[เปิด Netflix มารีวิว] 32 Malasana Street หนีความยากจน มาเจอผี

[เปิด Netflix มารีวิว] 32 Malasana Street หนีความยากจน มาเจอผี

[เปิด Netflix มารีวิว] 32 Malasana Street หนีความยากจน มาเจอผี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

32 Malasana Street ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปีก่อน แต่ท่ามกลางการระบาดของโควิดทำให้กระแสหนังฟอร์มเล็ก ดูซบเซาและเงียบเชียบ จนไม่มีใครคาดคิดว่าเมื่อหนังเรื่องนี้มาลงสตรีมมิ่ง Netflix หนังจะได้รับความสนใจอีกครั้ง

เรื่องราวลึกลับสยองขวัญ ยังคงเป็นแนวภาพยนตร์ที่ผู้ชมให้ความสนใจอยู่เสมอ แต่หลายครั้งที่หนังเหล่านี้จะได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อมันกลายเป็นสื่อโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์หรือสตรีมมิ่ง ด้วยความเป็น “หนังผียุโรป” ยิ่งทำให้หนังเหล่านี้ในช่วงเวลาที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้วจะได้รับความสนใจน้อยกว่าหนังจากฝั่งอเมริกา เพราะขาดดาราที่คุ้นหน้าคุ้นตาในการเป็น “นางกวัก” เรียกผู้ชมก็เป็นได้ 

32 Malasana Street เป็นหนังผีสัญชาติสเปน ผลงานการกำกับของอัลเบิร์ต ปินโต้ เลือกที่จะบอกเล่าเหตุการณ์ในปี 1976 หลังจากที่ครอบครัวอัลเมโดที่ตัดสินใจโยกย้ายสัมมะโนครัวจากชนบทมาสู่ย่านใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงมาริดของประเทศสเปน โดยพวกเขาย้ายเข้ามาอยู่ยังบ้านเลขที่ 32 บนถนนมาลาซานย่า ที่ดูโบราณคลาสสิค โดยเฟอร์นิเจอร์ภายในที่พักนั้นยังเป็นของเก่าที่เหลือมาจากครอบครัวเดิม

มาโนโล (ไอแวน มาร์คอส) ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวตัดสินใจขายบ้านหลังเก่าของพวกเขา เพื่อนำเงินทั้งหมดมาซื้อบ้านในเมืองหลวง เพราะเขามองไปถึงอนาคตว่าการมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่นั้นมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ แต่ค่าครองชีพก็เปรียบเสมือนเงาตามตัวที่ต้องสูงขึ้นเช่นกัน

ส่วนอัมปาโรลูกสาวคนโตในวัย 17 ปีที่ใฝ่ฝันว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส กลายเป็นคนแรกที่สัมผัสได้ถึงความไม่ชอบมาพากลของบ้านหลังนี้ ที่เหมือนมีเหตุการณ์ลึกลับเกิดขึ้นในยามวิกาลอยู่บ่อยครั้ง จนทุกอย่างเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อน้องชายคนเล็กอย่างราฟาเอลได้หายตัวไปไร้ร่องรอย

แน่นอนว่าหนัง 32 Malasana Street เป็นหนังแนวบ้านผีสิง ที่เหตุการณ์ลึกลับนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับบรรดาผู้อยู่อาศัยคนเก่า แต่ด้วยจังหวะจะโคนในการหลอกผู้ชมนั้นเรียกได้ว่า จังหวะตกใจมาถูกที่ถูกเวลาและจู่โจมผู้ชมแบบไม่ทันตั้งตัว นอกเหนือจากนี้องค์ประกอบศิลป์ของตัวบ้านและสถาปัตยกรรมเองก็เอื้อต่อความไม่น่าไว้วางใจ แสงสลัวๆที่ลอดผ่านผ้าม่านก็ทำให้ตัวบ้านมีลักษณะเหมือนกับช่วงกลางคืนตลอดเวลา

สิ่งที่น่าสนใจคือ “ความลับ” ของผีร้ายที่อาฆาตพยาบาท มีความโยงใยกับลักษณะการปกครองของประเทศสเปนในห้วงเวลานั้นซึ่งเป็น “ระบบเผด็จการ” โดยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ทำให้ผู้หญิงในสังคมถูกกดทับไว้ด้วยกฎหมายบางประการ ส่งผลให้พวกเธอจำเป็นต้องหาทางออกให้กับชีวิตตัวเองอย่างยากเย็น (แบบเดียวกับที่ตัวละครผู้หญิงในหนังเรื่องนี้ต้องเผชิญ)

นอกจานี้ปี 1976 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 1978 ดังนั้น สิ่งที่ตัวละครในหนังเรื่องนี้ต้องเผชิญเปรียบเปรยได้กับการเอาชีวิตรอดจากระบบที่จำกัด “ทางเลือก” ของชีวิต ไปสู่หนทางใหม่ๆ แต่ใช่ว่าเส้นทางที่พวกเขาเลือกเองนั้น จะง่ายดายเสมอไป เพราะความชั่วร้ายที่หลงเหลืออยู่นั้น ยังไม่ได้จางหายไปไหน มันยังเป็นเหมือน “คราบและรอยเปื้อน” ที่ยังหลงเหลืออยู่ทุกหนแห่ง ให้ระลึกถึงอยู่เสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook