่แค่เพียงกล่องลูกบาศก์เปลี่ยนสีได้ และรายล้อมไปด้วยกับดัก แต่หนังสามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างชาญฉลาดและนำไปสู่การคลี่คลายปริศนาที่ทำให้คนดูตื่นเต้นตั้งแต่ต้นยันจบ

เราอาจจะกล่าวได้ว่า Cube เป็นหนังทุนต่ำที่หยิบยืมลักษณะของละครเวที (มีฉากเดียว) แต่สามารถทำให้คนดูเกิดภาพจินตนาการตามต่อในหัว ว่า “สิ่งที่อยู่ภายนอก” กล่องลูกบาศก์ที่ตัวละครอาศัยอยู่นั้นมีลักษณะอะไร มีกับดักอะไรรอคอยพวกเขาอยู่ และโลกภายนอกของคุกที่พวกเขาต้องเอาตัวรอดนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ดังนั้นเสน่ห์สำคัญของหนังเรื่องนี้จึงอยู่ที่คนดูแทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมตัวละครถึงถูกจับมาอยู่ยังสถานที่นี้และทำไมพวกเขาจึงกลายเป็นนักโทษ

เป็นเวลากว่า 24 ปี เมื่อผู้กำกับยาสุฮิโกะ ชิมิซึ และมือเขียนบทโคจิ โทคุโอะ หยิบเอาผลงานคัลท์คลาสสิกมาดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นญี่ปุ่นอีกครั้ง แน่นอนว่าตัวโครงสร้างของเรื่องราวทั้งหมดยังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือการเปลี่ยนแปลงตัวละคร และใส่ประเด็นทางสังคมร่วมสมัยเข้าไปโดยเฉพาะเรื่อง “ความขัดแย้งระหว่างเจนเนอร์เรชั่น” โดยที่ในงานต้นฉบับไม่ได้พูดถึงเรื่องความแตกต่างทางด้านอายุเข้าไป

เมื่อหนังในเวอร์ชั่นนี้พยายามเพิ่มความ “ดราม่า” ทำให้หนังจึงพยายามเปิดเผยฉากโลกภายนอกผ่านตัวละครเอกอย่างโกโตะ (มาซากิ สุดะ) ซึ่งเผยให้เห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายนอก “คุก” แห่งนี้ยังคงเป็นโลกในยุคปัจจุบันที่เหล่าวัยรุ่นยังต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ตัวละครที่เคยโดนทำร้ายร่างกาย ถูกบูลลี่ผ่านคำพูด หรือถูกคนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์กล่าวโทษว่าพวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นเด็กที่ไม่เอาไหน

แน่นอนเมื่อหนังพยายามใส่เรื่องราวของโลกภายนอกเข้ามา ยิ่งทำให้คำถามร้อยแปดผุดขึ้นในหัวผู้ชม ในแง่ของความสมเหตุสมผลว่าตกลงแล้ว “คุกลูกบาศก์” ในเวอร์ชั่นนี้มีอยู่เพื่ออะไร และมีไปทำไม จะเป็นสถานที่สนองความบันเทิงของคนรวยแบบในซีรีส์ Squid Game ก็ไม่ใช่ หรือจะเป็นองค์กรวิปลาสแบบในหนัง Escape Room ก็ดูไม่ใกล้เคียงเช่นกัน

ยังไม่รวมไปถึง “สไตล์หนังญี่ปุ่น” ที่เน้นการแสดงอารมณ์แบบล้นๆใหญ่ๆของตัวละครที่ต้องฟาดฟันอารมณ์กัน ยิ่งทำให้หนังในเวอร์ชั่นนี้มีความ “โวยวาย” และชวนรำคาญตัวละครอยู่เนืองๆ อาจจะเป็นเพราะว่า “ภาพเก่า” จากงานต้นฉบับที่ตราตรึงไม่อาจจะลบเลือน จึงทำให้เวอร์ชั่นรีเมคชิ้นนี้ คือผลงานที่ชวนตั้งคำถามว่า พยายามเกินไปไหม หรือถึงขั้นที่ว่า สร้างใหม่ขึ้นมาเพื่ออะไร ด้วยซ้ำไป

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook